แรงงานอุตฯรถยนต์-ชิ้นส่วนระส่ำ ค่ายรถปลดคนงาน จี้รัฐกระตุ้นตลาดเสนอเก่าแลกใหม่

กลุ่มยานยนต์ส.อ.ท.เผยค่ายรถยนต์-ชิ้นส่วนฯเริ่มปลดแรงงานในระบบกว่า 7.5 แสนคนเพื่อให้สอดรับกับยอดจำหน่ายที่ตกต่ำหนักจากผลกระทบโควิด-19 เสนอรัฐผุดโครงการรถเก่าแลกใหม่กระตุ้นตลาด-ลดพีเอ็ม2.5 เผยเม.ย.ยอดขาย-ส่งออกดิ่งอีก

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและส่งออกจนชะลอตัวลง กระทบต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่การผลิตรถยนต์(ซัพพลายเชน) ทั้งผู้ผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ และตัวแทนจำหน่าย(ดีลเลอร์) ทั้งหมดนี้มีแรงงานรวมกว่า 7.5 แสนคน ล่าสุดพบว่าค่ายรถยนต์ในประเทศกำลังปรับตัว เริ่มลดพนักงานให้สอดรับกับการผลิตที่ลดลง ส่วนจะมากน้อยเพียงใดต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19ทั้งไทยและทั่วโลกว่าจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด

“ผลจากยอดจำหน่ายลดลงค่อนข้างมากจนค่ายรถยนต์ได้ปิดไลน์การผลิตไปในช่วงเดือนเมษายนทั้งเดือน และเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ประกาศกลับมาผลิตบางส่วน สอดรับกับที่รัฐผ่อนคลายล็อคดาวน์เฟส 2 แต่มองว่ากำลังซื้อคงไม่ได้เพิ่มมาก การส่งออกก็เช่นกัน ประกอบกับโรงงานเองหากจะกลับมาผลิตต้องเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโควิด-19 ทำให้อัตรากำลังการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งเกินความจำเป็น ค่ายรถและชิ้นส่วนจึงตัดสินใจเลิกจ้าง เป้าหมายแรกคือ กลุ่มพนักงานสัญญาจ้างหรือซับคอนแทรกท์ก่อน จากนั้นคงเป็นเรื่องสมัครใจออก และลดคนส่วนอื่นๆตามมา แต่ยังคงพยายามรักษาแรงงานระดับฝีมือเอาไว้”นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มรถยนต์ส.อ.ท.ได้ประเมินไว้ว่าหากโควิด-19 ยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายน จะกระทบต่อการผลิตรถยนต์จากเป้าหมายเดิมปี 2563 คือ 1.9 ล้านคัน เหลือเพียง 1.4 ล้านคัน และหากยืดเยื้อถึงกันยายน-ตุลาคม จะเหลือเพียง 1 ล้านคันเท่านั้น หรือหายไปกว่า 50% ดังนั้น

แรงงานจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดอยู่ที่โควิด-19 ล่าสุดภาพรวมยอดจำหน่ายในประเทศและการส่งออกในเดือนเมษายนยังลดลงต่อเนื่องซึ่งการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยที่ผ่านมาพึ่งพิงตลาดส่งออกถึง 54%

Advertisement

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มรถยนต์ ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อคลัสเตอร์รถยนต์ รักษาระดับการจ้างงานในให้มากที่สุด ต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญได้แก่ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ผู้ที่นำรถเก่าที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านคันมาแลกเพื่อซื้อรถใหม่ โดยรัฐจ่ายเงินส่วนต่างจำนวนหนึ่ง แนวทางนี้ไม่เพียงกระตุ้นยอดขายแต่ยังช่วยลดปัญหามลพิษ พีเอ็ม 2.5 ลงไปด้วย เช่นเดียวกับที่ประเทศสหรัฐและประเทศเยอรมนีใช้เคยใช้ฟื้นหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐผ่อนคลายด้วยการยืดเวลาชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะครบการจ่ายในเดือนสิงหาคมนี้ออกไปอีก 1 ปี เพื่อนำเงินดังกล่าวไปหมุนเวียนการใช้จ่ายซึ่ง รวมถึงคงรักษาระดับพนักงานเอาไว้ ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะทำให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยังช่วยดึงการลงทุนเข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย เพราะผลจากการปิดเมืองทั่วโลกได้กระทบต่อสายการผลิต จนทำให้หลายประเทศเตรียมย้ายฐานออกจากจีนโดยเฉพาะญี่ปุ่น

รายงานข่าวระบุว่า ล่าสุดยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนเมษายนอย่างไม่เป็นทางการทรุดหนัก ทำยอดขายได้แค่ 33,300 คันเท่านั้น คาดว่าเป็นการตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ตลาดส่งออกลดลงเช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสูง ทำให้ค่ายรถที่มีฐานผลิตในไทยเริ่มปรับนโยบายด้านคนแล้ว อาทิ ค่ายรถยนต์ฟอร์ด และมาสด้า มีนโยบายลดคนพร้อมจ่ายชดเชยตามกฏหมายแรงงานและหันไปใช้เอาต์ซอร์ซแทน ขณะที่มิตซูบิชิ เปิดโครงการสมัครใจลาออก นิสสันตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับพนักงานสัญญาจ้าง 300 คนจาก 1,900 คนเพื่อดูความชัดเจน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image