‘สหภาพการบินไทย’ มองแผนฟื้นฟูบินไทย ไม่ได้แตกต่างจากครั้งก่อน ลั่นขอเข้าร่วมทุกขั้นตอน กันกลโกง

แฟ้มภาพ

นายนเรศ ผึ้งแย้ม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ที่เตรียมเข้าเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมนัดหน้านี้ ได้เห็นแผนแล้วบางส่วน จากการประชุมร่วมกันกับกระทรวงคมนาคมครั้งที่ผ่านมา โดยแผนดังกล่าวได้ถูกสั่งให้กลับไปแก้ไขในส่วนของรายละเอียดที่ยังไม่ชัดเจนเพิ่มเติม ทำให้แผนฟื้นฟูแบบสำเร็จรูปยังไม่ได้เห็นรายละเอียดแน่ชัด แต่ที่ผ่านมา การบินไทยมีการทำแผนฟื้นฟูแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งหากประเมินกับแผนครั้งล่าสุดที่ได้พิจารณาเบื้องต้นแล้วพบว่า แผนฟื้นฟูดูเหมือนจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากแผนงานเดิมที่มีมาตลอดมากนัก ซึ่งจุดอ่อนก็ยังอยู่ที่การไม่ปฏิบัติตามแผนงานอย่างเข้มงวด อาทิ การกู้เงินมาแล้วใช้เงินไม่ตรงตามแผนงานที่วางไว้ ทำให้เชื่อว่าหากแผนฟื้นฟูครั้งนี้ สามารถปฏิบัติตามที่วางไว้ทั้งหมดได้ครบถ้วน น่าจะช่วยฟื้นองค์กรได้ โดยการที่นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณว่าแผนฟื้นฟูครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายขององค์การ จึงยืนยันว่า พนักงานภายใต้องค์กรที่มีความสามารถและรู้จักธุรกิจการบินเป็นอย่างดี ควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการวางแผนหรือทำตามแผนทุกขั้นตอน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้ทุกอย่างดำเนินการตามแผนได้ดีมากขึ้น

“ที่ผ่านมา แผนฟื้นฟูการบินไทยครั้งก่อนๆ ก็เคยกู้เงินแล้ว และเมื่อได้เงินมา ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้อย่างเต็มที่ ยังพบการทุจริตในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ โดยที่พนักงานในองค์กรไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวเลย ครั้งนี้จึงต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำแผนดำเนินงาน เพื่อฟื้นฟูองค์กรในทุกขั้นตอน เพราะให้เกิดความมีส่วมร่วมอย่างแท้จริง หากองค์กรไปไม่ไหว ก็จะได้ยอมรับได้ว่า มีการทำงานร่วมกันแล้ว แต่มันไปไม่ไหวจริงๆ จะแปรรูปเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับกันไป ซึ่งความจริงแล้ว หากองค์กรจะเดินไปต่อไม่ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหมด พนักงานในองค์กรได้รับเต็มๆ อยู่แล้ว” นายนเรศกล่าว

นายนเรศกล่าวว่า ข้อเสนอแนะมีเพียงอย่างเดียวคือ ให้การดำเนินงานตามแผนการฟื้นฟูไปสู่การนำไปปฏิบัติจริง โดยให้พนักงานหรือตัวแทนพนักงานเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนตามแผนดังกล่าว เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตภายในองค์กร อาทิ กู้เงินมาเพิ่ม 50,000 ล้านบาท ได้เงินมาแล้วก็จบ คนในองค์กรไม่รู้เลยว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้กับอะไรบ้าง ซึ่งหากไม่ตรงตามแผนการใช้เงิน ก็เท่ากับการกู้เงินมาล้มเหลว และสร้างภาระให้องค์กรเพิ่มมากขึ้นอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image