‘ททท.’ เล็งอัดงบหนุนผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว เข้าระบบตามมาตรฐานเอสเอชเอ

‘ททท.’ เล็งอัดงบหนุนผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว เข้าระบบตามมาตรฐานเอสเอชเอ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้ทำงานร่วมกับเอกชนในภาคการท่องเที่ยว นำมาตรการด้านสาธารณสุขบวกกับมาตรฐานด้านสินค้าและบริการในภาคการท่องเที่ยว ในการเปิดโครงการ Amazing Thailand Safety & Health Administration (เอสเอชเอ) เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ ซึ่งภาคเอกชนจะต้องทำงานร่วมกับสมาคมท่องเที่ยว เพื่อดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งสมาคมจะส่งเรื่องกลับมาให้ททท. เพื่อออกตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ ซึ่งมีอายุในการรับรองประมาณ 2 ปี โดยสิ่งสำคัญคือ การตรวจติดตามหลังจากผู้ประกอบการได้ตราสัญลักษณะดังกล่าว โดยสำนักงานททท.ในแต่ละจังหวัด จะสุ่มตรวจสอบผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งตราสัญลักษณ์เอสเอชเอเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการดูแลด้านความปลอดภัย และสุขอนามัยของนักท่องเที่ยว เพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวจะต้องได้รับทั้งความสุขและมีความปลอดภัยในทุกด้าน

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบอีกกรณี เป็นการตรวจสอบของนักท่องเที่ยวเอง ผ่านการเดินทางท่องเที่ยว หากไม่ได้รับการบริการหรือมีความปลอดภัยตรงตามที่กำหนดไว้ สามารถส่งเรื่องกลับมาเข้ามายังททท. ซึ่งททท.มีมาตรการในการถอนตราสัญลักษณ์เอสเอชเอออก ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ดังกล่าว จะไม่ได้รับความไว้วางใจในการเรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป โดยโครงการดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือในการทำให้ทุกคนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น โดยสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ได้มีการเปิดเผยว่า ขณะนี้มีห้องพักรวม 1.8 ล้านห้อง อยู่ในระบบจริงๆ เพียง 8 แสนห้องเท่านั้น แต่อีกกว่าล้านห้องพัก ยังไม่ได้อยู่ในระบบ ซึ่งอาจเป็นห้องที่ไม่ถูกกฎหมายหรืออาจยังไม่ถูกกฎหมายได้ จึงมีการหารือกันในหลักการว่า โครงการตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ อาจต้องใช้งบประมาณเพื่อทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานที่ดีตามมาตรฐานของตราสัญลักษณ์เอสเอชเอ ซึ่งตามหลักเกณฑ์ผู้ประกอบการที่จะได้รับการสนับสนุน และได้รับตราสัญลักษณ์จะต้องเป็นห้องพักที่ถูกกฎหมาย ส่วนห้องพักแบบแอร์บีเอ็นบี หรือการเปิดคอนโดมิเนียมให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าพักได้แบบไม่ถูกกฎหมาย ก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่จะได้รับการสนับสนุน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าห้องพักเหล่านี้จะทยอยหายไปตามธรรมชาติ เพราะความต้องการในการใช้บริการหายไป เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไม่ได้มีมากเท่าเดิมแล้ว จึงถือโอกาสนี้สร้างมาตรฐานในภาคการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยเบื้องต้นประเมินว่าผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่น่าจะไม่ต้องการการสนับสนุน แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) มากกว่าที่ต้องเข้าไปสนับสนุนให้มีมาตรฐานและเข้าสู่ระบบได้เพิ่มเติม

“รูปแบบการสนับสนุนอาจเป็นการช่วยในเรื่องบประมาณ แต่ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง เนื่องจากมี 2 ด้านที่ต้องดูคือ มาตรฐานของสินค้าและบริการ ซึ่งเอกชนน่าจะมีอยู่แล้ว ส่วนอีกอันเป็นเรื่องสาธารณสุขและความปลอดภัย ซึ่งต้องกำหนดว่าควรต้องมีอะไรเพิ่มเติม อาทิ การเพิ่มจุดคัดกรอง การมีเจลล้างมือให้บริการตามจุดต่างๆ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งหากต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากในการสนับสนุน เพื่อนำผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบและมีมาตรฐานตามโครงการเอสเอชเอ อาจต้องของบประมาณเพิ่มจากเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้รมว.ท่องเที่ยวให้ทำ 2 ส่วนคือ ปรับจากงบประมาณเดิมที่ททท.มีอยู่แล้ว หลังจากมีบางโครงการที่ไม่สามารถทำได้ตามแผนปฏิบัติการในปีนี้ ซึ่งจะต้องนำมาปรับให้เข้ากับแผนฟื้นฟู ส่วนในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ก็ขอให้ตั้งใช้กับงบฟื้นฟูต่อไป แต่ต้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และแผนดำเนินการต่อจากนี้ด้วย” นายยุทธศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image