ป.ทลายแก๊งปลอมเอกสารขอสินเชื่อธนาคารเสียหายกว่า 3 พันราย เสียหายนับ10ล้าน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน ที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป.พร้อม พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา ผกก.2 บก.ป. และ พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น.ร่วมแถลงผลการจับกุม น.ส.นุชนาฏ เอมสุ่น อายุ 27 ปี,น.ส.นางนวล จันทร์ตัง อายุ 39 ปี ผู้ต้องตามหมายจับศาลอาญาที่ 779,778/2563 ลง 5 มิ.ย.63 ในข้อหา “ร่วมกันนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ , ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม”,น.ส.วิริน ไหกระโทก อายุ 43 ปี และนายกุณฑล บุญยะจิตติ อายุ 50 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสกลนคร ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชนและแสดงตนเป็นบุคคลอื่นโดยทุจริต และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ” โดยจับกุม น.ส.นุชนาฏ ได้ที่บ้านพัก ม.4 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุม น.ส.นางนวล ได้ที่บ้านพักใน ซ.สุขุมวิท-พัทยา 19/1 ม.2 ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จับกุม น.ส.วิริน ได้ที่บ้านพัก ม.2 ซ.ธรรมดา ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และจับกุมนายกุณฑล ได้ที่บ้านพัก ม.7 ต.หนองปลาไหล อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

พ.ต.อ.เอนก กล่าวว่า คดีนี้มีประชาชนผู้เสียหายกว่า 3,000 ราย ทั่วประเทศ ร้องทุกข์กับตำรวจกองปราบและตำรวจสืบสวนนครบาลว่าถูกกลุ่มผู้ต้องหาที่อ้างว่าสามารถติดต่อให้เจ้าหน้าที่ธนาคารปล่อยเงินกู้หรือทำสินเชื่อกับธนาคาร หรือทำเอกสารเพื่อประกอบการยื่นกู้ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินแตกต่างกันไปตามจำนวนเงินที่ต้องการจะกู้ บางรายมีค่าดำเนินการสูงถึงหลักแสนบาท รวมมูลค่าเสียหาย 10ล้านบาท

พ.ต.อ.เอนก กล่าวต่อ กลุ่มผู้ต้องหาจะโฆษณาลงในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ เมื่อติดต่อไปก็จะขอชื่อ-นามสกุลของเหยื่อไปทำเอกสารปลอม เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือนจากบริษัท และรายการเดินบัญชีธนาคาร ก่อนส่งไฟล์เอกสารปลอมไปที่อีเมล์ของเหยื่อ เมื่อเหยื่อนำเอกสารไปยื่นกู้ที่สถาบันการเงินต่างๆ ก็ถูกปฏิเสธไม่อนุมัติเนื่องจากเป็นเอกสารปลอม

Advertisement

ทั้งนี้จากการสืบสวนพบว่าผู้ต้องหาจะแบ่งหน้าที่กันเป็นขบวนการ ทำหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ เปิดบัญชีรับโอนเงิน และทำเอกสาร ทั้งนี้ไม่พบว่าคนร้ายเคยทำงานกับธนาคารมาก่อน แต่เป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งได้ก่อเหตุกันมานานหลายปีแล้ว

นายปราโมทย์ ลลิกิตติ ประธานชมรมป้องกันทุจริตบัตรเครดิตภายใต้สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเครดิตต่างๆ ของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นมีขั้นตอนมากมาย ซึ่งการอนุมัติวงเงินสูงนั้นยิ่งทำให้การทำเรื่องขอกู้ไม่ง่าย ฝากเตือนประชาชนว่า การนำเอกสารปลอมมายื่นกับสถาบันการเงินก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมายด้วย ทั้งนี้พบว่าสลิปเงินเดือนที่คนร้ายปลอมขึ้นมานั้นมีลักษณะเป็นสลิปคาร์บอน ระบุรายรับรายจ่ายเหมือนของบริษัทจริง แต่ยังมีจุดต้องสงสัยหลายอย่างที่ทำให้ธนาคารจับผิดได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการปลอมเอกสารเดิมๆ ไม่มีวิธีการแปลกใหม่

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image