เปิดตัว‘ศปคพ.’ คุม12มาตรการ สกัด‘คุกคามทางเพศ’

เปิดตัว‘ศปคพ.’ คุม12มาตรการ สกัด‘คุกคามทางเพศ’

เป็นหนึ่งในภัยเงียบขององค์กร ที่หลายคนอาจมองเป็นเรื่องขำๆ “พูดแซวสรีระ เนียนมาสัมผัสตามร่างกาย” มันก็แค่หมาหยอกไก่ ไม่มีอะไรหรอก! เหล่านี้เป็นเพียงพฤติกรรมเริ่มต้นของการคุกคามทางเพศ ที่ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนจะเสียตัว เสียใจ และเสียงาน

ถือโอกาสทำความรู้จัก “มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน” ฉบับใหม่ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาเห็นชอบเมื่อเร็วๆ นี้

เนื้อในระบุ 12 มาตรการ ได้แก่ 1.ให้หน่วยงานประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร ถึงการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว 2.ให้หน่วยงานจัดทำแนวปฏิบัติ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้บุคลากรมีส่วนร่วม 3.ให้หน่วยงานปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ

Advertisement

4.ให้หน่วยงานเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับพฤติกรรมการละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในองค์กร 5.ให้หน่วยงานกำหนดกลไกร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน 6.อาจใช้กระบวนการที่ไม่เป็นทางการเพื่อยุติปัญหา เว้นหากแก้ปัญหาไม่ได้ จึงเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมาย

7.ต้องแก้ไขปัญหาทันที ตามเวลากำหนด เป็นความลับ และให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย 8.กรณีมีการร้องเรียน ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง 9.ให้หน่วยงานมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและพยาน ไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง 10.ให้หน่วยงานมีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา โดยในระหว่างร้องเรียนยังไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด และต้องให้โอกาสชี้แจง

11.ให้หน่วยงานรายงานผลการดำเนินงานไปยังศูนย์ประสานการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี และ 12.ให้ศูนย์ประสานการป้องกันการคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) เป็นศูนย์กลางประสานงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว และรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.)

Advertisement

นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานที่เสนอมาตรการและรับผิดชอบ ศปคพ. เผยว่า 12 มาตรการดังกล่าว เป็นความต่อเนื่องจาก 7 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ที่ ครม.เคยเห็นชอบเมื่อปี พ.ศ.2558 ซึ่งหลังจากดำเนินการไป มีรายงานผลจากหน่วยงาน 165 แห่งระดับกรมกลับมา พบมีปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรถึงร้อยละ 7.82

ฉะนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าว จึงเพิ่มเติมประเด็นการให้มีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ในทุกหน่วยงาน การตรวจสอบ คุ้มครองและให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และพยาน รวมถึงการจัดตั้ง ศปคพ. เพื่อรับรายงานสถานการณ์ สรุปให้คณะกรรมการ สทพ.รับทราบ และทำหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าว

“กลไกที่เกิดขึ้นใหม่นี้ เชื่อว่าจะทำให้ผู้เสียหายกล้าออกมาร้องขอความช่วยเหลือมากขึ้น แม้ผู้กระทำจะเป็นหัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชาก็ตาม เพราะหากมีกรณีนี้ร้องมา ตามระบบจะให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าผู้กระทำ 1 ขั้น มาตรวจสอบ หรือแม้ผู้กระทำจะเป็นผู้นำองค์กร เช่น ปลัดกระทรวงทำเสียเอง ก็จะให้ปลัดกระทรวงอื่น ที่ไม่มีส่วนได้เสียมาตรวจสอบ เป็นต้น”

ส่วน ศปคพ.ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น รองอธิบดี สค. เผยว่า คาดว่าจะเริ่มตั้งได้ภายในสัปดาห์นี้ที่กรม สค. โดย ศปคพ.จะสามารถทำงานข้ามกระทรวง ข้ามกรมได้ ผ่านรองอธิบดีที่ทุกกรมจะต้องกำหนดให้รองอธิบดี 1 ตำแหน่ง มารับผิดชอบและดูแลมาตรการดังกล่าวในองค์กร คอยทำข้อมูล ตรวจสอบ และรายงานกลับมา

ถือเป็น 12 มาตรการบังคับสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวง พม.ได้ประกาศเจตนารมณ์เรื่องนี้แล้ว ส่วนภาคเอกชนจะเป็นการขอความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม สค.ได้ยกตัวอย่าง 5 พฤติกรรมที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ได้แก่ 1.ทางสายตา เช่น จ้องมองร่างกายที่ส่อไปในทางเพศ มองช้อนใต้กระโปรง มองหน้าอกหรือจ้องลงไปที่คอเสื้อ จนทำให้ผู้ถูกมองรู้สึกอึดอัด อับอาย หรือไม่สบายใจ 2.ทางวาจา เช่น เกี้ยวพาราสี พูดจาแทะโลม วิจารณ์ทรวดทรง การพูดจาลามก จับกลุ่มวิจารณ์พฤติกรรมทางเพศของบุคคลในที่ทำงาน การสร้างเรื่องโกหกหรือการแพร่ข่าวลือเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของผู้อื่น

3.ทางกาย เช่น ลูบคลำ ถูไถอย่างมีนัยทางเพศ ฉวยโอกาสกอดรัด จูบ หยอกล้อโดยแตะเนื้อต้องตัวผู้อื่น หยักคิ้วหลิ่วตา ผิวปากแบบเชิญชวน
ส่งจูบ เลียริมฝีปาก ทำท่าน้ำลายหก 4.อื่นๆ เช่น เปิดภาพโป๊ในที่ทำงานและในคอมพิวเตอร์ของตน โชว์ปฏิทินโป๊ การเขียนหรือวาดภาพทางเพศในที่สาธารณะ การใช้สัญลักษณ์ ที่แสดงถึงอวัยวะเพศ หรือการร่วมเพศ และ 5.การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น สัญญาจะให้ผลประโยชน์ ตั้งแต่การเรียน การงาน สัญญาต่างๆ

“หากถูกกระทำสามารถร้องทุกข์ นอกจากร้องผ่านช่องทางของแต่ละหน่วยงานที่จะมีขึ้นแล้ว ยังสามารถร้องมาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนโทร 1300 ฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นางสาววิจิตากล่าว

ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยว่า การคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่มีมานานและมีทุกวัน โดยเฉพาะการคุกคามด้วยวาจา สายตา ทำให้ผู้ถูกคุกคามซึ่งไม่ได้มีแต่ผู้หญิง แม้แต่กลุ่มหลากหลายทางเพศ ผู้ชาย ก็ถูกคุกคามได้ โดยเมื่อถูกกระทำอาจจะรู้สึกอึดอัด แต่ก็ไม่กล้าร้องทุกข์ เนื่องจากผู้คุกคามอาจจะเป็นผู้บังคับบัญชา จึงเกรงกลัวจะส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน บางคนก็คิดว่าพฤติกรรมหมาหยอกไก่

“การคุกคามด้วยวาจาหรือสายตา เป็นเรื่องยากที่จะเอาผิด เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน จึงปล่อยผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้ผู้กระทำได้ใจจนนำไปสู่การเพิ่มระดับการคุกคาม ไปถึงการถูกเนื้อต้องตัวจนกระทั่งเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ”

นายจะเด็จมองการเปิดให้มีช่องทางร้องเรียนว่า เป็นเรื่องดี แต่กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนต้องโปร่งใส และต้องปกป้องคุ้มครองผู้ร้องเรียน ให้รู้สึกปลอดภัยและมีระบบเยียวยาด้วย โดยเฉพาะกรรมการที่ตั้งมาสอบข้อเท็จจริง ต้องให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมเป็นกรรมการด้วย ไม่ใช่แค่กลุ่มคนภายในองค์กร เพื่อป้องกันระบบอำนาจนิยม การเล่นพรรคเล่นพวก

อย่างไรก็ตาม คิดว่า ศปคพ.ต้องทำหน้าที่เชิงรุก ในการสร้างความรับรู้และเข้าใจ เพราะเอาจริงๆ แล้ว ภาคภาครัฐเรื่องนี้มีระบุในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ.2553 อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นการร้องเรียนมากนัก อาจด้วยในทางปฏิบัติค่อนข้างยากที่จะตีความหรือพิสูจน์เกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว อย่างกรณีเหตุการณ์คุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ.2560 ที่ลูกจ้างหญิงถูกลวนลามโดยหัวหน้างานซึ่งเป็นข้าราชการ จนผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์แจ้งความ มูลนิธิได้เข้าไปช่วยเหลือและมีการเผยแพร่ผ่านสื่อ นำไปสู่การที่ผู้ใหญ่ระดับสูงลงมาจัดการปัญหา หากเรื่องนี้ผู้ถูกกระทำต่อสู้เพียงลำพัง โอกาสที่ผู้ถูกกระทำจะได้รับความเป็นธรรมอาจเป็นเรื่องยาก หรือเจออุปสรรคปัญหา ด้วยเหตุเพราะระบบอำนาจนิยม

ส่วน นางสาวสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เสนออยากให้เน้นสร้างความรับรู้แก่ประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ แนะนำว่า คิดว่านอกจากจะอธิบายให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจแล้ว สค.ต้องทำเป็นแบบอย่างให้เห็น เช่น อาจจะขึ้นป้ายให้เห็นในองค์กรว่าหน่วยงานนี้ปลอดการคุกคามทางเพศ หรือหน่วยงานนี้จะไม่ใช้วาจา สายตา ที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งผู้บังคับบัญชา ผู้ปฏิบัติงาน และผู้รับบริการ รวมทั้งอาจมีการระดมความคิดเห็นถึงพฤติกรรมและคำพูดใด ที่บ่งชี้เป็นการคุกคามทางเพศ และเผยแพร่สร้างความเข้าใจ และจัดให้มีตู้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยให้มีการปกปิดผู้ร้องเรียนเพื่อความปลอดภัย

เพราะสถานที่ทำงานต้องปลอดภัยทุกมิติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image