‘สยามพิวรรธน์’ รับวิกฤตโควิด-19 หนักสุดนับแต่ทำธุรกิจมา เตรียมอัดมาตรการคุมไวรัสเข้มข้นพร้อมเปิดบริการอีกครั้ง

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่างๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราว ตามคำสั่งของรัฐบาล เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อไวรัส โดยขณะนี้หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และอนุญาตให้ธุรกิจบางส่วนกลับมาเริ่มต้นดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้ง ในระยะถัดไปก็หวังว่า ภาครัฐจะอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากลับมาเปิดบริการอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบได้ ภายในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากบริษัทฯได้เตรียมความพร้อมในการกลับมาเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้งในทุกด้าน ภายใต้มาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยบริษัทฯมีมาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ เนื่องจากศูนย์การค้าคือสถานที่มอบความสุขให้แก่ผู้คนศูนย์การค้ายุคใหม่ต้องสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัยและได้รับการดูแลเอาใจใส่ตลอดการใช้เวลาภายในศูนย์ฯ โดยบริษัทฯเป็นที่แรกในการนำร่องดำเนินมาตรการรักษาสุขอนามัยให้แก่ลูกค้า และพนักงานทุกคนอย่างสูงสุด ตั้งแต่เกิดโควิด-19 ระบาดในช่วงแรก ซึ่งการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง บริษัทฯยังคงรักษามาตรฐานดังกล่าวอย่างเข้มงวด และเพิ่มความใส่ใจดูแลทุกจุดสัมผัส พร้อมส่งเสริมให้คนไทยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดให้เป็นปกติ

นางชฎาทิพกล่าวว่า มาตรการสุขอนามัยและความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่พันธมิตร คู่ค้า และประชาชนที่มาใช้บริการเต็มรูปแบบ ได้แก่ 1.มาตรการสุขอนามัยของพนักงานผู้ให้บริการ โดยจะคัดกรองตรวจสุขภาพพนักงานก่อนทำงานและติดตามเข้มงวด กำหนดมาตรการให้พนักงานรักษาอนามัยป้องกันตนเองสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าตลอดเวลา 2.มาตรการความปลอดภัยของศูนย์การค้า โดยจะทำความสะอาดอย่างล้ำลึก ก่อนเปิดให้บริการในทุกพื้นที่, ตั้งจุดคัดกรองลูกค้าเข้มงวด 100% ทุกจุด ผ่านการใช้เทคโนโลยีทันสมัยอาทิ ประตูพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ , หุ่นยนต์อัจฉริยะ, การลดความแออัดและรักษาระยะห่างเพื่อสุขอนามัย, การดูแลความสะอาดทุกจุดสัมผัส รวมถึงการจัดการระบบระบายอากาศและถ่ายเทอากาศภายในอาคารที่เหมาะสม และ3.มาตรการเพื่อความมั่นใจสูงสุดของลูกค้าผู้ใช้บริการ โดยจะผสานเทคโนยีปรับพฤติกรรมรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่หรือนิวนอร์มอล ที่ผู้ใช้บริการต้องโหลดแอพพลิเคชั่น เพื่อลงทะเบียนการเข้าและออก เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าแก่มากยิ่งขึ้น บริษัทฯได้สร้างสรรค์วิธีการให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวแล้วรับตั๋วผ่านทางส่วนตัวสำหรับใช้สแกนเข้าออกง่ายดายในทุกครั้งที่มาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นหรือคิวอาร์โค้ด เพื่อวางแผนช้อปปิ้งได้อย่างสะดวกรวดเร็ว, การดูแลป้องกันตนเองใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และทำความสะอาดมือด้วยเจลล้างมือเป็นประจำ นอกจากนี้ บริษัทฯยังนำเสนอรูปแบบการช้อปปิ้งในแบบสังคมไร้เงินสด โดยจะอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นสำหรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และช่องทางการชำระเงินระบบดิจิทัลต่างๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทำให้ภาพรวมยอดขายธุรกิจลดลง จากปี 2562 ทั้งปีที่ธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท เฉพาะธุรกิจห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามียอดขาย 1.75 แสนล้านบาท โดยประเมินว่าจากมาตรการล็อกดาวน์ จะทำให้ยอดขายลดลงกว่า 50% เนื่องจากแม้จะสามารถกลับมาเปิดบริการได้อีกครั้ง แต่คงยังไม่ได้เป็นปกติในเร็วๆ นี้ได้ และคงต้องใช้เวลาสักระยะก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งมองว่าน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 18 เดือน โดยขณะนี้ก็มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุน เพื่อพยุงธุรกิจเดินไปให้ได้ก่อน อย่างไรก็ตาม มองว่าภายในเดือนกันยายนนี้ ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกจะดีขึ้น แม้ผู้บริโภคอาจไม่ได้ใช้จ่ายมากเท่าเดิม แต่เชื่อว่าความต้องการใช้จ่ายยังมีอยู่ เพียงแค่รอเวลาเท่านั้น ส่วนการท่องเที่ยวประเมินว่าคงไม่สามารถโตได้ดีเท่าปี 2562 แต่จะทยอยฟื้นกลับมาดีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ หรือประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี และคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ประมาณ 30-40%” นางชฎาทิพกล่าว

นางชฎาทิพกล่าวว่า การกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าอีกครั้ง บริษัทฯมีวิสัยทัศน์คือ การเริ่มต้นใหม่รอยยิ้มใหม่ ‘New Beginning – New Smile’ ซึ่งจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการทำศูนย์การค้าเพื่อโลกในอนาคต ที่สร้างความสุขและนำรอยยิ้มสยามกลับคืนมาสู่คนไทยอีกครั้ง ขณะเดียวกันจะเป็นโมเดลใหม่ของโลกธุรกิจรีเทลเพื่อตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ได้ตรงที่สุด โดยผู้ประกอบการค้าปลีกในอนาคตจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ต้องมีการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและแบรนด์ของธุรกิจ โดยมองว่าการทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้าสูงๆ จะไม่สามารถชนะใจลูกค้าได้อีกต่อไป เพราะ แต่จะขึ้นอยู่กับการว่า หลังจากลูกค้าใช้เงินออกมาแล้ว สินค้านั้นๆ จะสามารถทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือไม่ มีความสุขเพิ่มขึ้น และอยู่ในราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งท้ายสุดเม็ดเงินทุกบาทที่ใช้จ่ายไปนั้น จะมีการมองว่าเงินเหล่านั้นจะสามารถเข้าสู่สังคมได้อย่างไร เข้าถึงมือคนตัวเล็กตัวน้อยได้ และลงไปถึงคนด้อยโอกาสได้หรือไม่ซึ่งจะมีส่วนทำให้สังคมไทยแข็งแรงมากขึ้นได้

Advertisement

“ต้องยอมรับว่าโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักสุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบทั้งโลก ไม่ได้เกิดแค่ที่ไทยเหมือนในอดีต การกลับมาฟื้นตัวคงไม่สามารถทำได้เร็วนัก สำหรับมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือที่ผ่านมา มองว่าทำได้ดีแล้ว การนำเงินไปดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยแลพได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก่อน ทำให้อานิสงค์ในการใช้จ่ายก็มีเข้ามาในธุรกิจค้าปลีกด้วย ส่วนมาตรการด้านสินเชื่อและดอกเบี้ยต่างๆ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยผู้ประกอบการได้” นางชฎาทิพกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image