คลังดึง 17 หน่วยงานตั้งทีมเราไม่ทิ้งกัน แบงก์รัฐอัดเม็ดเงิน2.3แสนล.หนุนสร้างงาน คืนรายได้ประชาชน

คลังดึง 17 หน่วยงานตั้งทีมเราไม่ทิ้งกัน แบงก์รัฐอัดเม็ดเงิน2.3แสนล.หนุนสร้างงาน คืนรายได้ประชาชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(แบงก์รัฐ) 17 หน่วยงาน ในการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะมีการสานต่อโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19 และจัดตั้งทีมเราไม่ทิ้งกัน เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่ง ซึ่งแบงก์รัฐ 9 แห่ง ร่วมกันออกสินเชื่อใหม่รองรับโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19 ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท

นายอุตตม กล่าวว่า ในส่วนของกรมภาษีทั้งสรรพากร สรรพสามิต และศุลกากร เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและเอกชน โดยมีการเลื่อนเวลาชำระภาษี รวมถึงเร่งให้มีการคืนภาษีให้เร็ว เพื่อให้เงินภาษีไปถึงมือผู้เสียภาษีให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ทั้งมีมาตรการภาษีลดภาษี ยกเว้น ภาษี และลดหย่อนภาษี นอกจากนี้กรมอื่นๆ เช่น กรมบัญชีกลาง ผ่อนปรนการเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับโควิด-19

“กระทรวงการคลังมีข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยา ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะส่งทีมเราไม่ทิ้งกันลงพื้นที่เยี่ยมเยียน สำรวจ ประเมินสภาพความเป็นอยู่เพื่อทราบความเดือดร้อนและความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับการเยียวยาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง นายอุตตมกล่าว

Advertisement

นายอุตตม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จัดให้มี คลินิก คลังสมอง หมอคลัง เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งต่อยอดมาจากการรับเรื่องร้องทุกข์เงินเยียวยา ตามสาขาของแบงก์รัฐทั่วประเทศ โดยจะให้บริการรับปรึกษาเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ทั้งด้านอาชีพ บริการทางการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น และเมื่อได้รับทราบเรื่องราวร้องทุกข์แล้วจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และติดตามเรื่องเพื่อแจ้งผลให้กับประชาชนผู้ร้องทุกข์ต่อไป

-ออมสินผุดสินเชื่อฟื้นฟูรายได้4 หมื่นล.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ในโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19 ธนาคารออมสินได้กำหนดแนวทาง เยียวยา ฟื้นฟู ส่งเสริมสร้างอาชีพ คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยแนวคิด คืนความสุข สร้างภูมิคุ้มกัน ผ่าน 4 กระบวนการ คือ 1. เยียวยา ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี โดยให้เลือกชำระดอกเบี้ย 50 – 100% ได้ตามความสามารถ และยังคืนดอกเบี้ยให้อีก 20% (Cash Back) กรณีผ่อนขำระดี 2.การคืนอาชีพ ด้วยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการสร้างอาชีพ และเปิดช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ 3. คืนความสุข ร่วมกับชุมชนต่างๆ ดำเนินการ ตู้คลังออมสินปันสุข ทุกชุมชน 4. ฟื้นฟูรายได้ ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว

Advertisement

นายชาติชายกล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลโควิด-19 ที่ผ่านมามีมาตรการออกมาและกำลังดำเนินการอยู่คือ 1.พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 2,894,333 ราย วงเงินรวม 1.129 ล้านล้านบาท 2.สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 วงเงิน 10,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้มีรายได้ประจำ วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 2,663,197 ราย อนุมัติไปแล้ว 310,006 ราย คิดเป็นวงเงิน 7,527.16 ล้านบาท 3.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 12,352 ราย ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 105,242.34 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 44,757.66 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด และล่าสุดได้อนุมัติซอฟท์โลน อีก 2,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสำนักงานธนานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่นำทรัพย์สินมาจำนำในช่วงนี้โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

-ธกส.ผุดสินเชื่อใหม่ 1.7 แสนล.

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส. เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์ การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย 1. สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละ ไม่เกิน 50,000 บาท 2. สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3. สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 3 โครงการ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. จะเร่งนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. เตรียมมาตรการในการฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้า กลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส. มุ่งหวังว่าสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1 ล้านราย

นายอภิรมย์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลการดำเนินงาน 7 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ การพักชำระหนี้และการสนับสนุนเงินทุนให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน SMEs เกษตร โดยมีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และบุคคลในครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 4 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 1.42 ล้านล้านบาท ส่วนสินเชื่อฉุกเฉิน เป้าหมาย 2 ล้านราย วงเงิน 20,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียนรับสินเชื่อจำนวน 2,082,967 ราย จ่ายไปแล้วกว่า 2 แสนราย เป็นจำนวนเงินกว่า 2,000 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร เป้าหมาย 10 ล้านราย จ่ายไปแล้วกว่า 4.72 ล้านราย เป็นเงินกว่า 23,000 ล้านบาท

-อัด2 หมื่นล.ปล่อยกู้บ้านดอก1.99%

ด้านนายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) และ โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ รวมทั้งสิ้น 10 มาตรการ ซึ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงสามารถเลือกลงทะเบียนเข้ามาตรการที่เหมาะสมกับผลกระทบของตนเอง เพื่อลดภาระรายจ่ายและรักษาที่อยู่อาศัยให้ยังคงเป็นของตนเอง โดย ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2563 เวลา 18.00 น. มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 446,747 บัญชี วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 443,220 ล้านบาท

นายกมลภพ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการร่วมเดินหน้าฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจภายหลังปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น คณะกรรมการธนาคารจึงมีมติเห็นชอบให้จัดทำ โครงการ ธอส. ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน โดยมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาลมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าทั้ง 8 มาตรการตาม โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ ผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ต่อปี นานถึง 2 ปีแรก

ทั้งนี้สามารถกู้เพื่อซื้อ(ครอบคลุมทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง) ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัยพร้อมกับการขอกู้ตามวัตถุประสงค์หลัก(ซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย และซ่อมแซม) วงเงินให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหลักประกัน รวมถึงได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ คิดค่าประเมินราคาหลักประกันในอัตราพิเศษ และให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 ธันวาคม 2563

“อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่ำในปัจจุบันหากกู้ 1 ล้านบาท จะผ่อนชำระ 2 ปีแรกเพียง 3,300 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับวงเงินกู้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้มีบ้าน ธอส. จึงกำหนดสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) ในกรณีลูกค้ารายย่อยเพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน โดยถือเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งคนในครอบครัวของผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ปัจจุบันมีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวนกว่า 15 ล้านราย และครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือจากปัญหาโควิด-19 มากกว่า 4 แสนราย จึงเชื่อว่าโครงการบ้าน ธอส. คนไทยไม่ทิ้งกัน จะสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ เร็วขึ้น” นายกมลภพ กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image