โควิด-19 กับการคุ้มครองทางสังคม สำหรับแรงงานข้ามชาติ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

โควิด-19 หรือโคโรนาไวรัสทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า รวมทั้งคนปลายแถวกลุ่มหนึ่งคือแรงงานข้ามชาติ (แรงงานต่างด้าวตามภาษาราชการ) ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร

แรงงานข้ามชาติมีความสัมพันธ์กับโควิด-19 ใน 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ ประเด็นแรก แรงงานข้ามชาติในฐานะต้นเหตุ เป็นตัวแพร่เชื้อโควิด-19 และอีกประเด็นหนึ่งคือแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่าจะเดือดร้อนอย่างไรและได้รับการดูแลเยียวยาหรือไม่อย่างไร ทั้งในแง่ของชีวิตความเป็นอยู่ สิทธิของมนุษยชนและมาตรฐานแรงงาน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกัน

ประเด็นแรก ในช่วงโควิด-19 ระบาด หลายคนโดยเฉพาะ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19) จับตาไปที่แรงงานข้ามชาติเป็นพิเศษเพราะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง

เมื่อ 25 เมษายน ศบค.พบผู้ต้องกักคนต่างด้าวที่ศูนย์กักคนเข้าเมือง อ.สะเดา สงขลา ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 42 ราย เป็นชาวเมียนมา 34 ราย เวียดนาม 3 ราย มาเลเซีย 2 ราย เยเมน 1 ราย กัมพูชา 1 ราย และอินเดีย 1 ราย และต่อมาเมื่อ 4 พฤษภาคม พบผู้ป่วยรายใหม่ในไทยเพิ่มขึ้นอีก 18 ราย ทั้งหมดเป็นคนต่างด้าวที่อยู่ในศูนย์กักกันด่านสะเดา นอกจากนั้น ยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ ตม.ที่ศูนย์ดังกล่าวติดเชื้อโควิด 19 จากการคุมตัวแรงงานข้ามชาติรายหนึ่งส่งกลับประเทศหลังคดีสิ้นสุด ทำให้ต้องกักตัวเจ้าหน้าที่ ตม.ของศูนย์ดังกล่าวกว่า 200 นาย

Advertisement

ปัจจุบันมีแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนามเกือบ 3 ล้านคน ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 7.2 แสนคน สมุทรสาคร 2.5 แสนคน นครปฐม 2.2 แสนคน ปทุมธานี 1.7 แสนคน นนทบุรี 1.7 แสนคน สมุทรปราการ 1.5 แสนคน ชลบุรี 1.4 แสนคน สุราษฎร์ธานี 1.0 แสนคน เชียงใหม่ 1.0 แสนคน และภูเก็ต 0.6 แสนคน ซึ่งในจังหวัดเหล่านี้ทางราชการได้เข้าไปทำการคัดกรองเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความระแวงว่าแรงงานข้ามชาติเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด-19 คือ การที่จำนวนผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ระลอกสองเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวหลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ในตอนแรก โดยเมื่อ 17 เมษายน สิงคโปร์พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 799 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 14,423 ที่สำคัญคือจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 799 ราย เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ (764 ราย) เป็นแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในหอพัก และต่อมาสิงคโปร์มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1,426 ราย ในวันเดียว ซึ่งกว่าร้อยละ 60 ของผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์สัมพันธ์กับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในหอพัก โดยสิงคโปร์มีแรงงานข้ามชาติระดับล่างอยู่มากกว่า 3 แสนคน กระจายอยู่ในหอพัก 43 แห่ง และในแต่ละห้องนอนอาศัยรวมกันกว่า 12-20 คน

สำหรับประเทศไทย ต้องแยกกันนะครับ ระหว่างคนข้ามชาติที่ถูกกักกันที่ศูนย์กักกัน กับแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย ซึ่งในกรณีหลังยังไม่มีตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อปรากฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมุทรสาครซึ่งคุยว่ามี “สมุทรสาครโมเดล” ที่ออกมาตรการและแนวทางต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการเพื่อการควบคุม ป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งล่าสุด ณ 9 พฤษภาคม สมุทรสาครไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่และตัวเลขผู้ป่วยจากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 18 รายกลายเป็นศูนย์แล้ว

Advertisement

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ 1) ชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานข้ามชาติ 2)ผ่อนปรนให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่และทำงานได้ต่อไปจนถึง 30 พฤศจิกายน 2563 3)ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยร่วมมือกับสภากาชาดไทย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันนำร่องในพื้นที่สมุทรสาคร และขยายความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19 4)ตรวจสอบแรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด 5)แจ้งมาตรการให้นายจ้างมีการคัดกรองลูกจ้างแรงงานข้ามชาติและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 6)ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานข้ามชาติ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง

อีก 4 มาตรการ เป็นมาตรการที่ใช้กับทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ คือ 7)ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ในสถานประกอบการ โดยขอความร่วมมือให้ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ลูกจ้าง เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค 8)ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 9)ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน และ 10)ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน

อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับมาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” เดือนละ 5 พันบาท 3 เดือน เพราะเงื่อนไขแรกในการรับการเยียวยาดังกล่าวคือ ต้องเป็นคนไทย ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงถูกทิ้ง
ประเด็นที่สองเป็นการมองแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 เป็นมุมมองที่เน้นการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อชีวิตความเป็นอยู่หรือไม่เพียงใด และได้รับการคุ้มครองและการเยียวยามากน้อยอย่างไร นอกเหนือจาก 10 มาตรการดังกล่าวข้างต้น

วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติมีความเชื่อมโยงกับการแพร่เชื้อโควิด-19 พอสมควร เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่กันแออัดและไม่ถูกสุขลักษณะ ห้องเช่าแบบสตูดิโอ (คือไม่กั้นห้อง) อาจอยู่กันกว่า 10 คน บางแห่งนายจ้างอาจจัดแคมป์ที่อยู่ให้อยู่รวมกันหลายๆ คน หรืออย่างกรณีของสิงคโปร์ แรงงานข้ามชาติจะอยู่หอพักรวมกันจำนวนมากไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ จึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงโควิด-19 ระบาด มีการปิดสถานที่ทำงานหรือโรงงานทำให้แรงงานข้ามชาติต้องอยู่กับบ้าน มีโอกาสกระจุกตัวมากขึ้น

ในเรื่องอาหารการกินแรงงานข้ามชาติและครอบครัวก็อาจดำรงชีวิตยากกว่ายามปกติเนื่องจากการปิดสถานประกอบการและการใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้านและโอกาสการสลับเวลาอยู่กับบ้านก็จะน้อยลง รวมทั้งการขาดรายได้มีผลให้บางคนถึงกับไม่มีอะไรจะกิน บางคนไม่มีเงินค่าเช่าที่พัก

NGO ที่ทำงานกับข้ามชาติ เช่น MWRN (Migrant Workers Right Network), FED (Foundation for Education and Development), AAC (Aid Alliance Committee), MMN (Mekong Migrant Network), MWG: Migrant Working Group และ LPN (Labour Right Promotion Network) ก็ไม่มีทรัพยากรที่แข็งแรงพอจะช่วยแรงงานข้ามชาติที่กำลังประสบเคราะห์กรรมเป็นจำนวนมากได้

ปัญหาใหญ่ของแรงงานข้ามชาติในขณะนี้คือการปิดสถานประกอบการ การเลิกจ้างและการว่างงานซึ่งทำให้ขาดรายได้

เมื่อเดือนเมษายน มีโรงงานที่จ้างแรงงานข้ามชาติปิดหลายแห่งและบางแห่งเบี้ยวค่าจ้างไม่ยอมจ่ายเอาดื้อๆ เมื่อไม่นานมานี้โรงงานอะไหล่รถยนต์ที่บางโฉลง สมุทรปราการ เลิกจ้างแรงงานเมียนมาเกือบ 200 คน อย่างกะทันหันและไม่จ่ายค่าจ้าง เมื่อแรงงานข้ามชาติเรียกร้องก็ได้รับคำตอบว่าอยากเรียกร้องก็เชิญแต่ไม่ให้ค่าจ้าง แรงงานเมียนมาคนหนึ่งบอกว่า เขายังไม่อยากกลับประเทศเพราะกลับไปก็ไม่มีงานทำ และเลือกที่จะรอจนกว่ารัฐบาลไทยจะเปิดให้ธุรกิจดำเนินต่อซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แต่ขณะนี้ “เราไม่มีข้าวจะกินแล้ว”

บางคนยังไม่อยากกลับประเทศเพราะกลัวตกงานรวมทั้งการกักตัวที่บ้านเกิด แต่เมื่อรัฐบาลไทยและรัฐบาลตนไม่ได้ช่วยเหลืออะไรก็คงไม่มีทางเลือก

ณ 7 พฤษภาคม มีแรงงานเมียนมา 2.7 หมื่นคน ไปลงทะเบียนกับสถานทูตเมียนมาเพื่อขอเดินทางกลับ แต่องค์กร MWRN บอกว่าขณะนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน

ในแง่ของการว่างงานและการประกันการว่างงาน แม้สำนักงานประกันสังคมจะแถลงว่าผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ทั้ง 4 กรณีคือ 1) นายจ้างเลิกจ้างหรือปิดกิจการ (ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง) 2) นายจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหยุดงานหรือกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด (ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง) 3) สถานประกอบการถูกรัฐสั่งหยุดประกอบกิจการเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (โควิด-19) (ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง) และ 4) การว่างงานจากสาเหตุลาออก (ร้อยละ 45 ของค่าจ้าง)

แต่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่รู้ว่าตนมีสิทธิประโยชน์ใดหรือจะขอรับสิทธิประโยชน์ได้อย่างไร แรงงานเมียนมาคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่ได้ยื่นขอเงินประกันการว่างงานเพราะไม่รู้วิธี

ยิ่งไปกว่านั้น การยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานต้องกรอกแบบฟอร์มเป็นภาษาไทย ต้องมีนายจ้างรับรอง

บางคนบอกว่าไม่รู้ว่าจะได้รับเงินประกันว่างงานเมื่อใด ถึงตอนนั้นอาจไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว

แรงงานข้ามชาติที่ประกันตน (ณ ธันวาคม 2562) มี 1.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 แรงงานข้ามชาติ 2.9 ล้านคน (ไม่นับแรงงานประมงทะเลและเกษตรที่ไม่มีสิทธิประกันสังคม) ในเดือนมีนาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติขอรับประโยชน์กรณีว่างงานประมาณ 4.2 หมื่นคน (คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากเป็น 1 แสนคนช่วงเมษายน-พฤษภาคม)

แต่จะมีแรงงานข้ามชาติกี่คนที่ได้รับเงินประกันการว่างงานไม่ทราบ

เพราะเงื่อนไขการรายงานตัวตามตารางนัดทุกครั้งเป็นความไม่สะดวกอย่างยิ่งสำหรับแรงงานข้ามชาติรวมทั้งคอมพิวเตอร์และระบบของสำนักงานประกันสังคมทำงานช้ามาก (ได้ข่าวว่าเร่งเครื่องแล้ว) ทำให้แรงงานข้ามชาติหลายคนกลับประเทศต้นทางไปและไม่สามารถกลับมาคอยรายงานตัวหรือพิสูจน์ว่าได้ออกหางานใหม่ได้

สงครามโรคโควิด-19 ครั้งนี้ รัฐบาลประสบความสำเร็จหลายเรื่อง แต่เสียเรื่องหนึ่งคือการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติ รัฐบาลยังไม่ได้คะแนน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image