ประชาธิปไตยแบบพม่าไม่เหมือนที่อื่นใดในโลก สำนึกทางการเมืองของคนชอบเหยียด โดย ลลิตา หาญวงษ์

หนึ่งในภาพถ่ายของนาง มวย ซานในชุดบิกินี ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมพม่า จนเธอถูกถอดใบประกอบโรคศิลปะจากแพทยสภาพม่า

คําที่เราได้ยินติดหูเมื่อติดตามข่าวสารภายในประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องมีคำว่า การบูลลี่ (bullying), การพูดให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) และความถูกต้องทางการเมือง (political correctness หรือที่เรียกติดปากว่าความพีซี) โดยรวมเราอาจเรียกคำนามเหล่านี้ได้ว่า “การเหยียด” ในสังคมไทย สังคมตระหนักถึงอันตรายของการเหยียดมากขึ้นว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ที่ถูกเหยียด และสร้างภาพลักษณ์ที่แย่ให้กับผู้พูด จนทำให้สังคม ที่กำลังเซ็นซิทีฟสุดขีดกับประเด็นนี้ ออกมาประณามผู้พูดได้

สภาพการณ์ในพม่าแตกต่างออกไปจากไทยพอดู เพราะสังคมพม่ายังมองว่าการเหยียดเกิดขึ้นได้ หากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นควรค่าแก่การถูกเหยียด เมื่อปีก่อน เกิดกรณีที่แพทยสภาพม่าประกาศถอดใบประกอบโรคศิลปะของแพทย์หญิง นางมวย ซาน (Nang Mwe San) ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะเป็น “เน็ตไอดอล” และนางแบบ ภาพของนางมวย ซานที่เธอโพสต์ลงโซเชียลมีเดียของเธอมีทั้งภาพที่เธอใส่ชุดทั่วไป และชุดบิกินี สังคมพม่าตั้งคำถามกับการที่แพทย์ใส่ชุดบิกินีถ่ายภาพ มองว่าเป็นการถ่ายภาพวาบหวิวและการทำผิดจริยธรรมของแพทย์มากกว่าจะมองว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวและเป็นสิทธิพื้นฐานของเธอ การถอดใบประกอบโรคศิลปะของแพทยสภาพม่าส่วนหนึ่งก็มาจากทนกระแสกดดันจากสังคมที่ทำหน้าที่เป็น “ตำรวจทางศีลธรรม” ไม่ได้ ในเฟซบุ๊กของสำนักข่าวแทบลอยด์ และเพจซุบซิบดารา ปรากฏข้อความด่าทอนางมวย ซานจำนวนมาก แต่กลายเป็นว่าผู้คนส่วนใหญ่ของพม่าเห็นดีเห็นงามกับการประณามหยามเหยียดเธอ ลามไปถึงการเหยียดเพศ และการบูลลี่ เพราะถือว่าผู้ที่ทำผิดจากมาตรฐานที่สังคมพม่าตั้งไว้ ย่อมต้องถูกเหยียด ทั้งเพื่อประณาม และเพื่อประจานความผิดต่อศีลธรรมดังกล่าว

เมื่อตำรวจศีลธรรมมีบทบาทสูงต่อการกำหนดชะตากรรมของผู้คนในสังคม ทำให้คนพม่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าวิพากษ์วิจารณ์สังคม โดยเฉพาะในประเด็นละเอียดอ่อนอย่างศาสนา หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาลอย่างด่อ ออง ซาน ซูจี ก็ถือว่าเป็นข้อห้าม (taboo) ที่สังคมพม่าตั้งไว้แล้วแบบลอยๆ อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ชี้ให้เห็น “ความไม่พีซี” ของสังคมพม่าเมื่อกล่าวถึงเรื่องการเมืองและการพัฒนาสู่ประชาธิปไตย คือการที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกติดปากว่า “แอคทิวิสต์” บางคนมีทัศนคติเหยียดเชื้อชาติต่อชาวโรฮีนจาอย่างรุนแรง คนกลุ่มนี้คือนักเคลื่อนไหวที่ออกมาทำกิจกรรมเพื่อล้อเลียนและต่อต้านกองทัพ และที่น่าสนใจคือเป็นคนที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น แน่นอน ประเด็นนี้ไม่ได้รับการกล่าวถึงในสื่อกระแสหลักในพม่า แม้แต่สื่อที่มองว่าตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมีผู้ก่อตั้งเป็นแอค
ทิวิสต์จากยุค 8888 แต่กลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่ออิสระสำนักอื่นๆ

ความสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งเป้าไปที่โก ซายาร์ ลวิน (Ko Zayar Lwin) นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหนุ่ม วัย 29 ปี กลายเป็น “ไอดอลประชาธิปไตย” หลังเขาและเพื่อนอีก 4 คนจากกลุ่มการเมืองชื่อ Peacock Generation ขึ้นอ่านกลอนประกอบเพลงล้อเลียนกองทัพพม่า และถูกจับกุมในข้อหาดูหมิ่นและดิสเครดิตกองทัพ องค์กรที่รณรงค์ด้านสิทธิ ทั้ง Amnesty International และ Human Rights Watch ตบเท้าออกมาประณามการจับกุมโก ซายาร์ ลวิน และ
เพื่อน สำนักข่าว Frontier ออกมาเปิดเผยว่าซายาร์ ลวินมีทัศนคติที่ย่ำแย่ต่อชาวโรฮีนจา เมื่อสองปีที่แล้ว เมื่อแอคทิวิสต์หนุ่มเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น เขาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “นาน เซ” (Nan Zay) และกล่าวถึงชาวโรฮีนจาโดยใช้คำว่า “กะลา” (kalar) ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “แขก” ในภาษาไทย แต่มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝงจนทำให้คำนี้กลายเป็นคำสแลงและเป็นคำต้องห้ามในโลกแห่งความพีซี และยังเรียกชาวโรฮีนจาว่า “เบงกาลี” ซึ่งชาวพุทธหัวรุนแรงในพม่าใช้เรียกชาวโรฮีนจามาตลอดด้วย หนึ่งในโพสต์การเมืองของเซยาร์ ลวินยังวิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าในรัฐยะไข่ แต่เป็นไปในลักษณะให้ใช้มาตรการเด็ดขาดและรุนแรงกับหมู่บ้าน “ชาวเบงกาลี” และ “คนเบงกาลีทุกคนจากหม่องด่อไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ก็ยากที่จะแยกผู้ก่อการร้ายออกจากคนเบงกาลี”

Advertisement

แอคทิวิสต์หนุ่มยังเชื่อว่าวิกฤตการณ์โรฮีนจาทั้งหมดเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดที่ทำให้พม่าดูแย่ในสายตาชาวโลก เซยาร์ ลวินก็ไม่ต่างจากแอคทิวิสต์คนอื่นๆ ทั้งในรุ่นก่อนหน้านี้ หรือในวัยเดียวกัน ที่ให้การสนับสนุนด่อ ออง ซาน ซูจีเป็นอย่างดี แม้ว่าเธอจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั่วโลก กรณีของแอคทิวิสต์พม่าที่ต่อต้านกองทัพพม่าอย่างออกหน้า สนับสนุนพรรค NLD และด่อ ออง ซาน ซูจี แต่ในขณะเดียวกันก็เร่งรัดให้กองทัพพม่าใช้มาตรการที่เด็ดขาดกับชาวโรฮีนจา ไม่ว่าต้องใช้ความรุนแรงขนาดไหนก็ตาม มีให้เห็นได้ทั่วไปในสังคมพม่า ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือแอคทิวิสต์จากยุค 1988 นามซอ เวย (Saw Wai) ที่เคยโดนไล่ออกจากราชการมาแล้ว เพียงเพราะเขาเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดในปี 1988 และเคยแต่งกลอนเพื่อรณรงค์ให้แก้รัฐธรรมนูญปี 2008 ที่ทำให้กองทัพยังมีบทบาทนำในการเมืองพม่า แต่ในขณะเดียวกันก็เคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Myanmar Times ถามว่าประชาคมโลกมีหลักฐานอะไรที่ออกมาประณามว่ากองทัพพม่าสังหารชาวโรฮีนจาไปหลายพันคน

ความย้อนแย้งในด้านทัศนคติของแอคทิวิสต์พม่าเป็นภาพสะท้อนสังคมพม่าที่ดี สังคมพม่าอาจจะเข้าใจว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของระบอบการเมือง การปฏิรูปทางการเมืองคือการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่นำโดยทหาร มาเป็นรัฐบาลพลเรือนเท่านั้น แต่ในอันที่จริงประชาธิปไตยคือทัศนคติและการเชื่อมั่นในความเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง และด้านสังคม ทั้งทางด้านศาสนา ด้านเพศ ฯลฯ และความเชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ หากขาดสิ่งนี้ไป ไม่ว่าแอคทิวิสต์เหล่านั้นจะมีชื่อเสียงหรือได้รับการยอมรับเพียงใด
เราก็ไม่อาจเรียกพวกเขาว่าเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย หรือผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มปาก

สังคมพม่าทุกวันนี้ยังติดอยู่กับความเกลียดชังและความกลัว อันเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม ที่ทำให้คนพม่าระแวดระวังชาวต่างชาติที่แตกต่างจากตนชัดเจน โดยเฉพาะชาวมุสลิม ข้อจำกัดนี้ทำให้แอคทิวิสต์พม่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเฉพาะที่คนพม่าที่ส่วนใหญ่เป็นคนพุทธได้ประโยชน์เท่านั้น น้อยคนนักที่จะละสองมาตรฐานและต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกันของผู้คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า นอกจากความพยายามลดอำนาจของกองทัพแล้ว อุปสรรคสำคัญที่สุดที่ยังตามหลอกหลอนขบวนการประชา ธิปไตยในพม่าก็คือทัศนคติที่มองคนไม่เท่ากันนี่เอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image