ครม.เศรษฐกิจนัด 10 ก.ค.ถกฟื้นศก.หลังโควิด คลัง-ธปท.จ่อยืดพักหนี้ 2 ปี

ครม.เศรษฐกิจนัด 10 ก.ค.ถกฟื้นศก.หลังโควิด คลัง-ธปท.จ่อยืดพักหนี้ 2 ปี ขณะที่หอค้าชี้ปลดล็อก 5 เฟสเงินสะพัด2.7แสนล./เดือน

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง ระบุว่า ในวันที่ 10 กรกฎาคม เวลา 10.30 น. จะประชุม ครม.เศรษฐกิจ โดยพิจารณา 2 เรื่องคือ 1.ติดตามภาวะเศรษฐกิจ และ 2.เรื่องของเอสเอ็มอี เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังโควิด-19 คลี่คลายและติดตามภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจ ว่า ยังมีอีกหลายจุดในมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ลงไปลึกในระดับท้องถิ่น อยากให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปพิจารณาว่า จังหวัด หรือท้องถิ่นต่างๆ ต้องการการสนับสนุนหรือช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง และให้กรมสรรพากร ช่วยคิดนโยบายการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในชุมชน เพราะอำนาจซื้ออยู่ระดับบน ขณะที่ข้างล่างลำบาก ฉะนั้น จึงอยากให้คนที่มีอำนาจซื้อ มีเงินสะสมเยอะ ใช้จ่ายมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการบริโภคเพื่อให้เงินกระจายไปสู่พี่น้องที่ลำบากกว่า ขอให้กรมสรรพากร และ สศค. เสนอแนวทางดังกล่าวไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อส่งเสริมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว

“ส่วนเรื่องที่เอกชนขอให้สถาบันการเงินขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไป 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ธปท. และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามหยุดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่รอให้ธุรกิจปิดกิจการไปก่อนค่อยแก้ปัญหา โดยเชื่อว่า หลายอย่างจะดีขึ้น” นายสมคิด กล่าว

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เรื่องการขยายเวลาพักชำระหนี้นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ต้องมองในระยะยาวไว้ก่อน เพราะในภาวะวิกฤตที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งเบื้องต้นมีแนวทางการช่วยเหลือมากกว่า 1 แนวทาง และจะขยายเวลาพักชำระหนี้ให้กับทุกกลุ่ม แต่ขอเวลาให้ ธปท. พิจารณาอีกสักระยะ

Advertisement

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ว่า สถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ต่อเนื่องมาถึงเฟส 5 แล้ว ประเมินว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยและสร้างเม็ดเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 2.7 แสนล้านบาทต่อเดือน ส่วนสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวไทย ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินเงินสะพัดได้ ยังเร็วเกินไป รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อได้หรือไม่ ยังต้องรอประเมินผลหลังจากเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะต้องดูจำนวนการเดินทางมากหรือน้อย แต่จะเห็นความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นต่อการใช้มาตรการ รวมถึงภาคส่งออกก็ยังไม่ชัดเจนว่าครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร แม้คลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ทิศทางดูไม่ดีเท่าที่ควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image