นักสิทธิสตรี ชี้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ศักดิ์และสิทธิไม่เท่า ‘จดทะเบียนสมรส’ ตอกย้ำพลเมืองชั้น 2

พ.ร.บ.คู่ชีวิต

นักสิทธิสตรี ชี้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ศักดิ์และสิทธิไม่เท่า ‘จดทะเบียนสมรส’ ตอกย้ำพลเมืองชั้น 2

พ.ร.บ.คู่ชีวิต – เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า การต่อสู้เพื่อให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน สามารถมีสิทธิก่อตั้งครอบครัวได้มีมายาวนานหลาย 10 ปี เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ….ในหลายรัฐบาลแต่ก็ถูกตีตกไปตลอด ฉะนั้นการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. จึงถือเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็ไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง อย่างการระบุว่า จดทะเบียนเป็นคู่ชีวิต ไม่ใช่จดทะเบียนสมรส ตรงนี้ทำให้ศักดิ์และสิทธิต่างจากคู่สมรสของคนรักต่างเพศ หรือชายและหญิงในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการขออุ้มบุญ ที่ยังเปิดให้ผู้ที่เป็นคู่สมรสเท่านั้น เรื่องสิทธิประโยชน์จากรัฐ ที่ข้าราชการจะขอค่ารักษาพยาบาลให้คู่ชีวิตไม่ได้ เป็นต้น ฉะนั้นแม้จะเป็นที่น่ายินดีว่า จะมีการบรรจุในร่างล่าสุดเรื่องการขอรับบุตรบุญธรรมได้ แต่ก็ยังถือเป็นร่างกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองอยู่

นางสาวนัยนา เผยอีกว่า จริงๆ ทางออกของเรื่องนี้คือ การแก้ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดก ในมาตรา 1448 ที่ระบุว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปี บริบูรณ์แล้ว” เปลี่ยนคำว่า ผู้ชายและผู้หญิง ให้เป็นบุคคลและบุคคล จะเป็นการแก้ที่หลักใหญ่ กว่าการมีกฎหมายทางเลือกให้คนหลากหลายทางเพศ ที่ยังคงตอกย้ำความไม่เท่าเทียมในสังคม

แต่ทั้งนี้ ก็เชื่อว่ากลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือแอลจีบีที บางส่วนจะรู้สึกยินดีกับร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะคิดว่ามีก็ดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะอย่างน้อยก็จะมีสิทธิเพิ่มขึ้น เช่น การเซ็นเพื่อขอรับการรักษาของผู้ป่วย ในกรณีที่เราไม่ใช่ญาติ และคู่สมรส หากมีกฎหมายนี้ก็จะสามารถเซ็นแทนได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์คู่ชีวิตที่จะได้ อย่างภาคเอกชนที่เริ่มรองรับเรื่องนี้ เช่น สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ที่ให้ตั๋วเครื่องบินฟรีเป็นสวัสดิการแก่คู่ชีวิต ที่รับรองถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในส่วนของภาครัฐ คงต้องรอดูในรายละเอียดของร่างกฎหมายต่อไป

ด้าน นายรณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ตามพ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 กล่าวว่า การผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ของคณะรัฐมนตรี หากมองในมุมนักวิชาการถือว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับโครงสร้าง ที่พูดถึงความเท่าเทียมในการสมรส ซึ่งอยู่ในช่วงที่บริบทในสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ นับว่าไม่มีข้อเสีย และไม่กระทบต่อคนที่นิยามตัวเองว่าเป็นชาย หรือหญิง ผนวกกับแรงขับเคลื่อนระดับระหว่างประเทศ ซึ่งหลายชาติผ่านกฎหมายแล้ว จะเป็นตัวชี้วัดได้ว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จะต้องขอดูร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อน เนื่องจากไม่ทราบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมส่วนไหนจากร่างของกระทรวงยุติธรรมบ้าง เพราะร่างของกระทรวงยุติธรรม ยังไม่มีสิทธิ และสวัสดิการบางอย่าง เช่น ความชัดเจนเรื่องการรับบุตรบุญธรรม สิทธิ์ในกองทุนประกันสังคม เบื้องต้นทราบว่าได้เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไปด้วย ก็จะเป็นการเปิดช่องให้คลายล็อกที่มีอยู่ได้

“ในกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียฉบับนี้ ก็มีแนวคิดที่แตกออกไป กระแสส่วนใหญ่มองว่า การมีกฎหมายออกมาก่อน แล้วไปแก้ไขทีหลัง เหมือนตัดถนนออกมา แม้จะเป็นถนนลูกรัง ก็ให้มีใช้ไปก่อน กับอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มองว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ยังให้สิทธิไม่เต็มที่ มองว่าเป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อใช้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เหมือนเป็นการเลือกปฏิบัติ

“ควรจะไปแก้ไขที่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มากกว่า ซึ่งการที่มีกฎหมายคู่ชีวิตออกมาก่อน จะทำให้ยากต่อการแก้ไขในอนาคต ควรให้สมบูรณ์แบบค่อยแก้ไขทีเดียวดีกว่า อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้เห็นชอบโดยครม.แล้ว ก็ยังต้องเข้าสภา ขณะเดียวกันมีร่างพ.ร.บ.ที่พรรคก้าวไกลเสนออีกหนึ่งฉบับ ซึ่งฉบับหลังยื่นสภาโดยตรง ขณะนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่มีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากถึง 50,000 ความเห็นแล้ว ต้องรอดูว่าสภาจะผ่านฉบับไหน แล้วคณะกรรมาธิการที่ร่างกฎหมายนี้ จะนำทั้ง 2 ฉบับมาปรับปรุงอย่างไร จึงจะสามารถออกความเห็นต่อไปได้ และอยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้นำร่างมาคลี่ให้ประชาชนดู” นายรณภูมิ กล่าว

Advertisement

นายรณภูมิ กล่าวต่อว่า หากถามถึงผลลัพธ์ การผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี เป็นการสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชน ได้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจ เป็นแรงกระเพื่อมให้ครอบครัวที่มีลูกเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐบาลก็ยังยอมรับ มากกว่านั้น ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต จะเป็นการเปิดประตูให้นำไปต่อยอดกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้านามที่กำลังตามมา เหมือนว่า สภามีการรับรองเรื่องนี้มาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายรณภูมิ กล่าวว่า สิ่งสำคัญจากนี้คือ ภาคประชาชนต้องติดตามการทำงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย จะลักลั่นหรือไม่ ที่ผ่านมามีกรณีที่กฎหมายประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่กระทรวงผู้รับผิดชอบไม่ออกประกาศ-กฎกระทรวง ทำให้ใช้งานไม่ได้ นี่คือสิ่งที่้ต้องจับตาต่อไป นอกจากนี้ต้องตั้งโจทย์ไว้เลยว่า หาก 5 ปี หลังใช้แล้วไม่สำเร็จ ต้องแก้ไข เช่นเดียวกับกฎหมายอื่นๆ ที่เป็นที่รู้กันของสภา ถ้าดีไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่ดีก็ต้องแก้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอนั้น ในโลกออนไลน์ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย โดยในเฟซบุ๊กกรุ๊ป ข่าวความหลากหลายทางเพศ ผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนหนึ่ง ได้ตั้งคำถามว่า คู่ชีวิตเท่ากันกับคู่สมรสหรือไม่ และควรไปแก้กฎหมายแพ่งมากกว่าหรือไม่ ขณะที่ในทวิตเตอร์ มีการติดแฮชแทก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต และวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหลากหลาย จนขึ้นอันดับ 2 ในทวิตเตอร์ในเวลาไม่นาน โดยมองว่ายังไม่ได้รับสิทธิในบางประการ และสนับสนุน การสมรสที่เท่าเทียมมากกว่า

นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เห็นชอบกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image