“หมอบุ๋ม” เผย คนไทยต้องช่วยกันท่องเที่ยวในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ

“หมอบุ๋ม” เผย คนไทยต้องช่วยกันท่องเที่ยวในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญคือ การป้องกันตัวอย่างที่เน้นย้ำมาตลอดคือการสวมหน้ากากอนามัย โดยหากสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ผู้ที่ติดเชื้อก็จะไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น และผู้ที่ไม่ติดเชื้อก็จะไม่ไปรับเชื้อจากผู้อื่นเช่นกัน ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการล็อกดาวน์ โดยให้ปิดสถานที่ท่องเที่ยว กิจการ/กิจกรรม สร้างความเครียดให้กับประชาชน โดนขณะนี้มีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1-3 อนุญาตให้กิจการ/กิจกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวเปิดให้บริการมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี คนไทยทุกคนจะได้ออกไปผ่อนคลาย คลายเครียด รวมถึงครอบครัวได้ออกไปใช้เวลาพักผ่อนร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และอีกเรื่องคือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ตอนนี้มีแต่คนไทยด้วยกันเอง ที่จะช่วยกันได้ในเรื่องของเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยว แต่ที่จะต้องเน้นย้ำคือการท่องเที่ยวจะต้องคำนึงถึง จำนวนผู้คนในแต่ละพื้นที่ หากไปในสถานที่ที่มีผู้คนเยอะ ก็จะรู้สึกเครียด กลัวว่าจะมีการติดเชื้อหรือไม่ จะมีการสัมผัสใกล้ชิดกันหรือไม่ ดังนั้นการเว้นระยะห่าง และเลี่ยงไปสถานที่แออัด รอให้คนอื่นเที่ยวไปก่อนและเราไปเที่ยวในสถานที่อื่นก่อน ก็จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และสิ่งที่สำคัญในการเดินทางไปในที่ต่างๆ คือ การสวมหน้ากากอนามัย งดการสัมผัสใบหน้า ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงเลี่ยงการไปสถานที่แออัด” พญ.พรรณประภา กล่าว

พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า การใช้แพลตฟอร์ม/แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ในช่วงแรกอาจไม่คุ้นชิน ในการจะต้องถือโทรศัพท์ไปสแกนคิวอาร์โค้ดตลอด แต่ว่าสิ่งที่จำเป็น คือ การเช็กอิน จะช่วยประเมินความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่นั้นได้ เพื่อการสอบสวนโรคที่รวดเร็วขึ้นหากพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ โดยข้อมูลเหล่านี้จะเก็บไว้ที่กรมควบคุมโรคเป็นระยะเวลา 60 วัน ในส่วนที่เป็นการเช็กเอ้าท์ ผู้ใช้งานมักจะลืมอยู่บ่อยครั้ง แต่การเช็กเอ้าท์มีความสำคัญคือ หากเข้าไปเช็กอินแล้วแต่ไม่ได้เช็กเอ้าท์ออก ก็จะเป็นข้อมูลความหนาแน่นของประชากร ที่จะแสดงในระบบจนกว่าจะมีการเช็กเอ้าท์ออก

Advertisement

“การลืมเช็กเอ้าท์ เท่ากับว่าพื้นที่นั้นจะมีความหนาแน่นตลอดเวลา ไม่เปิดโอกาศให้ผู้อื่นเข้ามาใช้บริการ ดังนั้นการเช็กเอ้าท์ จะเป็นการช่วยลดข้อมูลอัตราการเข้าใช้บริการให้แก่สถานประกอบการ เพื่อเป็นข้อมูลที่แท้จริง รวมถึงการเช็กเอ้าท์จะเป็นการบันทึกข้อมูลจริง ว่าเราอยู่ในพื้นที่นั้นนานเท่าไหร่ หากมีผู้ติดเชื้อเดินทางมา หลังจากที่เราเช็กเอ้าท์ออกไปแล้ว เราก็จะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งปกติแล้วการตรวจพบผู้ติดเชื้ออาจจะผ่านไป 7-14 วันแล้ว เราอาจจำไม่ได้ว่าเราไปร้านนั้นมา เวลาใด วันที่เท่าไหร่ เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ ดังนั้นการใช้แอพพลิเคชั่นจะช่วยเราจดจำข้อมูลได้” พญ.พรรณประภา กล่าว

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า วันนี้ก่อนออกจากบ้านไปท่องเที่ยว อย่าลืมสองมือ ที่จะสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ รักษาระยะห่าง และ ใช้สองมือหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image