“อนุทิน” เตรียมสรุป ปลดล็อก “จีน-เกาหลีใต้” ออกจากเขตติดโรคอันตราย คาด! รู้ผลสัปดาห์หน้า

“อนุทิน” เตรียมสรุป ปลดล็อก “จีน-เกาหลีใต้” ออกจากเขตติดโรคอันตราย คาด! รู้ผลสัปดาห์หน้า

เตรียมปลดล็อก จีน เกาหลีใต้ กรณี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) โรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 พ.ศ.2563 ให้ 4 ประเทศและ 2 เขตปกครองพิเศษ 1.สาธารณรัฐเกาหลี 2.สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึง มาเก๊า ฮ่องกง 3.สาธารณรัฐอิตาลี และ 4.สาธารณรัฐอิหร่าน เป็นเขตติดโรคนอกราชอาณาจักร

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีการถอดถอน 2 ประเทศ คือ ประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้ ออกจากเขตติดต่อโรคอันตราย ทางคณะกรรมการ วิชาการจะต้องทำรายงานเอกสารเสนอมาตาม ขั้นตอน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบผล จากการที่ได้เสนอกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธาน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเวลาตโคโรนา 2019(โควิด-19)(ศบค.) ไปแล้วนั้นเนื่องจากดูตาม การควบคุมสถานการณ์ในประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตามยังไม่ต้องกังวลอะไรมาก เนื่องจากมาตรการการเข้าออกประเทศ ยังเป็นไปตามมาตรการหลัก

“เพียงแต่ว่าเราปลดประเทศเขาว่า ไม่ได้เป็นประเทศที่มีการติดโรค หากว่ามีใครบอกว่าประเทศไทยมีการติดโรคติดเชื้อสูงคนในประเทศก็คงไม่ชอบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถบินเข้ามาได้เลยโดยจะต้องมีการกักกันตัวในสถานที่ที่รัฐจัดไว้ (state quarantine) เพื่อเป็นการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายของการกักกันในพื้นที่ เราเป็นคนบังคับให้เขาทำตรงนี้ เราก็เลยต้องออกให้เขาเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ หากผู้ที่จะเข้ามาก็ต้องทำตามกฎของเรา ซึ่งถ้าเขายอมทำตามเราก็ยอมเขา เราก็ต้องแฟร์กัน ” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย กล่าวว่า การที่จะประกาศว่า 2 ประเทศดังกล่าวไม่เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เดินทางจาก 2 ประเทศนั้นสามารถเดินทางมาได้ทันที แต่ต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์และข้อเท็จจริง ทางคณะกรรมการวิชาการจึงมีข้อเสนอแนะว่าควรที่จะลดระดับของ 2 ประเทศนี้ ซึ่งตามขั้นตอน เมื่อคณะกรรมการวิชาการมีคำแนะนำก็จะนำเสนอหนังสือให้แก่รัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อให้ลงนามในประกาศ ทั้งนี้ การลดระดับประเทศดูจากจำนวนผู้ป่วยใหม่รายวัน จะพบว่าประเทศจีนและประเทศเกาหลีใต้ มีจำนวนน้อยลงแต่ประเทศอิหร่านและอิตาลียังมีจำนวนมากอยู่

Advertisement

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของการประกาศเขตติดโรคอันตรายในแต่ละประเทศเพิ่ม เติม แต่เมื่อมีการประกาศข้อกำหนดตามพระราชกำหนด(พรก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็จะมีมาตรการจำกัดผู้เดินทางโดยอัตโนมัติ คำถามที่น่าสนใจมากกว่าคือในเดือนมิถุนายนจะมีการดำเนินการอย่างไร เนื่องจากเมื่อมีการประกาศออกไปแล้วจะมีระยะเวลา 30 วัน ดังนั้นสิ่งที่จะต้องจับตาดูคือสถานการณ์โลกเพื่อในการวางแผนว่าในเดือนมิถุนายนจะมีการเตรียมการอย่างไร เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยที่ดีปัจจัยหลักที่สำคัญมี 2 ส่วน 1. ประชาชนช่วยกันในประเทศ 2.ไม่มีการนำเชื้อไวรัสเข้าจากต่างประเทศ

“หากเดือนมิถุนายนมีความจำเป็นที่ต้องให้มีการเดินทางมันจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ เพราะจะต้องสมดุลย์ระหว่าง มิติการควบคุมโรคและมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงผ่อนปรนมาตรการ เมื่อเราควบคุมโรคได้ดีในระดับหนึ่งสิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้คือจะต้องมีการผ่อนปรน แต่จะผ่อนปรนอย่างไรไม่ให้เหมือนประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง นี่คือการบ้านที่สำคัญ ดังนั้นเรื่องของการสวมใส่หน้ากากที่เป็นวิถีบรรทัดฐานใหม่ยังจำเป็นต้องใช้อยู่ ” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image