นวัตกรรม สูบ-ส่งน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ แก้วิกฤตท่วม-แล้ง

นวัตกรรม สูบ-ส่งน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ แก้วิกฤตท่วม-แล้ง

มีหลายพื้นที่ในประเทศไทย ที่ประสบปัญหา ฤดูแล้งขาดน้ำ ดินแห้งผาก ทำการเกษตรอะไรก็ไม่ได้ผล แต่ครั้นเมื่อถึงฤดูฝนเมื่อฝนตกลงมา ไม่มีระบบบริหารจัดการน้ำ น้ำท่วมขังสร้างความเสียหายให้กับพืชผลอีก ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือ การขาดระบบกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ ทั้งเรื่องการอุปโภคบริโภค

ต.ป่ามะคาบ ต.ท่าฬ่อ อ.เมือง จ.พิจิตร และ ต.ไผ่ล้อม จ.พิษณุโลก ก็เป็นอีกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างที่กล่าวมา โดยในพื้นที่ 3 ตำบลแห่งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งต้องใช้น้ำจากคลองท่าหลวง คลองโกรงเกรง คลองไผ่ล้อม และจากแหล่งน้ำ หนอง และบึง มาใช้ทำการเกษตร แต่เนื่องจากประสบปัญหาสภาพแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ตื้นเขินมาก บางช่วงมีการพังทลายของตลิ่ง ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ส่วนในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำไหลผ่านคลองจำนวนมาก และสภาพคลองปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ประกอบกับหนอง บึง ก็มีสภาพตื้นเขิน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูง 1-1.5 เมตร และน้ำได้ไหลบ่าเข้าพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้ราษฎรในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และประสบปัญหาสภาพน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน จนเกิดความเสียหายเป็นประจำทุก ๆ ปี

กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยใช้หลักการโครงการแก้มลิง โครงการอ่างพวง โครงการประตูระบายน้ำ โครงการระบบเครือข่ายน้ำ มาเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ให้กับประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ และยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตร รวมทั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บกักและระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำบริเวณเขตพื้นที่โครงการ โดยมีแนวคิดดังนี้

1.โครงการแก้มลิง โดยการขุดลอกหนองน้ำ แหล่งน้ำ ที่เสื่อมโทรม ตื้นเขิน ให้สามารถรับน้ำนองในฤดูฝนไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอและเหมาะสม 2.โครงการอ่างพวง โดยการขุดลอก ห้วย คลอง เชื่อมหนองน้ำที่ทำการปรับปรุง ฟื้นฟู เชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยน้ำสามารถไหลถึงกันทั้งหมดเป็นระบบอ่างพวง 3.หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ใช้น้ำน้อย ส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งนำพืชผลการเกษตรมาบริโภคในครัวเรือน เมื่อเหลือจึงแบ่งขายเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือน ภายหลังโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ

Advertisement

โดยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. ได้ลงพื้นที่เพื่อส่งมอบโครงการถังเก็บน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงมอบถุงปันสุขให้ผู้แทน อบต.ทั้ง 3 ตำบล เพื่อให้พื้นที่สามารถกักเก็บน้ำระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี

นายวราวุธกล่าวว่า ทส. โดยกรมทรัพยากรน้ำหาทางลดค่าใช้จ่ายประชาชนในพื้นที่ เรื่องการส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก จึงได้นำเอานวัตกรรมการสูบส่งน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และการใช้เทคโนโลยีการเก็บสำรองน้ำในถังทรงแคปซูล ความจุน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความทนทานต่อแดด ลม ฝน และทนแรงดันสูง สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่ เพื่อส่งน้ำและกระจายน้ำไปยังพื้นที่แปลงเพาะปลูกให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้น้ำอย่างทั่วถึง

“โดยการดำเนินการครั้งนี้ ได้ประยุกต์นวัตกรรมการออกแบบให้ตอบรับกับความต้องการของผู้ใช้งาน ผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า BIM หรือ Building Information Modeling โมเดลสามมิติที่สร้างงานก่อสร้างเสมือนจริง จึงสามารถวางแผนการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ ลดต้นทุนการก่อสร้างให้น้อยที่สุด พร้อมกับเพิ่มความสุขให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมา ในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจในช่วงออกแบบได้เป็นอย่างดีแล้วนั้น ข้อมูล BIM ผนวกกับข้อมูลด้าน GIS นี้ยังสามารถใช้ในการบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างยั่งยืน และยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายอื่น รวมทั้งการติดตามการใช้น้ำ การบริหารจัดการน้ำโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย” นายวราวุธกล่าว

Advertisement

นายวราวุธกล่าวว่า ค่าลงทุนสำหรับการพัฒนาโครงการนี้ รวมทั้งสิ้น 704.241 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,332 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลประโยชน์ รวมทั้งสิ้น 49,936 ไร่ ประชาชนในเขตพื้นที่โครงการได้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร การอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้กับประชาชนในเขตพื้นที่โครงการทั้ง 3 ตำบล สามารถลดระดับน้ำท่วมเฉลี่ยจาก 1.50 เมตร เป็นไม่ท่วมเลย และยังพัฒนาพื้นที่การเกษตร ยกระดับให้ประชาชนได้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล ให้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเกิดการใช้ประโยชน์อย่างสมดุล

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image