‘ดับบลิวเอชเอ’ ลุยโครงการผลิตบำบัดน้ำใช้ แก้ปัญหาภัยแล้ง ต่อยอดรายได้ 200 ลบ. ในอนาคต

‘ดับบลิวเอชเอ’ ลุยโครงการผลิตบำบัดน้ำใช้ แก้ปัญหาภัยแล้ง ต่อยอดรายได้ 200 ลบ. ในอนาคต

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า จากวิกฤตภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯในฐานะผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภค ได้มีมาตรการการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯอย่างเป็นรูปธรรมตลอด โดยได้มีการลงทุนในโครงการต่างๆ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในบริษัทฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่บริษัทฯได้ขยายศักยภาพในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำที่ใช้แล้วมาบำบัด และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reclaimed Water) อีก 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะทำให้กำลังการผลิตน้ำดังกล่าวในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากในปี 2562 ที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยโครงการดังกล่าว บริษัทฯใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในไตรมาส 4/2563 ซึ่งบริษัทฯ สามารถดำเนินการจ่ายน้ำได้บางส่วนที่ปริมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในไตรมาส 3/2563 นี้

นายนิพนธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ บริษัทฯยังได้พัฒนาโครงการนำน้ำใช้แล้วมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) โดยลงทุนก่อสร้างดังกล่าว มีกำลังผลิต 5,200 ลูกบาศ์เมตรต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง และต่อยอดผลิตเป็นน้ำอุตสาหกรรมเกรดสูง ที่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) โดยจะมีการลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำกับกลุ่มโรงไฟฟ้ากัลฟ์ เป็นระยะเวลา 15 ปี เพื่อจำหน่ายน้ำอุตสาหกรรมเกรดสูงดังกล่าว มูลค่าสัญญาประมาณ 770 ล้านบาท
โครงการนี้ใช้งบลงทุนประมาณ 108.2 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมให้กับผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป และยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในการขยายธุรกิจน้ำของบริษัทฯ เพื่อต่อยอดอัตราการเติบโตของรายได้ในอนาคต

“การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำดีจากน้ำใช้แล้วในครั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดสำหรับการจัดหาแหล่งน้ำดิบและแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน และยังสามารถนำไปผลิตและส่งจ่ายเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ หรือน้ำคุณภาพสูงให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท ซึ่งมูลค่าของน้ำเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพสูง จะมีราคาที่สูงกว่าราคาน้ำอุตสาหกรรมทั่วไปประมาณ 40 – 60% โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดภาระการลงทุน และค่าดำเนินการในระบบสาธารณูปโภค และสามารถใช้น้ำที่ต้องการจากผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งการลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้จะสามารถต่อยอดเป็นน้ำเพื่ออุตสาหกรรมคุณภาพสูงได้ และเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทฯได้ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี” นายนิพนธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image