จีนกำหนดมณฑลไห่หนาน เขตทดลองการค้าเสรี เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

 

การที่รัฐบาลจีนได้ประกาศแผนการพัฒนามณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ให้เป็นเขตทดลองการค้าเสรี คือการเปิดกว้างนโยบายครั้งยิ่งใหญ่เป็นประวัติกาล อันหมายความรวมทั้งการสนับสนุนให้เป็นเขตปลอดภาษี การเคลื่อนย้ายประชากร และการโอนย้ายเงินทุน ตลอดจนการนำเข้าสินค้าบางประเภทอันมีสินค้าบริโภคเป็นอาทิ จักได้รับการยกเว้นภาษี สินค้าปลอดภาษีอนุญาตให้เพิ่มขึ้นจากคนละ 3 หมื่นหยวนเป็น 1 แสนหยวน บริษัทที่จดทะเบียนในไห่หนานและภาษีบุคคลธรรมดาลดลงเหลือ 15% และส่งเสริมธุรกิจด้านโทรคมนาคม โดยการยกเลิกกำแพงภาษี เพื่อปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไม่ให้ถูกช่วงชิงตลาดจากสินค้านำเข้า

นักวิเคราะห์เห็นว่า มาตรการดังกล่าวเสมือนเป็นการเตรียม “ยางอะไหล่”

เตรียมเพราะความศิวิไลซ์ของฮ่องกงกำลังถดถอยอันเนื่องจากปัญหาทางการเมือง

Advertisement

แต่ความจริง มาตรการพัฒนาไห่หนานเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจีนเตรียมการมานานหลายปีก่อนที่ฮ่องกงจะเกิดปัญหาประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังแผ่นดินใหญ่

เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ปักกิ่งตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก

แผนการพัฒนาไห่หนานของรัฐบาลกลาง

Advertisement

เริ่มตั้งแต่ 1984 โดยรัฐบาลกลางทำการเปิดเมืองชายฝั่งทะเล 14 แห่ง ในขณะที่ไห่หนานยังเป็นเมืองขึ้นกับมณฑลกวางตุ้ง อันได้รับนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลางในเรื่องปลอดภาษี

นโยบายปลอดภาษีนำเข้าสินค้าของไห่หนานได้กลายเป็นโอกาสให้บรรดาพ่อค้าประเภทฉวยโอกาสนำเข้ารถยนต์ปลอดภาษี หากเป็นการทุจริตในเชิงนโยบาย

เมื่อนำรถยนต์ปลอดภาษีเข้ามาแล้ว ก็ส่งไปขายยังแผ่นดินใหญ่ ต้นทุนต่ำกำไรสูง

ถือกันว่าเป็นโอกาสทองในสมัยนั้น สร้างความร่ำรวยให้กับพ่อค้าที่นำรถยนต์เข้าโดยใช้สิทธิของนักลงทุน ข้าราชการกรมศุลกากรที่มีหน้าที่เซ็นอนุมัติพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

ต่อมา 1988 ไห่หนานยกระดับเป็นมณฑล และได้กลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน บรรดานักฉวยโอกาสจึงแห่กันลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เรือกสวนไร่นาได้กลายเป็นแผ่นดินทอง ปั่นราคากันจนถึงจุดอิ่มตัว เพราะอุปทานมากกว่าอุปสงค์

ล่าสุด เมื่อ 31 ธันวาคม 2009 รัฐบาลกลางได้สถาปนาให้ไห่หนานเป็น “เกาะท่องเที่ยวนานาชาติ” โดยกำหนดนโยบายพิเศษเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นเหตุให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บูมขึ้นมาอีกวาระหนึ่งจนเกิดฟองสบู่ กระทบเศรษฐกิจโดยรวม

นโยบายเขตการค้าเสรีได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อครั้งประธานา ธิบดีสี จิ้นผิง เยือนไห่หนานเนื่องในโอกาสยกระดับเป็นมณฑลครบรอบ 30 ปี เมื่อเดือนเมษายน 2018

เกาะไห่หนานมีเนื้อที่ 3.59 หมื่นตารางกิโลเมตร เล็กกว่าเกาะไต้หวัน มีจำนวนประชากร 9 ล้านเศษ ภาวะเศรษฐกิจล้าหลังกว่าฮ่องกง ผลิตภัณฑ์มวลรวมของปี 2019 เท่ากับเศษ 1 ส่วน 5 ของฮ่องกง หากมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจต่อแผ่นดินใหญ่

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว “เติ้ง เสี่ยวผิง” อดีตผู้ยิ่งใหญ่ของจีน มีความเห็นว่า หากทำการพัฒนาเศรษฐกิจของไห่หนานให้เจริญรุ่งเรือง ก็เสมือนเป็นการยืนยันให้พี่น้องชาวไต้หวันเห็นถึงจุดเด่นของนโยบายแผ่นดินใหญ่

วันนี้ เศรษฐกิจและการเมืองโลกาภิวัตน์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ การทดลองให้ไห่หนานเป็นเขตการค้าเสรีนั้นย่อมต้องมีวัตถุประสงค์

ตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็ได้ชูธง America First มาตลอด

สหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่น นับวันเหินห่างจากองค์การการค้าโลก (WTO) และดูเหมือนกำลังเตรียมก่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้น กอปรกับกระแสโลกอันได้แก่ การปลอดภาษี การขจัดสิ่งกีดขวางทางการค้า ตลอดจนมาตรการยกเลิกเงินชดเชย กลายเป็น
กระแสที่มาแรง

ประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และจะต้องมาประสบพบพานกับสถานการณ์ที่ท้าทายเช่นว่า จึงต้องทำการปรับเปลี่ยน

การปรับเปลี่ยนของจีนจึงสอดคล้องกับโวหารของ “ชาลส์ ดาร์วิน” นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ว่า “การจะอยู่รอดของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายมิใช่กลุ่มที่แข็งแรงที่สุด หรือมีสติปัญญาดีที่สุด หากเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง” (It is not the strongest species that survive, nor the most intelligent, but the ones most responsive to change)

อย่างไรก็ตาม การพัฒนามณฑลไห่หนานให้เป็นเขตการค้าเสรีประเภทประสมประสาน ยังต้องถือว่าเป็นการค้นหาความจริงจากสัจธรรม ส่วนจะมีความสำเร็จหรือไม่ น่าติดตาม

ไห่หนานคือเกาะที่อยู่ใต้สุดและเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีน นิยมเรียกกันว่า “ไหหลำ”

ไห่หนานเป็นเกาะเดี่ยวไม่ติดกับแผ่นดินใหญ่ ระยะทางห่างกันเพียง 11 ไมล์ทะเล อยู่ใกล้กับประเทศไทย ถ้าออกเดินทางจากไทยไปจีนจะถึงไห่หนานก่อน แล้วผ่านฮ่องกงไปยังจีน

หลังการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ไห่หนานเป็นเมืองขึ้นตรงมณฑลกวางตุ้ง

สถานะบ้านเมืองกึ่งหนึ่งเป็นเกษตร กรรม กึ่งหนึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

หลังจากเหตุการณ์ “สึนามิ” เมื่อ 2004รัฐบาลเริ่มพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ทำการตลาดชักชวนให้นักท่องเที่ยวมาที่ไห่หนานแทนประเทศไทย

ทัวร์ไห่หนานเริ่มติดตลาด มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นเป้าหมายหลักของจีน เรือล่มในหนองทองไม่ไปไหน

หลังจากสภาผู้แทนประชาชนมณฑลไห่หนานได้ผ่านร่างกฎหมายให้เป็น “สถานที่ท่องเที่ยวนานาชาติ” เมื่อต้นปี 2011 ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาไห่หนานมากอยู่แล้วมากยิ่งขึ้น ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นเป็นรายวัน โดยเฉพาะที่เมืองชายทะเลซันย่า (Sanya)

เป้าหมายของนักท่องเที่ยวที่มาไห่หนานก็คือไปเที่ยวเมืองชายทะเลซันย่า อยู่ทางตอนใต้ของมณฑลไห่หนานและใต้สุดของประเทศจีน ห่างจากตัวเมือง 280 กม.

ปัจจุบันมีรถไฟความเร็วสูงใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าเครื่องบินดาโกต้าสมัยก่อน

นอกจากนี้ ไห่หนานยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง อาทิ อ่าวพระจันทร์ สุดหล้าฟ้าเขียว

เป็นที่นิยมของคนจีนเมืองเหนือที่รวยใหม่มาหลบลมหนาว และหนีเมียเที่ยว

ซันย่ามีจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่หลายประการ

ประการ 1 เป็นเมืองที่มีพื้นที่ต่ำ ฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด หินสวยน้ำใส ห้วยหนองคลองบึงทะเลและพื้นที่เมืองอยู่ติดกันหมด นิยมเรียกกันว่า “ฮาวายตะวันออก” และได้รับขนานนามว่าเป็น “เมืองท่องเที่ยวดีเด่น” เดี๋ยวนี้ได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนชายทะเล สถานที่ตีกอล์ฟ ดำน้ำเล่นสกี อาบน้ำแร่ ตากลมชมวิวของเมืองร้อน และการแสดงพื้นเมือง วัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ฯลฯ และยังเป็นที่นิยมของคนเมืองเหนือที่มีอันจะกินมาพักผ่อนหย่อนใจ

ประการ 1 อากาศดี ไม่มีมลพิษ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมโลกขององค์การสหประชาชาติได้ทำการประเมินจาก 48 ประเทศ ในจำนวน 158 เมืองที่สำคัญชี้ว่า คุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองซันย่ามาเป็นอันดับที่ 1 ของจีน และเป็นที่ 2 ของโลก

ปี 2003 ซันย่าได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมดีเด่นจากรัฐบาลกลาง คนเมืองเหนือที่กระเป๋าหนักจึงแห่กันมาซื้อบ้านพักอาศัยไว้สำหรับหลบลมหนาว บางรายซื้อไว้เพื่อเก็งกำไร

จึงทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นเป็นทวีคูณ

ประการ 1 เป็นแหล่งกำเนิดความงามของโลก ตั้งแต่ 2003 เป็นต้นมา รัฐบาลเมืองซันย่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดนางงามโลกมาตลอด ประสบความสำเร็จทุกครั้ง ได้จัดการประกวดชุดบิกินีนานาชาติ มีนางงามจากทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันรวมประมาณ 35 ประเทศ

ประการ 1 แสงอาทิตย์ที่เจิดจ้าของเมืองซันย่านับเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่สวรรค์ประทานให้ เมืองซันย่ามีแสงอาทิตย์ส่องทั้งปีรวมประมาณ 2,560 ชั่วโมง ถือว่าอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศที่ได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “แดนอาทิตย์อุทัย” และเป็นเมืองที่ส่งออกซึ่งแสงพระอาทิตย์

อีกประการ 1 ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมือง “อยู่มั่นขวัญยืน” จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรของประเทศจีนเมื่อ 2004 คนไห่หนานมีอายุยืนที่สุดของจีน ซึ่งอยู่ที่เมืองซันย่าใน “หมู่บ้านหนานซาน”

จากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 ผู้สูงวัยที่อายุเกิน 100 ปี ที่รับเบี้ยยังชีพที่หมู่บ้านหนานซานรวมทั้งท้องถิ่นอื่นในไห่หนานมีจำนวนถึง 2,093 คน

อย่างไรก็ตาม แม้ไห่หนานได้มีการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวมาแล้วเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ยังมีจุดอ่อนอีกมาก เช่น ปัญหาทางด้าน Soft Environment งานด้านการบริการยังมีความหย่อนยาน ตลอดจนเรื่องภาษา เป็นต้น พนักงานโรงแรมที่สามารถพูดภาษาอังกฤษยังมีไม่มาก

ส่วนจุดเด่นและที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว คือปี 1993 รัฐบาลกลางได้อนุมัติให้จัดสร้างองค์พระปฏิมากวนอิมขึ้นที่กลางทะเลของเมืองซันย่า บริเวณภูเขาหนานซาน ตั้งอยู่หน้าวัดหนานซาน ซึ่งมีกวนอิมองค์เดิมประทับอยู่ โดยมีชื่อว่า “กวนอิมกลางทะเลหนานไห่” องค์พระปฏิมากวนอิมมีความสูง 108 เมตร ตระหง่านอยู่กลางทะเล ฐานขององค์พระมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 120 ตารางเมตร หนึ่งองค์มีถึง 3 หน้า ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และสูงที่สุดในโลก พุทธศาสนิกชนไม่มีปัญหาในการกราบไหว้บูชา สะดวกด้านไหนก็ไหว้ด้านนั้น

เหตุที่ตั้งองค์พระไว้กลางทะเลใต้เพราะตามตำนานมีว่า ในพระธรรมตถาคตจารึกไว้ว่า กวนอิม ได้ทรงตั้งพระปณิธานไว้ข้อหนึ่งว่า “จะต้องพำนักที่ทะเลใต้อย่างเป็นนิรันดร์”

องค์พระปฏิมากวนอิมได้ใช้ทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง 800 ล้านหยวน ทีมงานก่อสร้างได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรมของพุทธศาสนา ศิลปหัตถกรรม การก่อสร้าง และการแกะสลักตลอดจนการรวมสิ่งที่ดีที่สุดในโลกเข้าด้วยกันอยู่ในองค์ปฏิมาเดียวกัน ทั้งนี้ ได้เน้นหนักในเรื่องการสืบทอดหลักธรรม แนวคิดใหม่และพระธรรมมารวมอยู่ในองค์เดียวกัน โดยได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมแห่งสงฆ์ ศิลปกรรมและเทคนิคสมัยใหม่มารวมเข้าด้วยกัน การก่อสร้างคงทนถาวร ป้องกันพายุและแผ่นดินไหว ตำนานกล่าวว่า กวนอิมมีพระเมตตาจิตสูง ผู้ที่สักการบูชาจะได้รับความเมตตา มหานิยม แคล้วคลาดอุปัทวันตราย

ถ้าจะกล่าวว่า The Statue of Liberty (เทพธิดาแห่งเสรีภาพ) ที่แม่น้ำฮัตสันในนครนิวยอร์กเป็นเอกลักษณ์แห่งอิสรภาพ และความเสมอภาคแล้ว องค์พระปฏิมากวนอิมที่กลางทะเลเมืองซันย่าก็น่าจะเป็นเอกลักษณ์แห่งความสันติภาพและอานุภาพแห่งไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา องค์พระปฏิมายังมีความสง่าไฉไลตระการตายิ่งนัก

“กวนอิมกลางทะเล” นอกจากเป็นศูนย์กลางที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนในแถบเอเชียอาคเนย์ และยังเป็นศูนย์รวมธรรมที่ใหญ่สุดของโลก การมีพุทธปฏิมากลางทะเลนั้นเป็นการบรรลุแล้วซึ่งพระราชประสงค์ตามพระธรรมตถาคต ยังเป็นการเผยแพร่หลักธรรมของพุทธศาสนาที่ดียิ่ง และเป็นการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวอีกโสตหนึ่ง

“ซันย่า” ฮาวายตะวันออก มีจุดเด่นหลายประการที่เหนือกว่า “ฮาวาย” ของแท้สหรัฐ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ที่ฮาวายภาวะแวดล้อมมลพิษเลวร้าย ปัญหายาเสพติดนับวันมากขึ้น ส่วนซันย่านำเอาศาสนามาหล่อหลอมเข้ากับทิวทัศน์ธรรมชาติ ห้วยหนองคลองบึง อากาศบริสุทธิ์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจคลายเครียดอย่างแท้จริง สิ่งดีที่ฮาวายมีซันย่าก็มี แต่สิ่งที่ซันย่ามีฮาวายไม่มี ติอย่างเดียวคือการประกวดชุดบิกินี ไม่เหมาะสม เพราะอยู่ใกล้องค์พระปฏิมา

ส่วนพื้นที่โดยรอบของเกาะไห่หนานอากาศดี ปราศจากมลพิษ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมโลกได้จัดให้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก

ก็เพราะรัฐบาลจีนต้องการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของไห่หนานอย่างจริงจัง จึงได้อนุญาตให้นิติบุคคลและเอกชนสามารถใช้เครื่องบินส่วนตัวเป็นพาหนะได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการให้ความสะดวกในการขนส่งสินค้า ธุรกิจอื่น ฯลฯ

อาหารทะเลสดๆ รสชาติอร่อย ก็เป็นอีกจุดขายหนึ่งของธุรกิจท่องเที่ยว

“จานเด็ด” ของเกาะไห่หนาน 4 อย่างที่ไม่ควรพลาดคือ ไก่ เป็ด ปู และเนื้อแพะ

กล่าวกันว่าถ้าไม่ลองลิ้มชิมรสจานเด็ด ถือว่าไปไม่ถึง “เกาะไห่หนาน”

กรณีจึงเหมือนกับไปปักกิ่งไม่กิน “เป็ดปักกิ่ง” ไปเทียนจินไปกิน “ซาลาเปาหมาเมิน”

คนจีน “ไห่หนานของแท้” ที่บ้านเกิด มีความรักต่อคนไทย ผูกพันกับคนไทย ส่วนหนึ่งเกี่ยวโยงเป็นญาติ ส่วนหนึ่งเกี่ยวโยงเป็นเพื่อน

ข้าราชการระดับสูงบางคนที่มณฑลไห่หนานเป็น “ลูกเขย” ของคนไทย ไปมาหาสู่กันใกล้ชิดสนิทสนม เขามีความสำนึกผูกพัน และรักเมืองไทยมากกว่าคนไทยบางคน

“คนจีนไห่หนาน” ของแท้ส่วนใหญ่มีอุปนิสัยใจคอละม้ายกับชาวเกาะในประเทศแถบ South Pacific เช่น ฟิจิ ปาปัวนิวกินี เป็นต้น สภาพภูมิอากาศก็มีความใกล้เคียงกัน

อีก 1 เรื่องที่จะอดพูดถึงไม่ได้คือ มีอีกเมือง 1 ของไห่หนานชื่อ “โป๋อ้าว”ได้รับฉันทามติจากสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติให้จัดการประชุมที่เรียกว่า “Boao forum for asia” สำหรับผู้นำประเทศเอเชียและภูมิภาคอื่น เพื่อเปิดโอกาสให้อภิปราย แสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ

เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2001 และจัดขึ้นทุกปี เว้นปี 2003 ไม่ได้จัด

มีผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละครั้งประมาณ 2,000 คน ซึ่งได้แก่ ผู้นำต่างประเทศ ผู้แทนการค้าและอุตสาหกรรม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการสาขาต่างๆ

ประเทศและภูมิภาคที่เข้าร่วมประชุมนอกจากประเทศเจ้าภาพคือจีน ได้แก่ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อังกฤษ มาเก๊า อินเดีย ออสเตรเลีย รัสเซีย เดนมาร์ก สหรัฐ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ

อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็เคยได้รับเชิญให้ไปร่วมการประชุมที่โป๋อ้าว ในขณะที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งหมาดๆ รัฐบาลจีนก็เชิญอย่างเสียไม่ได้ แต่บุชหลงใหลได้ปลื้มชมเชยรัฐบาลจีนว่ายังไม่ลืมเพื่อนเก่า

ขอตัดกลับมาที่ประเด็น “เขตทดลองการค้าเสรีไห่หนาน”

เห็นว่ารัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีวิสัยทัศน์อันยาวไกล เพราะสิ่งแวดล้อมและเงื่อนไขทางธรรมชาติเหมาะสมกับเจตนารมณ์

บัดนี้ จีนได้ลงนามในสัญญาการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ หรือภูมิภาคประมาณ 25 แห่ง และกำลังเป็นจ่าฝูงเดินสายรวบรวมบรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อลงนามในข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ (RCEP) ตลอดจนเขตการค้าเสรีจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ สภาพบ้านเมืองและการเมืองมีความแตกต่างกับฮ่องกง กล่าวคือ ไห่หนานจะต้องดำเนินตามอุดมการณ์ของพรรคโดยเคร่งครัด ยืนหยัดลัทธิสังคมนิยมแบบประสมประสาน และต้องห้ามด้วยคตินิยมในประการที่จะทำลายระบบสังคมนิยมเป็นอันขาด

จึงน่าเชื่อว่า การทดลองเป็นเขตการค้าเสรีของไห่หนานน่าจะได้รับความสำเร็จและเป็นจุดนำร่องแก่มณฑลอื่นต่อไป

กาลจะเป็นเครื่องพิสูจน์

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image