ลุ้น ‘วัคซีนโควิด’ จุฬาฯ-วช. ทดลองฉีด ‘ลิง’ เข็มแรก 6 เดือนรู้ผล คาดไม่เกินปีครึ่งมีใช้

ลุ้น ‘วัคซีนโควิด’ จุฬาฯ-วช. ทดลองฉีด ‘ลิง’ เข็มแรก 6 เดือนรู้ผล คาด ไม่เกินปีครึ่งมีใช้

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เยี่ยมชมการเตรียมการทดสอบวัคซีนโควิด-19 จากการสนับสนุนทุนวิจัยเรื่องวัคซีน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (เอ็นวีไอ) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 5 โครงการในหลายสถาบัน ล่าสุดมีความคืบหน้าจนถึงขั้นตอนทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองแล้ว

นายสุวิทย์กล่าวว่า มนุษยชาติกำลังจะมีข่าวดีที่ต้องลุ้นต่อไป เนื่องจากมีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีพัฒนาการค่อนข้างดีมาโดยตลอด จากการทดลองกับหนูสู่เข็มแรกที่ทดลองฉีดกับลิง จากนี้ 3-4 เดือนหากได้ผลดีจะเริ่มใช้กับมนุษย์ต่อไป วันนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญสู่ความหวัง ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังเป็นความหวังของคนทั้งโลก

ด้าน นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมทำการศึกษา โดย วช.ร่วมกับจุฬาฯ จัดเตรียมศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์แห่งชาติ เพื่อให้มีความพร้อมวิจัยกับลิงทั้ง 3 ชนิด คือ 1.ลิงแสม 2.ลิงวอกอินเดีย และ 3.ลิงมาโมเสด โดย วช.สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย และ สปสว.ดูแลมาตรฐานการวิจัยในสัตว์ ซึ่งจะทดลองกับสัตว์เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

“เหตุที่ใช้ลิงในการทดลองกับโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจ เพราะปัญหาสำคัญที่นักวิจัยประสบทั่วโลกในการวิจัยพัฒนาวัคซีน คือ ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าวัคซีนใดใช้ได้ผล และใช้ได้เมื่อไหร่ ซึ่งในเวลานี้มีวัคซีนกว่า 200 แบบ แตกต่างกันที่ 1.เทคโนโลยีที่เลือกใช้ 2.รายละเอียดของแอนติเจนที่ใช้ (ชิ้นส่วนบริเวณ เช่น ผิวทั้งหมด หรือบางส่วนของผิวที่ทดสอบ) 3.ตัวร่วมกระตุ้น ที่จะใช้ผสมร่วมกับวัคซีน ซึ่งยังไม่รวมขนาดการใช้ที่แตกต่างกัน (โดส) จำนวนครั้ง และวิธีการฉีด อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีข่าวดีประมาณ 12-18 เดือนหลังจากนี้ ซี่งอาจจะไม่ทันใจ แต่วัคซีนปกติจะใช้เวลาเป็น 10 ปีในการศึกษาว” นพ.สิริฤกษ์กล่าว

Advertisement

นพ.สิริฤกษ์กล่าวว่า สำหรับเทคโนโลยีในการวิจัยวัคซีน เดิมใช้ 1.เชื้อตัวตาย หรือ 2.เชื้อตัวเป็นอ่อนฤทธิ์ ในการศึกษา ซึ่งเป็นวิธีที่นักวิจัยคุ้นเคยกันดี แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการศึกษาและการผลิตที่นานหลายปีกว่าจะมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอกับความต้องการ สำหรับโควิด-19 จึงใช้ 3.ชิ้นส่วนแอนติเจนของเชื้อ ด้วยเทคโนโลยีสารพันธุกรรม ทั้ง DNA และ RNA นับเป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ครั้งแรกในการผลิตวัคซีน และยังไม่เคยใช้กับมนุษย์มาก่อน โดยมีขั้นตอน คือ 1.ทดสอบวัคซีน 2.พัฒนาวัคซีนต้นแบบ mRNA 3.ทดลองในสัตว์ 4.ทดลองในคน 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เน้นความปลอดภัย ระยะที่ 2 เน้นความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกัน และระยะที่ 3 เน้นการป้องกันโรค

“ขณะนี้ทั่วโลกกำลังวิจัยวัคซีนมากกว่า 200 แบบ ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนศึกษาในห้องปฏิบัติการ และสัตว์ทดลองขนาดเล็กเช่น หนู เป็นส่วนใหญ่ ปลายเดือนเมษายน มีวัคซีน 1 แบบ ที่อยู่ในขั้นตอนศึกษาระยะที่ 1 กับคน และอีก 7 แบบ อยู่ระหว่างการศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 2 ซึ่งการพัฒนาวัคซีนแต่ละแบบจะใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ที่ทดสอบตอนนี้เป็นชนิด mRNA ด้วยการเอาข้อมูลพันธุกรรมมาวิเคราะห์จนทราบรหัสพันธุกรรม จากนั้นเอารหัสพันธุกรรมมาวิเคราะห์และสร้างสาย mRNA (เป็นระยะที่ใช้ฉีดได้) เมื่อฉีดเข้าเซลล์ของลิงจะผลิตเป็นโปรตีนของเชื้อ จากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ (Antibody) โดยการทดลองจะฉีด 3 ครั้ง เข็มแรกวันนี้ จากนั้นเว้นระยะ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนฉีดอีก 1 เข็ม จนครบ 3 เข็ม จึงจะนำผลมาวางแผนการศึกษาต่อไป” ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าว และว่า

Advertisement

ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดำเนินการตาม 3 แนวทางคือ 1.สนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศโดยทีมต่างๆ 2.ร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ และ 3.เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยมีวัคซีนใช้ในระยะเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่นในโลก ซึ่งจะต้องสามารถผลิตได้เองในประเทศด้วย ไทยจึงร่วมมือกับจีน สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ รวมถึงเตรียมการผลิตในประเทศ และการจองโรงงานผลิตวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งหากจุดใดมีโอกาสจะดำเนินการผลิตพร้อมกันเพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อถึงเวลาเราจะมีวัคซีนใช้

ด้าน นายสุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยได้สานต่องานวิจัยโดยเฉพาะวัคซีนที่จะใช้กับคน ด้วยการทดลองกับลิง 3 ชนิด เหตุที่ต้องทำวิจัยในสัตว์ทดลอง ไม่สามารถกระโดดไปทำในคนได้ทันทีด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ช่วงแรกทดลองในหนู พบว่าได้ผลดี แต่ลิงจะมีการตอบสนองได้ใกล้เคียงกับคนมากที่สุด ทั้งสรีระร่างกายและวิวัฒนาการ ซึ่งอีก 3 เดือนข้างหน้าจึงจะทราบผลการทดลองกับลิง และขยับไปทดสอบในคนต่อไป

“เหตุที่ต้องทดสอบกับลิง เพราะที่ผ่านมามีการทดลองวัคซีนสำหรับไวรัสซารส์และเมอร์ส แต่ทำในหนูแล้วไม่สามารถตอบคำถามได้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยหลักทดสอบ 4 เรื่อง คือ 1.ความป็นพิษ 2.ความปลอดภัย 3.กระตุ้นภูมิคุ้นกัน และ 4.ประสิทธิผลของวัคซีน ขณะนี้กำลังดูเรื่อง ความปลอดภัย และการตอบสนองภูมิคุ้มกันว่ามีประสิทธิผล ด้วยการทดลองฉีดเชื้อโควิด-19 เข้าไปในลิง เพื่อทดสอบว่าป้องกันโรคได้ ซึ่งพบว่าลิงแสมเป็นสัตว์ทดลองงานวิจัยที่นำไปใช้ต่อกับคนได้ดี โครงการนี้จึงทดสอบกับลิงแสมในประเทศไทย จำนวน 13 ตัว แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ลิงที่ไม่ฉีดวัคซีน จำนวน 3 ตัว (ฉีดยาหลอก) กลุ่มที่ 2.ฉีดวัคซีนขนาดต่ำ 5 ตัว หากเห็นผลจะใช้ในคนเพื่อมีราคาถูกลง และกลุ่มที่ 3 ฉีดวัคซีนขนาดสูง 5 ตัว ใช้ระยะเวลาทดลองฉีด 2 เดือน อีก 4 เดือนจะติดตามดูผลระบบภูมิคุ้มกันของลิงว่ายังสูงอยู่หรือไม่ คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้จะสามารถเลือกวัคซีนต้นแบบที่ดีที่สุดเพื่อใช้ทดสอบในคนต่อไป ซึ่งขณะเดียวกันได้มีการจองโรงงานผลิตไว้แล้ว คาดว่าจะเริ่มผลิตจริงประมาณต้นเดือนสิงหาคม-กันยายน และเริ่มทดสอบในคนระยะที่ 1 ภายในสิ้นปีนี้” นายสุจินดากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image