ดิลิเวอรีบูม-ขยะบาน ส่งพลาสติกกลับบ้าน สร้าง‘ศก.หมุนเวียน’

ดิลิเวอรีบูม-ขยะบาน
ส่งพลาสติกกลับบ้าน สร้าง‘ศก.หมุนเวียน’

ผลต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่เน้นให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้บริการดิลิเวอรี อาหารการกินบูมอย่างมาก แต่สิ่งที่ตามมาคือขยะพลาสติกที่เป็นภาชนะต่างๆ โดยมีการสำรวจพบว่าเพิ่มสูงถึง 15% จาก 5,500 ตัน/วัน เป็น 6,300 ตัน/วัน

จึงเป็นที่มาของโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ-ภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พร้อมเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) และภาคีเครือข่าย 24 องค์กร โดยชูแคมเปญ “แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา” ให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แล้วมาฝากทิ้ง เพื่อนำขยะพลาสติกเหล่านั้นไปผ่านกระบวนการรีไซเคิล/อัพไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ตามหลัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน”

โครงการดังกล่าว เกิดจากแนวคิดว่าทุกครัวเรือน คือต้นทาง ที่สามารถมีส่วนร่วมในการลดและจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกได้ง่ายๆ และทำได้ทันที ในระยะแรกเป็นการรณรงค์ให้ครัวเรือนร่วมกันแยกขยะติดเชื้อและรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไป

โมเดล “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เริ่มนำร่องบนถนนสุขุมวิท ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ดิสเคาน์สโตร์และซุปเปอร์มาร์เกต เช่น เทสโก้ โลตัส สาขาอ่อนนุช, ห้างเอ็มควอเทียร์, ห้างเอ็มโพเรียม ซีพีเฟรชมาร์ท สุขุมวิท ฯลฯ เป็นจุดรับขยะพลาสติกสะอาดและแห้งจากผู้บริโภค เพื่อเข้าสู่เครือข่ายผู้ให้บริการและขนส่งไปยัง “Waste hub” และเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิล/อัพไซเคิล ก่อนขยายผลโมเดลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

Advertisement

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. กล่าวในวันเปิดโครงการว่า ก่อนโควิด-19 จะแพร่ระบาด ประเทศไทยประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่งในการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง แต่พออยู่ในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 พบว่าปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เฉพาะในกรุงเทพฯ มีขยะพลาสติกรวมกับขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นถึงวันละ 1,500 ตัน เราก็เข้าใจในสถานการณ์ แต่อยากขอความร่วมมือว่าตรงไหนที่สามารถลดได้ก็ช่วยลดก่อน แต่หลังจากพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้ว คงจะต้องเป็นนิว นอร์มอลต่อไป
“ปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง เราต้องหาวิธีทำให้เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มรูปแบบ อย่างโครงการนี้ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งฝ่ายภาครัฐ ภาคประชาชน หากมาช่วยกันจะเป็นการช่วยรักษาโลกไว้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป” วราวุธสรุป

ขณะที่ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. เสริมว่า ความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจและภาคประชาชนทำโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ตลอดระยะเวลาที่มีการทำเรื่องนี้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ก็ร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ยังเห็นว่าโครงการนี้ยังสามารถต่อยอดได้อีก เพื่อให้ต่อเนื่องและครอบคลุมมากขึ้น จึงทำโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นบุญ (เมื่อเราใช้หมุนเวียน)” เป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการส่งขยะกลับบ้าน

“หลักการ คือ การรวบรวมขยะที่เกิดขึ้น นำไปแปรรูปให้กลับไปใช้ใหม่ได้ เช่น ทำเป็นจีวร เมื่อทำเสร็จ ก็นำไปถวายพระสงฆ์ในพื้นที่ต่างๆ หรือหากเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เมื่อนำไปแปรรูป หรือผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วก็สามารถนำไปแจกจ่ายให้กับผู้อื่นต่อไป โครงการต่อยอดนี้ น่าจะเปิดตัวได้ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้” ปลัด ทส.เปรยโครงการใหม่ที่จะต่อยอดจากโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน”

Advertisement

ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี” ซึ่งเป็นแกนสำคัญโครงการนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่จีซีเป็นองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลกและเป็นองค์กรเกียรติยศด้านความยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารดิลิเวอรีที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในภาวะวิกฤตโควิด-19 จึงหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยหารือกับ ทส. และเครือข่าย TRBN รวมทั้งคู่ค้าของจีซี ริเริ่มโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นโมเดลต้นแบบนำร่อง โดยนำขยะพลาสติกมารีไซเคิล/อัพไซเคิล กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อช่วยดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นการเรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ โดยนำร่องให้เกิด “Circular Hotspot” บนถนนสุขุมวิท เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เหมือนที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จัดทำ “Holland Circular Hotspot” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Nederland Circular 2050 ที่เปิดให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน สถาบันต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ดังนั้น “Circular Hotspot” ที่นำร่องบนถนนสุขุมวิทนี้ ก่อนจะขยายไปยังจุดอื่นๆ นอกจากกระตุ้นการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนใหม่ ควบคู่กับการสร้างประโยชน์เชิงสาธารณะแล้ว ยังจะเป็นต้นแบบให้กับอาเซียน ในระยะฟื้นฟูหลังภาวะวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปด้วย

ทั้งนี้ การจัดการขยะนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยการคัดแยกขยะพลาสติกและทำความสะอาดก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง จากนั้นขยะพลาสติกที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จะถูกนำเข้าโรงงานรีไซเคิล ผ่านกระบวนการเปลี่ยนเป็นเส้นใยพลาสติกและเม็ดพลาสติกชนิดต่างๆ จากนั้นเข้าสู่โรงงานแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลและอัพไซเคิล เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม วนกลับไปสู่ผู้บริโภคอีกครั้ง

การคัดแยกขยะที่ถูกต้องเหมาะสม สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้อาชีพคนเก็บขยะ แถมช่วยยกระดับสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ขณะเดียวกันยังสร้างธุรกิจรีไซเคิลคุณภาพสูงให้เกิดมากขึ้น นอกจากผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

พลาสติกถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของทุกคน โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 พลาสติกมีบทบาทในหลายแง่มุม และยังเป็นวัสดุที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อโรค แต่หลังจากใช้เสร็จแล้วต้องบริหารจัดการให้ถูกวิธี เพื่อให้ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อม

“จีซี” จะมีโรงงานรีไซเคิล ที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2564 จะช่วยตอบโจทย์ทั้งโครงการนี้และโครงการอื่นๆ ได้มากขึ้นด้วย เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มตัว

“เชื่อว่าโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านนี้ จะประสบผลสำเร็จเป็นโมเดลขยายไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป โดยจีซีพร้อมสนับสนุน และจะเป็นผู้จัดหาและจัดการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร เคียงข้างภาครัฐและภาคีพันธมิตร เพื่อขับเคลื่อนประเทศก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป” ดร.คงกระพัน สรุป

เป็นอีกโครงการความร่วมมือทั้งภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ในการจัดการกับขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นในภาวะวิกฤตโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นอีกหนึ่งห่วงโซ่ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนของไทยเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image