สถานีคิดเลขที่ 12 : หลายๆ เรื่องเดียวกัน : โดย ปราปต์ บุนปาน

 

ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ “โควิด-19”

มีข้อถกเถียงอยู่ 2-3 ประเด็น ที่ดูคล้ายจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่ ทว่ากลับยึดโยงเชื่อมร้อยกันอยู่ลึกๆ

(หนึ่ง)

Advertisement

ยิ่งนานวันเข้า บางคนอาจเริ่มรู้สึกฉงนสงสัยกับแนวคิด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มาตรการ “เว้นระยะห่างทางสังคม”

ตลอดจนการพยายามมองโลกในแง่บวกที่เห็นว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ จะทำให้ธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อมมีโอกาสได้ฟื้นฟู (วิธีคิดแบบ “หวนคืนสู่ธรรมชาติ”)

โดยไม่รู้ตัว วิธีคิดข้างต้นอาจทำให้มนุษย์เป็นเหมือน “สัตว์โทน” ที่ต้องแบ่งแยกโดดเดี่ยวตนเองจากมนุษย์คนอื่นๆ จากสังคม รวมถึงรัฐ

Advertisement

เป็นมนุษย์ที่ต้องควบคุม ดูแล และปกป้องตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

โลกท่ามกลางและหลังสถานการณ์โควิด จึงอาจดำเนินไปพร้อมคำถามสำคัญว่า เราจะมีรัฐไปทำไม? และสังคมคืออะไร?

ในเมื่อ “รัฐ-สังคม” ไม่มีความสามารถที่จะปกป้อง-คุ้มครอง-อำนวยความสะดวก ทั้งยังไม่เข้าใจ-ไม่สนใจความรู้สึกทุกข์ร้อนของปัจเจกบุคคล ซึ่งต้องรับผิดชอบตนเองอย่างหนักหนาขึ้น ในบริบทปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

(สอง)

ภายใต้การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ข้าราชการระดับสูงซึ่งต้องทำหน้าที่สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน จะออกมาพูดจาในพื้นที่สาธารณะด้วยข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์กว่า, ด้วยความเหนื่อยยากและรู้สึกว่าตนเองได้ลงมือปฏิบัติงานอย่างเต็มที่แล้ว หรือด้วยความหวังดีห่วงใยโดยแท้จริง

แต่น่าสังเกตว่า หลายครั้งหลายหน การสื่อสารของข้าราชการเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงความรู้สึก ความคิดจิตใจ ความอดอยากขาดแคลน และความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของประชาชนส่วนใหญ่

การสื่อสารที่ขาดตกบกพร่องช่วยฉายภาพให้เห็น “ช่องว่าง” ระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน” ซึ่งได้ก่อให้เกิดความโกรธเคือง-ความไม่พอใจ ในเบื้องต้น (และไม่รู้ว่าจะแปรสภาพกลายเป็นปฏิบัติการชนิดอื่นๆ หรือไม่? อย่างไร? เมื่อใด?)

ขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับว่ามีกรณี “คนฆ่าตัวตาย” เพราะความหมดหวังในสถานการณ์โควิดแน่ๆ (ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน และมีปัจจัยอื่นๆ มาข้องเกี่ยวด้วยหรือไม่)

การที่มนุษย์ผู้เลือกจะจบชีวิตรายนั้นๆ ได้หรือไม่ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เท่ากับว่าเขาหรือเธอได้เลือกจะจากไปพร้อมความรู้สึกสิ้นหวัง

เพราะมองว่าตนเองไม่สามารถมี “ชีวิตที่ดี” ในรัฐและสังคมเช่นนี้ได้

(สาม)

แคมเปญ “แจกเงิน 3 พัน” โดยไม่พิจารณาเงื่อนไขความจน ของ “คณะก้าวหน้า” จึงบังเกิดขึ้นมาในห้วงเวลาน่าสนใจ

หากมองในแง่หนึ่ง นี่ก็เป็นการกระจายทรัพย์สินไปช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม ไม่ต่างอะไรกับการทุ่มเงินหลักร้อยล้านของเหล่า “มหาเศรษฐี”

เพียงแต่อาหาร เครื่องยังชีพ และโครงการช่วยเหลืออื่นๆ อาจมีลักษณะ “สังคมสงเคราะห์” ผิดกับการให้ “เงิน” ซึ่งมอบอิสระในการตัดสินใจแก่ “ผู้ได้รับเงิน” มากกว่า

นอกจากนั้น แคมเปญของ “คณะก้าวหน้า” ยังมี “ความเป็นการเมือง” สูงกว่าแน่ๆ ถ้าพิจารณาจากการระดมกำลังคนมาร่วมโครงการได้เป็นจำนวนมาก (ทั้งในส่วนผู้ร่วมบริจาคและผู้รับบริจาค) และยอดปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย

การดำเนินกิจกรรมรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะ “คณะก้าวหน้า” คือกลุ่มของอดีตนักการเมือง-อดีตพรรคการเมือง ที่ถูกยุบ-ตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งย่อมต้องรณรงค์ต่อสู้ทางการเมืองในแบบไม่เป็นทางการ และนำเสนอ-ประคับประคองเป้าหมายทางการเมืองของตนเองต่อไป โดยไม่ละเมิดกฎหมาย

ทั้งนี้ การมีประชาชนมากมายมาร่วมกิจกรรม “แจกเงิน 3 พัน” ของกลุ่มการเมืองคณะหนึ่ง นั้นอาจบ่งชี้ถึงความจริงทางการเมืองสองประการ

ประการแรก ยังมีผู้คนจำนวนมหาศาลที่ต้องการความช่วยเหลือชนิดเร่งด่วน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสถานการณ์โรคระบาด

ประการที่สอง ยังมีช่องว่างขนาดมหึมาระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชน” ทั้งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นโดยข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐบาล-หน่วยงานราชการ และก่อกำเนิดขึ้นมานานแล้วในสภาพเฉพาะของรัฐและสังคมไทย

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image