การแก้ปัญหาเพื่อดำเนินชีวิตวิถีใหม่ โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงแรกผู้บริหารแต่ละประเทศใช้วิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน

ทั้งในการควบคุมและป้องกัน ต่อมาเมื่อการระบาดผ่านไประยะหนึ่ง ผลที่เกิด
ทำให้สามารถสรุปได้ว่าแนวทางจำกัดการระบาดต้องใช้มาตรการควบคุมการเคลื่อนที่ของประชาชนอย่างเข้มงวดและทยอยผ่อนคลายเป็นช่วงๆ ไป โดยถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเพื่อทำให้เกิดภูมิต้านทานในคนส่วนใหญ่ขึ้นมาเอง ตัวเลขของความสูญเสียจะสูงจนไม่น่าจะยอมรับได้ และวิถีชีวิตใหม่ โดยใช้หน้ากากอนามัย การเว้นระยะทางสังคม ตลอดจนใช้ข้อมูลการติดตามตัวในลักษณะต่างๆ จะช่วยป้องกันการติดโรค และแพร่กระจายเชื้อได้ในระดับที่น่าพอใจจนกว่าจะสามารถคิดค้นยารักษาและวัคซีนป้องกันโรคได้

การทำการค้าและดำเนินธุรกิจในภาวะปกติทั่วไป จะมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและพัฒนาการดำเนินการตามวงจรเศรษฐกิจและอาจมีรูปแบบการดำเนินการที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศดังตัวอย่าง เช่น การเก็บรังนกนางแอ่น ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ทั่วไปตามเกาะเล็กเกาะน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาได้มีพัฒนาการที่สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทยโดยปรับแต่งอาคารที่พักอาศัยของมนุษย์ให้เหมาะสำหรับการเข้าทำรังของนกนางแอ่น ทำให้การเก็บรังนกเป็นไป
อย่างสะดวกและปลอดภัยกว่าเดิม การเลี้ยงปลาในทะเลโดยใช้ตาข่ายล้อม ดำเนินการโดยประเทศออสเตรเลียและบางประเทศในยุโรปก็เป็นนวัตกรรมในการเลี้ยงปลาที่นอกจากจะเพิ่มผลผลิตแล้วยังเป็นการใช้พื้นที่ในทะเลให้เกิดประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย แต่พัฒนาการเหล่านี้ใช้ระยะเวลานานพอสมควร แตกต่างกับวิกฤตด้านสาธารณสุขในครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม

อย่างรวดเร็วและรุนแรงทำให้ธุรกิจบางประเภทประสบกับสภาวะเกือบล่มสลาย ต้องใช้เวลาการฟื้นฟูนานพอสมควร แต่ก็มีการค้าขายแบบใหม่เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่ของประชากรทำให้ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในที่พัก ทำงานจากบ้านคือบริการจัดส่งสินค้าและอาหาร โดยในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ยังคงใช้รถยนต์เป็นพาหนะหลักและน่าจะพัฒนาเป็นการใช้โดรนแทนในอนาคตอันใกล้ส่วนในบ้านเราใช้รถจักรยานยนต์ เนื่องจากเหมาะสมกับสภาพอากาศและการจราจรรวมถึงมีการใช้รถจักรยานยนต์ในการขนส่งคนเสริมระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองอยู่ก่อนแล้ว

Advertisement

เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชนอันเป็นผลจากการได้รับการศึกษาตลอดจนการฝึกอบรมตั้งแต่เด็กจนถึงวัยที่สามารถประกอบอาชีพได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารการศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความซับซ้อน และขึ้นกับองค์ประกอบหลายอย่างตั้งแต่ อายุของผู้เรียน ความสามารถของผู้สอน ระดับการศึกษา ลักษณะการเรียนการสอนไปจนถึงสาขาวิชา จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ และได้รับความสนใจจากสังคม มีข้อเสนอแนะมากมายในทุกประเทศ ตั้งแต่ในประเด็นระยะเวลาการผ่อนคลาย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนวิธีการในการเรียนการสอน ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในบางเรื่อง ดังนี้

ทุนการศึกษา

ผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจทรุดตัวทำให้เกิดการเลิกจ้างงานในธุรกิจประเภทต่างๆ ส่งผลถึงความสามารถของผู้ปกครอง ในการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสูงกว่าพื้นฐาน สายวิชาชีพ ซึ่งมีผู้ประสงค์เข้าศึกษาน้อยกว่าสายสามัญและผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะด้อยกว่าผู้ปกครองนักเรียน

Advertisement

กลุ่มอื่นๆ ดังนั้น รัฐควรจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมดให้แก่ผู้ที่อยากจะเข้าศึกษาในสายวิชาชีพทุกคนตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ไปจนจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยถือว่าความสามารถในการเรียนผ่านแต่ละชั้นปีและความประพฤติเป็นคุณสมบัติในการรับทุนการศึกษา ทั้งนี้อาจจะใช้ชื่อโครงการเพื่อความชัดเจนว่า “เรียนได้ ประพฤติดี เรียนฟรี ตลอดแนว” ซึ่งนอกจากจะทำให้จำนวนผู้จบการศึกษาสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นแล้วยังจะช่วยลดปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักศึกษาด้วย
สำหรับในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้นรัฐจัดการศึกษาภาคบังคับให้อยู่ก่อนแล้ว และนักศึกษาสายสามัญสามารถใช้กลไกของ 2 กองทุน คือ กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาในการขอความช่วยเหลือได้

การเรียนการสอน

ก่อนวัยเรียน แบ่งนักเรียนในห้องจากเดิมเป็น 2 กลุ่ม ใช้ห้องเรียนเดิม แต่เพิ่มเป็นวันละ 2 รอบ

ประถมและมัธยมศึกษา ปรับเปลี่ยนได้ 2 รูปแบบขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เกี่ยวข้อง (ผู้เรียนและผู้สอน) แบบแรกใช้วิธีการเดียวกับกลุ่มก่อนวัยเรียน หรือถ้ามีความพร้อมอาจใช้รูปแบบผสม แบ่ง นักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม สลับกันมาโรงเรียน
ในวันที่ไม่มาโรงเรียนใช้วิธีเรียนออนไลน์จากบ้าน

สายสามัญอุดมศึกษา การเรียนการสอนในระดับนี้ต่างจากขั้นพื้นฐานที่ไม่มีการจัดนักเรียนประจำในห้องเรียน แต่นักศึกษาสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆ ตามโครงร่างหลักสูตรที่สถานศึกษากำหนดไว้ และประกอบกับการที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการเรียนแบบออนไลน์อยู่บ้างแล้ว ดังนั้น สำหรับสาขาวิชา

ทางด้านสังคมศาสตร์ควรใช้รูปแบบผสมเหมือนกับกลุ่มประถมและมัธยมศึกษา
ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งจะต้องมีวิชาปฏิบัติการด้วย จะต้องแบ่งสัดส่วนเวลาสำหรับการสอนภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเพิ่มเติมจากกลุ่มสังคมศาสตร์ ทั้งหมดนี้หากจัดแบ่งกลุ่มและกำหนดระยะเวลาอย่างเหมาะสมจะทำให้สามารถใช้ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการเดิมโดยคงไว้ซึ่งการเว้นระยะทางสังคมได้ด้วย

อาชีวศึกษาสายวิชาชีพ สถานศึกษาสายวิชาชีพส่วนใหญ่มีจำนวนห้องเรียนและพื้นที่สำหรับการฝึกปฏิบัติการเกินจำนวนนักศึกษาอยู่แล้ว (เนื่องจากจำนวนนักศึกษาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางแผนไว้) รวมถึงการใช้ระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ดังนั้น การเพิ่มจำนวนรับนักศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีวศึกษาเกษตร) และเว้นระยะทางสังคมในห้องเรียนด้วย สามารถจัดการได้โดนไม่ยุ่งยากมากนัก

ความมีวินัยของคนไทยที่ได้แสดง ออกมาในการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดอุบัติใหม่ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่วิกฤตยังคงอยู่ หากผู้บริหารประเทศใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหา และเข้มแข็งในการสร้างสรรค์ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และดำเนินการอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และคล่องตัวก็คงจะพาประเทศรอดพ้นเหตุการณ์ร้ายไปได้ตลอดรอดฝั่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image