กำชับสถานประกอบการ-ประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนดผ่อนปรนโดยเคร่งครัด

กำชับสถานประกอบการ-ประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนดผ่อนปรนโดยเคร่งครัด

วันที่ 18 พฤษภาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 43/2563 โดย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการศูนย์ฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ที่ประชุมได้กำชับให้สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พื้นที่ และ กอ.รมน.กทม. ตรวจแนะนำห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ รวมทั้งสถานประกอบกิจการต่างๆ ตลอดจนประชาชนที่ประกอบกิจกรรมในสถานที่ตามที่ได้มีประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 (โควิด-19) โดยขอให้กำหนดแผนการตรวจแนะนำอย่างเข้มข้นครอบคลุมสถานประกอบการ และสถานที่ประกอบกิจกรรมทุกประเภท อาทิ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้า ร้านอาหาร สวนสาธารณะ เป็นต้น เพราะปัจจัยสำคัญของการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คือ การควบคุมดูแลให้สถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งประชาชนต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการผ่อนปรนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะภายในตลาดสดที่ไม่ใช่ตลาดของกรุงเทพมหานคร ขอให้ตรวจแนะนำเจ้าของตลาดรวมถึงผู้ใช้บริการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างเคร่งครัด

ในส่วนของมาตรการควบคุมและจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ ที่กำหนดให้สถานประกอบการแต่ละแห่งติดตั้ง “คิวอาร์โค้ดของแพลตฟอร์ม ไทยชนะ” ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องสแกนก่อนเข้าไปในสถานประกอบการนั้น เป็นขั้นตอนการปฏิบัติสำคัญเพื่อผลด้านการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเป็นเรื่องของการควบคุมโรคเหมือนการไปใช้บริการของโรงพยาบาลที่ต้องแจ้งข้อมูลกับแพทย์ ส่วนข้อมูลการใช้บริการสถานประกอบการต่างๆ จากการสแกน “คิวอาร์โค้ดของแพลตฟอร์ม ไทยชนะ” ก็จะถูกเก็บไว้ที่กรมควบคุมโรคแห่งเดียว และจะถูกนำมาใช้ด้วยเหตุผลด้านการควบคุมโรคเท่านั้น เช่น เมื่อพบว่าสถานประกอบการแห่งใดพบผู้ป่วย กรมควบคุมโรคจะติดตามตัวบุคคลที่อยู่ในสถานที่ดังกล่าวในช่วงเวลาเดียวกับที่ผู้ป่วยอยู่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image