‘บอร์ดองค์การค้า’ อนุมัติจ่ายเงินชดเชย 1 แสน ให้ 961 พนักงานทันที ยันไม่เสียสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมาย

‘บอร์ดองค์การค้า’ อนุมัติจ่ายเงินชดเชย 1 แสน ให้ 961 พนักงานทันที ยันไม่เสียสิทธิฟ้องร้องตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคม นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษกศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วน เป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท ให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยเร็วที่สุด โดยจะให้มีการเบิกจ่ายค่าชดเชยได้ภายในวันนี้ทันที ไม่ต้องรอการเบิกจ่ายในปลายเดือนกรกฎาคมตามวงรอบบัญชีเงินเดือนแต่อย่างใด ทั้งนี้พนักงานสามารถไปเซ็นสัญญา เพื่อรับเงินดังกล่าวที่องค์การค้าทันที และขอยืนยันว่าจะเยียวยาตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ได้แสดงความห่วงใยว่าแม้การเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม แต่ระหว่างนี้ หากพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถมีเงินก้อนที่จ่ายให้ล่วงหน้าก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมและมีเงินสำรองก่อนที่จะได้เงินชดเชยตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำเงินนี้ไปจัดสรร หรือบริหารการเงินส่วนตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ และถือเป็นการแบ่งเบาภาระ หรืออาจจะช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่บางคนสามารถเริ่มดำเนินกิจการทางธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ทางคณะกรรมการองค์การค้า ได้หารือกันโดยละเอียด โดยคำนึงถึงสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และพิจารณาถึงแนวทางที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีมติเห็นชอบในการกำหนดการจ่ายค่าชดเชยออกเป็น 2 กลุ่ม เต็มจำนวนตามกฎหมายกำหนด โดยใช้เงื่อนไขอายุการทำงานละเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ กลุ่มเจ้าหน้าที่ ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน

“สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท การพิจารณาจ่ายเงินต่างๆ ทางสกสค. อนุมัติให้ยืมเงินดังนี้ ค่าชดเชยต้องใช้เงินกว่า 423 ล้านบาท และค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่ จำนวนกว่า 861 ล้านบาท รวมแล้วต้องใช้จำนวนเงินกว่า 1,285 ล้านบาท และยังคงสิทธิในการพิจารณาค่าการทำงานในวันพักร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดคำนวณเพิ่มเติม ซึ่งทางองค์การค้า ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้ ทั้งนี้จะมีไม่การยุบองค์การค้าแน่นอน”นายประเสริฐ กล่าว

Advertisement

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า การดำเนินการทุกอย่าง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เห็นใจพนักงานทุกคนมาก ซึ่งการเลิกจ้างนั้นไม่เกี่ยวข้องกับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ถ้าเลิกจ้างก่อนหน้านี้ จะสร้างผลกระทบต่อการจัดส่งหนังสือกว่า 35 ล้านเล่ม แต่เมื่อหนังสือได้ส่งถึงมือนักเรียนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย จึงพิจารณาเห็นว่าจำนวนพนักงานที่คงเหลือ ประมาณ 25% ของพนักงานทั้งหมดเพียงพอ และถ้าปล่อยให้ขาดทุน 3-5 ปี หนี้ที่มีอยู่กว่า 6,700 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้าน หากเลิกจ้างในเวลานี้ จะไม่มีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้าน ซึ่งจะยุติการค้าทุนขององค์การค้าไปได้

นายประเสิรฐ กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหาร สกสค. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง นายอดุลย์ บุสสา ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้า โดยมอบหมายภารกิจเร่งด่วน ให้จัดทำแผนฟื้นฟูการบริหารจัดการ และแผนการดำเนินธุรกิจขององค์การค้า และให้เสนอคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ภายใน 30 วัน โดยแผนที่นำเสนอ หากจำเป็นต้องมีแผนงานด้านบุคลากร ที่จะมีผู้เกษียณในปีนี้กว่า 50 คน ผู้อำนวยการองค์การค้าต้องวางแผนต่อไปว่าต้องการจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวนกี่คน และถ้าต้องการจ้างใหม่เพิ่มเติม ก็สามารถประกาศรับสมัครได้ ซึ่งพนักงานเดิมที่ออกไป มีสิทธิสมัครเข้ามาทำงานได้ แต่ต้องยอมรับในกฎเกณฑ์กติกาใหม่ด้วย คือต้องรับอัตราเงินเดือนและสวัสดิใหม่ทั้งหมด ซึ่งทางคณะกรรมการจะต้องรอพิจารณาแผนโดยละเอียดอีกครั้ง

ด้านนายธนพร สมครี รองเลขาธิการ สกสค. กล่าวว่า ช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารองค์การค้า ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานขององค์การค้า ที่ขาดทุนต่อเนื่องกว่า 15 ปี จึงได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมีแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การหยุดกิจการ 2.ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป และ 3.การปรับองค์กรด้วยลดจำนวนพนักงาน

Advertisement

“แนวทางแรกคือการหยุดกิจการเลย แล้วนำทรัพย์สินที่มีออกขายเพื่อชำระหนี้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องตกงาน และองค์การค้า ก็เหมือนจะถูกยุบไปเลย แต่ สกสค. ในฐานะนิติบุคคลขององค์การค้า ยังคงต้องรับผิดชอบในหนี้ 6,700 ล้านบาททั้งหมด ซึ่งจะได้คืนเพียงมูลค่าทรัพย์สินขององค์การค้า เช่น ที่ดิน เป็นต้น แนวทางที่สอง ยังคงเดินหน้ากิจการต่อไปตามเดิม ซึ่งจะยังคงประสบกับภาวะขาดทุนไปเรื่อยๆ โดยขาดทุนปีละประมาณ 300-400 ล้านบาท อาจจะทำให้ยอดหนี้สูงถึง 1 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลาอันใกล้ นั่นหมายความว่า สกสค.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด และมีครูทั่วประเทศที่นำเงินมาฝากไว้ จะได้รับผลกระทบจากยอดหนี้ที่สูงมากขึ้น และแนวทางที่สาม คือการปรับองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจเลือกแนวทางที่สาม เพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ต่อไปได้” นายธนพร กล่าว

“การเปิดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ รับเงิน 100,000 บาทนั้น พนักงานเจ้าต้องเซ็นในเอกสารฉบับหนึ่ง คือ บันทึกการรับเงินเยียวยาจากการเลิกจ้างเป็นพนักงานองค์การของ สกสค. ซึ่งในเนื้อหาระบุว่า ข้าพเจ้า … ตำแหน่ง … พนักงานองค์การค้าของ สกสค. ได้ถูกเลิกจ้างตามคำสั่งขององค์การค้า ที่ 85/2563 ลงวันที่ 29 มิถุนายน และคำสั่งที่ 86/2563 ลงวันที่ 30 มิถุนายน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนั้น เนื่องจากองค์การค้า มีนโยบายช่วยเหลือเยียวยาพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์ขอรับเงินเยียวยาดังกล่าว และได้รับเงินดำกล่าวแล้วจำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้เยียวช่วยเหลือเยียวดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยบางส่วนที่จะได้รับรวมทั้งเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จหรือเงินอื่นใดที่มีสิทธิได้รับจากองค์การค้า โดยองค์การค้าสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปหักลบหนี้กับค่าชดเชยและเงินอื่นใด ที่ข้าพเจ้าพึงจะได้รับดังกล่าว ซึ่งผมกังวลใจในเรื่องนี้ เพราะอาจมีผู้ไม่ประสงค์ดี บิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้พนักงานกังวลที่จะเซ็นเอกสาร ซึ่งจะทำให้พนักงานเสียสิทธิของตนไป” นายธนพรกล่าว

ด้านนายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า บันทึกการรับเงินเยียวยาที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเซ็นเพื่อรับเงินนี้ เป็นบันทึกที่ตรงตามความจริง และไม่ตัดสิทธิพนักงานเจ้าหน้าที่ในการฟ้องร้อง หากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าการกระทำนี้ไม่ถูกต้อง สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ เพียงแต่ว่าเงิน 3 ส่วน ที่พนักงานจะได้รับในวันที่ 31 กรกฎาคม คือ 1.เงินชดเชยจากการบอกเลิกจ้าง 2.ค่าบำเน็จที่ได้รับจากสวัสดิการของพนักงาน และ3.เงินบำเหน็จของพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อสัญญาณจ้างสิ้นสุด ซึ่งเงินชดเชยและค่าบำเน็จที่ได้รับจากสวัสดิการของพนักงาน เมื่อถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้รับทันที แต่ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตัดสินใจฟ้องร้อง เช่น ฟ้องเรื่องของการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือฟ้องร้องว่านายจ้างไม่มีสิทธิเลิกจ้างนั้น เงินบำเหน็จเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง องค์การค้าอาจจะไม่สามารถจ่ายในส่วนนี้ได้ เพราะต้องรอให้ศาลตัดสินก่อน

“เดิมองค์การค้า เป็นองค์กรที่ผูกขาดได้พิมพ์ตำราเรียนเพียงผู้เดียวทั่วประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้กำไรมาโดยตลอด แต่เมื่อพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ออกมาและกำหนดว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นเสรี เอกชนจึงฟ้องศาลปกครองว่าการที่ ศธ.ให้องค์การค้าผูกขาดการพิมพ์ตำราเรียนเพียงแห่งเดียวนั้นผิดกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองตัดสินว่าการพิมพ์ตำรานั้นจะต้องเปิดเสรี จึงทำให้องค์การค้าเริ่มขาดทุนนับตั้งแต่นั้น ทั้งนี้พนักงานจะไม่รู้สึกว่าองค์การค้าไม่ขาดทุน เพราะได้ยืมเงินจากองค์กรหลัก คือ สกสค.มาบริหารจ่ายเงินเดือนของพนักงานมาตลอด ซึ่งในเวลานี้ องค์การค้าได้ยืมเงิน สกสค.มากว่า 3,400 ล้านบาท และจะต้องยืมอีกกว่า 1,200 ล้านบาทเพื่อนำมาจ่ายค่าชดเชยและค่าบำเน็จให้พนักงานอีก” นายสมบูรณ์ กล่าว

นายสมบรูณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเงินเดือนมิถุนายนที่พนักงานยังไม่ได้รับ มีปัญหาด้านข้อกฎหมายคือ จาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2562 กำหนดว่าหากนายจ้างหยุดงานบางส่วนหรือทั้งหมด ให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้าง 75% ซึ่งการหยุดนั้นต้องไม่ใช้เหตุสุดวิสัย แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงาน ออกกฎมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน กำหนดให้การหยุดงานของนายจ้างเป็นเหตุสุดวิสัย อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และให้พนักงานใช้สิทธิประโชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตรา 62% ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมถึงวันที่ 31 สิงหาคม กับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แทน

“เมื่อองค์การค้า รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้า รับทราบว่า ได้สั่งพนักงานหยุดงานและจ่ายเงินทดแทน 75% แต่คณะกรรมการบริหารองค์การค้า แย้งว่าการหยุดงานครั้งนี้ต้องใช้สิทธิของ สปส.หรือไม่ เพราะตามกฎหมายที่กำหนดนั้น องค์การค้าไม่ต้องจ่ายเงินเลย ซึ่งทางองค์การค้าได้ทำหนังสือแจ้งพนักงานให้ไปรับเงินจำนวน 62% จาก สปส. ทำให้เงินเดือนมิถุนายนมีปัญหาอาจจะติดขัดไปบ้าง ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้า จึงอนุมัติจ่ายเงิน 100,000 บาท ให้พนักงานในวันนี้ เพื่อช่วยเหลือพนักงานในเบื้องต้นก่อน” นายสมบรูณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image