จุติ แจงเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวหาแจกถุงยังชีพ หาเสียง! เป็นความต้องการ ปชช. (คลิป)

นายจุติ ไกรฤกษ์
นายจุติ ไกรฤกษ์

จุติ แจงเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวหาแจกถุงยังชีพ หาเสียง! เป็นความต้องการ ปชช. (คลิป)

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียนการแก้ปัญหาคนจนเมือง ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ถึง นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมี นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการ รมว.พม.รับหนังสือแทน

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. เปิดเผยภายหลัง ว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้มาร้องเรียน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ขอให้ รมว.พม.สนับสนุนนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เพื่อให้ชุมชนยืนได้ด้วยตัวเองในระยะยาว 2.ขอให้ พอช.ยืดเวลาพักชำระหนี้ให้แก่องค์กรชุมชนที่ใช้สินเชื่อจาก พอช.เพิ่มอีก 3 เดือน จากเดิมมีมาตรการพักชำระหนี้แค่ 3 เดือน และ 3.อยากให้ผลักดันมาตรการแบ่งเบาภาระ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ในครัวเรือนยากจนในชุมชนแออัดนั้น ตนจึงได้เชิญผู้บริการ พอช. ได้แก่ นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ พอช. และผู้บริหาร พอช.ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามหารือ

รมว.พม. กล่าวอีกว่า จึงอยากชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้ เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต จริงๆ ผมได้แจ้งผ่านผู้บริหาร พอช.ไปแล้ว ว่าจะทำอะไรบ้าง อาทิ รัฐบาลต้องการให้ประชาชนประกอบอาชีพแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในช่วงวิกฤตเปลี่ยนผ่านนี้ ฉะนั้นหากประชาชนอยากประกอบอาชีพอะไร ก็ขอให้แจ้งมา ซึ่งผู้อำนวยการ พอช.ได้นำผลสำรวจมาแจ้งแล้ววันนี้ แต่ทำไมเครือข่ายไม่ทราบ ส่วนข้อร้องเรียนอยากให้ยืดพักหนี้อีก 3 เดือน เราจะนำไปพิจารณาความเป็นไปได้ หากไม่เหนือบ่ากว่าแรง รัฐบาลจะทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ได้ และข้อเรียกร้องสุดท้าย จริงๆ รัฐบาลได้มีมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟให้แล้ว แต่ทำไมประชาชนถึงไม่ทราบ ซึ่งผู้บริหารที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจง

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้มีข้อกล่าวหาค่อนข้างรุนแรงในโซเชียลมีเดียว่า รัฐมนตรี พม.ต้องหยุดพฤติกรรมเอางบชาวบ้านที่นำไปพัฒนาอาชีพ และสร้างความยั่งยืนของชุมชน มาหาเสียงโดยการแจกถุงยังชีพ ผมขอปฏิเสธว่าเป็นข้อกล่าวที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความจริง ผมคำนึงในจิตวิญญาณนักการเมือง ว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ ทุกข์ของประชาชนมาก่อน ต้องทำให้เร็วและดีที่สุด

Advertisement

ก่อนหน้านี้ผมจึงได้ตั้งคณะทำงานมา 1 คณะ ประกอบด้วยรองปลัดกระทรวง รองผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และรอง ผอ.พอช. ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของประชาชน 286 ชุมชนในกรุงเทพฯ เพื่อดูว่าขาดแคลนอะไรบ้าง และช่วยเหลือเร่งด่วนไปก่อนโดยไม่ต้องรอรัฐมนตรีสั่ง จึงเป็นที่มาของการตั้งครัวกลาง ช่วยครัวเรือนที่ขาดแคลน เช่น นมเด็ก จัดครูสอนเด็กช่วงปิดเทอมยาว ตลอดจนช่วยเหลือประกอบอาชีพ เหล่านี้เป็นความหลากหลายของชุมชนที่ขอมา จึงอยากบอกว่าเราช่วยเหลือบนความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจ

นายจุติ กล่าวอีกว่า จากข้อร้องเรียนถึงความบกพร่องดังกล่าว ผมได้มอบให้เลขานุการ รมว.พม.ไปตั้งทีมสอบ เพื่อดูว่ามีข้อบกพร่องอะไรที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ไม่ได้รับความเป็นธรรม และการช่วยเหลือไม่ทั่วถึงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเร็วที่สุด และไม่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ทั้งนี้ ไม่อยากให้ใครเข้าใจผิดว่ารัฐบาลละเลยคนจน และในฐานะรัฐมนตรี พม.จะกำชับการปฏิบัติหน้าที่อย่าได้บกพร่อง ดูแลประชาชนให้มีความสุข และอย่าเข้าใจผิดในความหวังดีต่อรัฐบาล

ถามถึงข้อห่วงใยการแปลงงบพัฒนาชุมชนของ พอช. มาแจกถุงยังชีพ นายจุติกล่าวว่า คงต้องไปดูว่าการแปลงดังกล่าว แปลงโดยเอกเทศ หรือทำตามความต้องการชุมชน เพราะ พม.ทำตามความต้องการชุมชน หากมีการแอบอ้างชุมชนโดยมิชอบ ก็ต้องไปดู เพราะที่ผ่านมาชอบมีคนแอบอ้างว่าประชาชนมีปัญหา ตนจึงจำเป็นต้องลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนเอง

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image