ทั่วโลกร่วมปกป้องมหาสมุทรให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ทส.ย้ำไม่ใช่แค่ดูแลที่เหลือ ต้องฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมด้วย

ทั่วโลกร่วมปกป้องมหาสมุทรให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 ทส.ย้ำไม่ใช่แค่ดูแลที่เหลือ ต้องฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมด้วย

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม(สส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานเปิดงานวันทะเลโลก โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเข้าร่วมงาน

นายวราวุธ กล่าวเปิดงานว่า สหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันทะเลโลก เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจ ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล โดยในปี 2563 ได้กำหนดการจัดงานภายใต้ธีมการจัดงาน Innovation for a Sustainable Ocean หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร” ซึ่งทั่วโลกต่างเรียกร้องให้ผู้นำประเทศออกมาปกป้องมหาสมุทร และกำหนดแผน 30×30 เป็นการปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้เป็นเขตปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่ปลอดภัยจากการตักตวงประโยชน์ของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นแผนระหว่างปี 2564 – 2573 โดยทั่วโลกจะต้องร่วมปกป้องมหาสมุทรไว้ให้ได้ตามแผน สาระสำคัญไม่ใช่แค่ปกป้องจากสิ่งที่เรามีอยู่ แต่ทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรมเราต้องฟื้นฟูด้วย ซึ่งความเสื่อมโทรมเหล่านี้มาจากกิจกรรมการท่องเที่ยวของมนุษย์ การประมง การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ปะการังฟอกขาว เป็นต้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า พบปัญหามากมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในไทย จากการใช้ประโยชน์จากท้องทะเลเพื่อการท่องเที่ยว การดำรงชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างรายได้ปีละหลายแสนล้าน ซึ่งถึงเวลาที่เราต้องดูแลธรรมชาติให้กลับคืนมาบ้าง ที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งการออกกฎหมาย การจำกัดนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนที่ขณะนี้มีพื้นที่ป่าชายเลนสมบูรณ์ 1.53 ล้านไร่ จากพื้นที่ 2.86 ของพื้นที่ป่าชายเลนทั่วประเทศ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่แต่เดิมมีปัญหาเป็นระยะทางยาวกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งทาง ทช. ได้แก้ปัญหาจนขณะนี้เหลือเพียง 80 กิโลเมตร การดูแล 8 กลุ่มหาดทะเล

Advertisement

“ช่วงโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการงดการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลให้เราพบเห็นสัตว์ป่า และสัตว์ทะเลหายากมากขึ้น ทั้งฝูงพะยูนเกือบ 20 ตัวที่เกาะลิบง จ.ตรัง ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำมากกว่า 30 ตัว โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำใกล้เกาะรอก ฝูงฉลามวาฬ จำนวนมาก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และ ฝูงฉลามหูดำ เข้ามาหากินที่หมู่เกาะพีพี และเกาะห้อง จ.กระบี่ และการวางไข่ของเต่ามะเฟือง เต่าตนุ กว่านับแสนฟองในช่วงระยะเวลาแค่ 2 เดือน รวมทั้งทรัพยากรปะการังที่เริ่มฟื้นฟูตัวเอง” นายวราวุธ กล่าว

รัฐมนตรี ทส. กล่าวว่า ผืนทะเลกว้างใหญ่มีสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ขนาดเล็กจนตาเรามองไม่เห็น ไปจนถึงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10,000 ตัว และอาจจะมีสิ่งมีชีวิต ที่เราไม่เคยพบเจออีกก็เป็นได้ การดูแลท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เพียงแค่เจ้าหน้าที่ภาครัฐคงยากที่จะดูแลได้หมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งภาคเอกชน และทุกประเทศทั่วโลก ทะเลเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ผลจากการกระทำของเรา สามารถส่งผลกระทบไปได้ไกลกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้การจัดการปัญหาง่ายและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ปรับพฤติกรรมของเรา เพื่อส่งคืนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์สู่ลูกหลานเราต่อไป

ด้านนายโสภณ กล่าวว่า ภายในงานทช. ได้จัดแสดงนิทรรศการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ระบบพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์กับการเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว การประยุกต์ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียม เป็นต้น ทั้งนี้กรมทช. พร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาล และสานต่อการปฏิบัติงานตามพันธกรณีที่ประเทศได้ร่วมลงนามความตกลง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่และยั่งยืน พร้อมส่งต่อให้เยาวชนรุ่นต่อไป

Advertisement

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image