กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปาฐกถาพิเศษ 4 ทศวรรษ การทรงงานพัฒนาการศึกษาทั่วถึงเท่าเทียม

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปาฐกถาพิเศษ 4 ทศวรรษ การทรงงานพัฒนาการศึกษาทั่วถึงเท่าเทียม

เมื่อเวลา 09.04 น. วันที่ 10 กรกฎาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา จัดโดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคเครือข่าย ซึ่งมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ., นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ., นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดประชุมฯ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องแวดวงการศึกษา เฝ้าฯรับเสด็จ ณ ห้องฉัตรา บอลรูม โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุม แล้วทรงทอดพระเนตรวีดีทัศน์ “การทรงงานกว่า 40 ปี เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ของเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ก่อนทรงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สี่ทศวรรษ การทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้อยโอกาส” เป็นภาษาอังกฤษความตอนหนึ่งว่า แนวคิดเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา ฝังรากหยั่งลึกอยู่ในสังคมไทยมานานร่วมกว่า 100 ปีแล้ว นับตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระราชดำริ ต้องการให้ราษฎรทุกคน มีความรู้ สามารถอ่านออกเขียนได้ จึงทำให้ประเทศไทยมีโรงเรียนและสถาบันการศึกษาสำหรับประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเล่าเรียน กระทั่งมีการบัญญัติกฎหมายออกมาเป็นการศึกษาภาคบังคับ และก่อตั้งกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาดูแล

สำหรับข้าพเจ้าได้สืบทอดสานต่อพระราชปณิธานจากพระมหากษัตริย์ในรัชกาลก่อนๆ จาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการโครงการในพระราชดำริต่างๆ ทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อให้ประชาชนบนแผ่นดินไทยทุกคน ได้มีความรู้ความสามารถในการประกอบกิจการงานอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต หาเลี้ยงดูครอบครัวและพึ่งพาตนเองต่อไปได้

เริ่มต้นจากสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงดำเนินการไว้ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนกินนอนประจำในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งในตอนแรกสุดนั้น ก็เพื่อให้การอบรมสั่งสอนบรรดาเด็กๆ ในพื้นที่ชนบทห่างไกล และถิ่นทุรกันดาร ให้มีวิชาความรู้ติดตัว ซึ่งนอกจากสอนวิชาการ ยังได้ขยายการสอนวิชาการเกษตร การจัดทำบัญชี การบริหารสหกรณ์ การค้าขาย ไปจนถึง การตัดผม ช่างเครื่อง ช่างซ่อม อีกทั้ง ยังใช้โรงเรียนเป็นแหล่งให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่ดี เช่น การอนามัยและสุขศึกษา

Advertisement

นอกเหนือจากเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส ก็พบเด็กพิการและทุพพลภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือ ทางจิตใจ ที่ถูกละเลย ถูกมองว่า เป็นผู้ไร้ประโยชน์ แต่ในความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า การศึกษาจะกลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็กผู้พิการเหล่านี้ เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม ดังนั้น จึงก่อตั้งโรงเรียนพิเศษสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและกายภาพของตนเอง โดยมีให้เลือกเรียนในสายสามัญ และสายวีชาชีพ พร้อมจัดหาทุนการศึกษา และแนะแนวทางการประกอบวิชาชีพในอนาคต

ขณะเดียวกัน ก็สืบสานโรงเรียนพระดาบส และโรงเรียนลูกพระดาบส ในการรับเด็กโตอายุระหว่าง 15-25 ปี ความประพฤติดี ขยันหมั่นเพียร และมีความตั้งใจ เข้ารับการฝึกอบรมทักษะวิชาช่างแขนงต่างๆ ให้เข้ารับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูหรือผู้ชำนาญการในวัยเกษียณที่อาสามาสอนให้ความรู้บ่มเพาะให้เด็กกลุ่มนี้ ที่แทบทั้งหมดมีอุปสรรคติดขัดไม่สามารถเรียนหนังสือตามหลักสูตรทั่วไปได้ ทำให้พวกเขาได้มีวิชาความรู้ติดตัวหาเลี้ยงชีพ และสามารถต่อยอดไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในระดับที่สูงต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อให้สามเณรได้เรียนหนังสือตามหลักสูตรการศึกษาทั่วไป เป็นทางเลือกหลังต้องสึกจากสมณะเพศออกมา จะได้มีวุฒิความรู้การศึกษาติดตัว มีทางเลือกต่อยอดไปทางอื่นๆ ต่อไปได้ ส่วนของกลุ่มผู้ต้องขัง ก็จัดทำห้องสมุดในเรือนจำ และจัดทำกิจกรรมเสริมทักษะวิชาชีพแก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ที่พลาดพลั้งเหล่านี้ ได้มีโอกาสใหม่ในการเริ่มต้นชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหลังพ้นโทษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมไทยโดยรวมต่อไป เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กหญิง เด็กจากผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์ หรือเด็กไร้สัญชาติ ก็ได้รับความช่วยเหลือในด้านการศึกษาเช่นกัน

Advertisement

ส่วนเรื่องการศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่ม ข้าพเจ้าเห็นว่าคือการที่คนทุกคนจะได้เรียนหนังสือ สอดคล้องเหมาะสมตามกำลังศักยภาพและความสามารถของผู้เรียน โดยโรงเรียนและสถาบันการศึกษาจะไม่เพียงประสิทธิประศาสตร์วิชา แต่ยังต้องช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ให้มีทักษะและภูมิปัญญา ดังนั้น โรงเรียนที่ข้าพเจ้าได้พัฒนาจึงสอดแทรกการสอนเรื่องของสุขอนามัย การล้างมือ การทำความสะอาดร่างกาย การดูแลฟัน การดูแลโภชนาการ การจัดทำอาหารกลางวัน การสอนปลูกผักเลี้ยงสัตว์เพื่อนำไปประกอบอาหาร และผลิตผลที่เหลือก็นำไปขายหารายได้จุนเจือตนเองและโรงเรียนให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ มากมาย ท่ามกลางการจัดการเรียนการสอนที่ต้องดำเนินต่อไป จึงได้จัดหาเงินทุนเป็นค่าใช้จ่ายให้บรรดาครูอาจารย์ ให้สามารถเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกศิษย์ติดตามความก้าวหน้า จัดหาโทรทัศน์ เพื่อให้รับสัญญาณถ่ายทอดบทเรียนทางไกลต่างๆ จัดหายานพาหนะ และจัดหาอุปกรณ์ อาหารและวัตถุดิบเพื่อการดำรงชีพ ตลอดจนการจัดถุงยังชีพ ที่บรรจุไปด้วยเมล็ดพันธุ์และหนังสือคู่มือการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์และการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันโควิด-19 ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กและครอบครัวดำรงชีวิตต่อไปได้ ภายใต้สภาวะที่ยากลำบาก ขณะเดียวกัน ก็ยังตระหนักและเห็นความสำคัญของการศึกษา การเป็นผู้มีวิชาความรู้ติดตัว

อย่างไรก็ดี โครงการการศึกษาและก่อตั้งโรงเรียนทั้งหมดเหล่านี้ ได้รับความร่วมมือช่วยเหลืออย่างดีจากหลายหน่วยงาน ทั้งทางภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรอิสระทั้งหลาย และข้าพเจ้าขอให้คำมั่นที่จะทรงงานภายใต้เป้าหมาย การศึกษาเพื่อปวงชน และปวงชนเพื่อการศึกษา และขอให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมมือร่วมใจสร้างโลกที่อ่านออกเขียนได้ต่อไป

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ กสศ. กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาด้านความเสมอภาคทางการศึกษาค่อนข้างกว้างและซับซ้อน ทั้งปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา การสอน ทรัพยากรโรงเรียน ความยากจน ภาวะทุพโภชนาการ ความรุนแรงภายในครอบครัว และการข่มขู่รังแกในโรงเรียน ล้วนเป็นประเด็นปัญหาด้านการศึกษาที่ยังมีอยู่ในหลายประเทศไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน ยิ่งไปกว่านั้นการระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าระบบการศึกษาขณะนี้ขาดความพร้อมในการรับมือกับภาวะชะงักงันที่เกิดขึ้น จนส่งผลให้เด็กด้อยโอกาสทั้งหลายกลายเป็นกลุ่มที่อ่อนแอ และเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้เบื้องหลังมากขึ้น จึงต้องจัดประชุมนานาชาตินี้ขึ้นเพื่อระดมสมองใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อมูลและเทคโนโลยี 2.นวัตกรรมการเงินการคลังเพื่อการศึกษา 3.การศึกษาเชิงพื้นที่ และ4.ปวงชนเพื่อการศึกษา

อย่างไรก็ดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ การทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ในการยกระดับพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กด้อยโอกาสในสังคม นับเป็นแบบอย่างที่ควรให้เราดำเนินรอยตาม ความมุ่งมั่นและทุ่มเทของพระองค์ ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา สามารถเดินหน้าทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไปได้

สำหรับข้อสรุปที่ได้จากเวทีครั้งนี้ จะนำไปเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาธิการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2564 เพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางการศึกษาที่ยั่งยืนในอีก 10 ปีข้างหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image