แพทย์แนะ! เลือกกินอาหารสะอาด ปรุงสุกใหม่ ล้างมือก่อนกิน เลี่ยงอาหารเป็นพิษ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส สารพิษจากพืชและสัตว์ สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร อาหารกระป๋อง อาหารทะเลที่ปรุงไม่สุกพอ หรืออาหารที่ค้างไว้หลายชั่วโมง โดยผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1 – 2 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท ปริมาณของเชื้อโรค และสารพิษที่ได้รับ ซึ่งทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ กระหายน้ำ เป็นต้น ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและหายได้ภายใน 1 – 2 วัน แต่หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น ท้องเสียมาก อาเจียนมาก มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก ตามัวมองเห็นไม่ชัด ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที

“ทั้งนี้ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้ ซึ่งอาหารเป็นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการรับประทานอาหารอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)ราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการอาหารเป็นพิษผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง และดีขึ้นด้วยการดูแลตนเองที่บ้าน โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้ 1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ หรือจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย 2.ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ ที่มีเกลือและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไป โดยจิบทีละน้อยตลอดวัน 3.รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม งดอาหารเผ็ดและย่อยยาก และ 4.รับประทานยาแก้ท้องเสีย โดยผู้ป่วยควรรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย

Advertisement


“เราสามารถป้องกันตนเองจากภาวะ อาหารเป็นพิษ ได้ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด เลือกร้านอาหารที่ไว้ใจได้ หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารค้างคืน หากทำกับข้าวเองควรเลือกวัตถุดิบที่เป็นของสดใหม่ เก็บใส่ตู้เย็นแยกเป็นหมวดหมู่ ที่สำคัญคือการล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็จะสามารถป้องกันตนเองจากภาวะอาหารเป็นพิษได้” นพ.สมเกียรติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image