เรื่องต้องรู้ เมื่อใส่หน้ากากออกกำลังกาย

เรื่องต้องรู้ เมื่อใส่หน้ากากออกกำลังกาย

หนึ่งในข้อปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงที่ไม่ว่าจะตำราไหนๆ ก็มักจะระบุไว้คือ “การออกกำลังกาย” ซึ่งในห้วงที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะยังไม่มีรายงานว่าการออกกำลังช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ แต่การเคลื่อนไหวร่างกายก็จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรงในทางหนึ่ง

สำหรับประเด็นข้อสงสัยที่ว่า การสวมหน้ากากขณะออกกำลังกายจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่อย่างไร นั้น

นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล ศัลยแพทย์ด้านผ่าตัดผ่านกล้องข้อเข่าและข้อไหล่ แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา สถาบันเวชศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การใส่หน้ากาก (Mask)ขณะออกกำลังกายอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เพราะทำให้อึดอัด หายใจลำบาก เหนื่อยง่ายขึ้น ออกซิเจนไม่เพียงพอ ปอดและหัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมถึงชนิดของหน้ากากที่สวมใส่ด้วย

นพ.ภคภณ ให้ข้อมูลว่า สำหรับ “นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ” อาจมีความสามารถในการปรับตัวและทนต่อการหายใจลำบากได้ หากออกกำลังกายแบบไม่หนักสามารถสวมใส่หน้ากากได้ แต่หากต้องออกกำลังกายที่หนักขึ้นก็เหนื่อยง่ายขึ้นและใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติ ทำให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง

Advertisement

ส่วน “ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือผู้สูงอายุ” การสวมใส่หน้ากากขณะออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายและหัวใจต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ อาจยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้

ในส่วนของ ชนิดของหน้ากาก หากสวมใส่ขณะออกกำลังกาย อาทิ “หน้ากาก N95” ปกติสวมใส่เพื่อป้องกันอนุภาคเล็กๆ ได้ดี กระนั้นในขณะพูดคุยยังรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หากสวมใส่ขณะออกกำลังกายก็จะยิ่งทำให้รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก และเหนื่อยง่าย แม้จะเลือกใช้แบบมี Valve ช่วยหายใจออกก็ตาม

“หน้ากากอนามัย” การใส่หน้ากากอนามัยในขณะออกกำลังกาย จะทำให้รู้สึกอึดอัดและเหนื่อยง่ายได้เช่นเดียวกัน และเมื่อหน้ากากอนามัยเกิดความเปียกชื้นจากเหงื่อ จะทำให้ลดประสิทธิภาพในการป้องกันลง

Advertisement

“หน้ากากผ้า” การสวมใส่หน้ากากผ้าอาจทำให้หายใจได้สะดวกกว่าแบบอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 หรือป้องกันไวรัสได้หากได้รับละอองฝอยจากการไอ หรือจามใส่โดยตรง และสุดท้าย “ผ้าคลุมใบหน้าหรือผ้าบัฟ” อาจเลือกใช้คลุมบริเวณปากและจมูกแทนการสวมใส่หน้ากากได้ ช่วยให้หายใจได้สะดวกกว่า สามารถลดระยะทางการกระจายละอองฝอยได้บ้างหากผู้สวมใส่ไอ จาม แต่ประสิทธิภาพการป้องกันจะไม่เทียบเท่าหน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ “การออกกำลังกายที่บ้าน โดยไม่ต้องสวมใส่หน้ากาก” นอกจากนี้ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและใช้วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ที่สำคัญอย่าลืมประเมินตนเองอยู่เสมอเพื่อจะได้กลับมาออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพปราศจากโรค เพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงในระยะยาว

นพ.ภคภณ อิสรไกรศีล
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image