เศรษฐกิจไทยอ่วม! จ่อติดลบ 10.3% หวั่น “สึนามิ” เอสเอ็มอีไปไม่รอด คาดหวังงบฯ 4 แสนล้าน
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม จากปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ในส่วนของประเทศรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการและใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งยังต้องจับตาว่าจะแก้ปัญหาได้มากน้อยอย่างไร
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ก.ค. นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้หารือเพื่อปรับยุทธศาสตร์ให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในการปรับตัวรองรับผลกระทบหลังโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนแปลงหลายด้าน พบว่าความกังวลหลักยังคงกังวลเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ที่ไทยและโลกยังเผชิญกำลังซื้อที่ลดต่ำลง อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไม่สามารถประคองตัวเองให้อยู่รอดได้ อาจนำไปสู่สึนามิเศรษฐกิจในที่สุด
“แม้ไทยและหลายประเทศเริ่มคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจการส่วนใหญ่กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจได้ แต่เศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งไทยและโลก ยังคงส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดต่ำ และโควิด-19 ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด ไทยเองพึ่งพิงการส่งออกและท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อาจทำให้ธุรกิจบางราย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี อาจต้องปิดกิจการ จะกระทบต่อเนื่องเป็นสึนามิเศรษฐกิจแต่จะรุนแรงระดับไหน ต้องดูผลจากมาตรการรัฐในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจนับจากนี้” นายเกรียงไกรกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ธุรกิจที่มีทุนสำรองมากพอ และธุรกิจที่เป็นไฮเทคโนโลยี ดิจิทัล สุขภาพ การแพทย์ อาหาร จะมีโอกาสรอดสูง ที่เหลือจะต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยน นโยบายของแต่ละประเทศที่เน้นพึ่งพาตนเองมากขึ้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ดังนั้นมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ พยุงธุรกิจ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเร่งด่วน ทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้ยาวเป็น 2 ปี การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ การตลาด เทคโนโลยี
งบฟื้นฟูต้องคัดกระตุ้นได้จริง
นายเกรียงไกรกล่าวว่า เดิมงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทที่อยู่ในงบ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เป็นอีกหนึ่งความหวังของเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้คงจะต้องติดตามใกล้ชิดเพราะมีโครงการมายื่นขอสนับสนุนงบสูงถึง 1.36 ล้านล้านบาท หลายฝ่ายจับตาการคัดเลือกโครงการ ซึ่งเอกชนหวังว่าจะเป็นโครงการที่กระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลจริงลงสู่ท้องถิ่น และดำเนินการโปร่งใส ถ้างบดังกล่าวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลต่ำ ย่อมไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
วิจัยกรุงศรีคาดศก.ลบ10.3%
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมากว่า 1 เดือน และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่มาตรการเฝ้าระวัง เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม การระงับการบินระหว่างประเทศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ยังกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วิจัยกรุงศรีปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัว 10.3% ต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียปี 2541 แต่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตที่ 2.9% ในปี 2564
แทรเวลบับเบิลช่วยฟื้นปี64
นายสมประวิณกล่าวว่า วิจัยกรุงศรีมองว่าจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งขึ้นเกิน 10 ล้านรายและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดการระบาดรอบสองในหลายประเทศ อาจทำให้การบังคับใช้มาตรการห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศนานกว่าที่คาดไว้ จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก ประเทศไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง จึงเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางมากจากผลกระทบของโควิด-19 โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยในปีนี้ลดลงถึง 83% แม้เปิดประเทศด้วยการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทาง (แทรเวลบับเบิล) แต่คาดว่ากลางปี 2564 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงน้อยกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน
แรงงาน 30% ได้รับผลกระทบ
นายสมประวิณกล่าวว่า การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผลกระทบทางลบที่ส่งต่อไปยังภาคหลายส่วน อาจทำให้แรงงานในไทยประมาณ 80% ได้รับผลกระทบในช่วงที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 จากเดิมคาดไว้ที่ 50% และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะยังมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบประมาณ 30% จากเดิมคาดไว้ที่ 10% จะส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนและความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ระดับต่ำสุดที่ 0.5% และการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินต่างๆ น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม หลังจากพ้นช่วงเวลาของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ SMEs คาดว่าหนี้สินของภาคธุรกิจและหนี้สินของภาคครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงานและภาคการเงินของประเทศ
“การระบาดของโควิด-19 คาดจะฉุดให้เศรษฐกิจไทยหดตัว 10.3% แล้ว ปัจจัยเรื่องความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและปัญหาภัยแล้งจะส่งผลให้การเติบโตของจีดีพีลดลงอีก 1% และ 0.4% ตามลำดับ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยออกมา คาดว่าจะหนุนให้เศรษฐกิจโตได้ 1.7% นโยบายการเงินและการคลังที่ประกาศออกมาอาจไม่เพียงพอในการยับยั้งการถดถอยของเศรษฐกิจ และอาจไม่มากพอจะกระตุ้นให้การเกิดการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน วิจัยกรุงศรีจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรูปแบบตัวยู แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเปลี่ยนไปเป็นการฟื้นตัวแบบตัวแอล จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงและยาวนานเกินกว่าที่คาดไว้” นายสมประวิณกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทีมชาติไทยซ้อมจบสกอร์ ก่อนดวลฟิลิปปินส์ ศึกคิงส์คัพ พรุ่งนี้
- เร่งล่าตัว ผู้ต้องหาคดียาเสพติด อ้างขอไปกินข้าวกับลูก เพื่อนพาหนีระหว่างนำตัวส่งอัยการ
- สภาหมื่นล้านอ่วม ฝนเทกระหน่ำ น้ำรั่วไหลนองเต็มทางเดิน โซฟาหน้าห้องกมธ.เปียกแฉะ
- สมเกียรติ ตั้งเป้า 2 ปีแรกปรับตัวลุยโมโตจีพี หวังสลัดเดี้ยงสู้ศึกโฮมเรซปีนี้