การคุ้มครองทางสังคมเพื่อความเท่าเทียม เส้นทางสู่การฟื้นฟูและความสามารถในการฟื้นตัวกลับคืน : โดย โธมัส ดาวิน – แกรม บัคเลย์

 

แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเช่นกัน คำถามในขณะนี้คือ ประเทศไทยจะฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบทางสังคมที่กระเทือนถึงกันอย่างเป็นลูกโซ่ได้อย่างไร?

การคุ้มครองทางสังคม คือ นโยบายและโครงการต่างๆ ที่มุ่งปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกคนจากภาวะความยากจนและความเปราะบาง เช่น การให้เงินเยียวยา หรือการประกันสังคม ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักของการรับมือด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ในประเทศไทย เช่นเดียวกับนานาประเทศทั่วโลก

รัฐบาลไทยนับเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่ออกมาตรการคุ้มครองทางสังคมอย่างเร่งด่วนและหลากหลายเพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ ตั้งแต่มาตรการแจกเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน ให้กับแรงงานนอกระบบและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการขยายความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่มีอยู่แล้วภายใต้กองทุนประกันสังคม ทั้งหมดนี้ถือเป็นการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ตลอดจนคุ้มครองกลุ่มผู้ใช้แรงงานและครอบครัวของพวกเขา

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่ผู้มีสิทธิรับเงินสนับสนุนจากโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็ก เบี้ยยังชีพคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญและน่ายินดียิ่ง เพราะการยกระดับมาตรการทางสังคมเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น ให้เงินเพิ่มเติม 1,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน จะช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวเปราะบางซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง

แม้ว่ามาตรการเยียวยาดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดครั้งใหญ่นี้ แต่ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการพึ่งพิงการค้ากับตลาดโลกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค จากการประเมินครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า GDP ไทยจะติดลบถึง 5-6% ในปีนี้ และเตือนถึงความเสี่ยงที่การจ้างงานจะหายไปสูงถึง 14.4 ล้านตำแหน่งภายในเดือนกันยายน

ในขณะที่พิษเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับ ทว่า ท่ามกลางสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกันดำรงอยู่ คนบางกลุ่มย่อมได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าและมีแนวโน้มว่าชีวิตจะยากลำบากกว่าเดิม ดังที่เราได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในเวลานี้แล้วว่าวิกฤตนี้ส่งผลกระทบอย่างแสนสาหัสต่อผู้คนและครอบครัวที่เคยดำรงชีวิตแบบปากกัดตีนถีบอยู่แล้ว แน่นอนว่าวิกฤตครั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

Advertisement

บทพิสูจน์จากวิกฤตเศรษฐกิจในอดีตทำให้เราประจักษ์แล้วว่า การคุ้มครองทางสังคมเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ การกระตุ้นดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังบริโภคและการเข้าถึงบริการสำหรับครอบครัว และช่วยขับเคลื่อนภาคธุรกิจท้องถิ่นที่กำลังดิ้นรนพลิกฟื้นธุรกิจของตนเองให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง ณ ห้วงเวลานี้บทบาทของการปกป้องทางสังคมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศย่อมมีความจำเป็นมากกว่าครั้งใดในอดีต เพราะการลงทุนจากต่างชาติและอุปสงค์จากทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง และต้องมีการพึ่งพาการลงทุนจากภาครัฐและการบริโภคจากภาคประชาชนในประเทศมากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยจะมีแนวโน้มเช่นนี้ไปในอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ระยะเวลาถัดไปนับจากวิกฤตครั้งนี้ควรเป็นโอกาสของการทบทวนรากฐานความคิดและการปฏิรูประบบคุ้มครองทางสังคม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดให้มีความสามารถยืดหยุ่นปรับตัวรับมือได้ หากต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอีกในอนาคต นอกจากนี้ ยังถือเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย

ตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตในภูมิภาคนี้ ดังเช่น ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีได้ขยายเงินบำนาญและประกันสังคมหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วเอเชียในปี 2540 เช่นเดียวกับประเทศจีนได้ใช้มาตรการแก้ปัญหาแบบเดียวกันทั้งระบบประกันสุขภาพและเงินบำนาญในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเตรียมความพร้อมให้ประเทศรับมือกับวิกฤตในอนาคตได้ดีขึ้น ประเทศไทยได้ดำเนินการลักษณะเดียวกันด้วยการจัดสรรเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงวัยทุกคนแบบไม่มีข้อยกเว้นในปี 2552 และในห้วงวิกฤตครั้งสำคัญนี้ ประเทศไทยจะทำอะไรได้บ้าง?

ประการแรก ระบบการให้เงินเยียวยาควรครอบคลุมถึงกลุ่มครอบครัวและบุคคลจำนวนมากที่ต้องกลายมาเป็นกลุ่มเปราะบางและตกอยู่ใต้เส้นความยากจนจากผลกระทบของโควิด-19 ตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนคือ ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 มีครอบครัวที่มีลูกเล็กจำนวนมากที่ไม่เข้าข่ายว่าเป็นกลุ่มยากจนหรือเปราะบาง จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กในช่วงภาวะวิกฤตนี้ ดังนั้น การขยายเงินอุดหนุนให้แก่ทุกครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่าหกปี นับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการปกป้องสวัสดิภาพของครอบครัวที่มีบุตร เพราะระบบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าจะช่วยปกป้องและสนับสนุนพัฒนาการของเด็กในช่วงเวลาวิกฤต ช่วยลดโอกาสที่กลุ่มครอบครัวยากจนจะตกหล่น ช่วยทำให้ระบบการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ครอบครัวเหล่านี้อาศัยอยู่ให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างแข็งแรงมากขึ้นเช่นกัน

ประการที่สอง วิกฤตในปัจจุบันทำให้เห็นถึงความท้าทายที่กลุ่มแรงงานนอกระบบต้องเผชิญชัดเจนยิ่งขึ้น เราจะเห็นจำนวนแรงงานนอกระบบที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือใครและจะเข้าถึงได้อย่างไร ถึงเวลาแล้วที่เราจะบูรณาการกลยุทธ์เพื่อสร้างระบบแรงงานและธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการรวบรวมแรงงานทุกคนไว้ภายใต้ระบบประกันสังคม และปรับกลไกต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการ งานวิจัยในหลายประเทศในแถบนี้พบว่าการจัดการแรงงานและธุรกิจอย่างเป็นระบบจะนำมาซึ่งผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าเดิมเช่นกัน

ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับโควิด-19 ควรเป็นสิ่งที่เรานำมาพิจารณาเพื่อสร้างระบบที่เข้มแข็งและยั่งยืน ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพอันเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตานานาประเทศต่อการเป็นผู้นำในการรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจสังคมได้อย่างน่าชื่นชม และนี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในการสร้างมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวและการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงทีอีกครั้ง

โธมัส ดาวิน
ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
แกรม บัคเลย์
ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ
ประจำประเทศไทย กัมพูชา
และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image