RCEP ลงนามสัญญาภายใน 2020 : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การประชุมผ่านวิดีโอครั้งที่ 10 ของ RCEP ได้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์
จะทำการลงนามในสัญญาข้อตกลงภายใน 2020

RCEP คือหุ้นส่วนอันเกี่ยวกับข้อตกลงของพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ภาคีอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Regional Comprehensive Economic Partnership)

บัดนี้ RCEP ได้กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเป็น
ตัวเชื่อมเศรษฐกิจอาเซียนให้เข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เศรษฐกิจโลกและห่วงโซ่แห่งทรัพย์สิน อันได้รับผลกระทบอย่างสาหัสจากการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

Advertisement

ฉะนั้น RCEP จึงเปรียบเสมือน “ยาบำรุงหัวใจ” ขนานเอกในยามนี้

อินเดียคือ 1 ในหุ้นส่วน ได้ถอนตัวจากการเจรจาตั้งแต่ 2019 แม้ในแถลงการณ์ร่วม แจ้งว่า “สงวนสิทธิการเปิดกว้าง” แต่ก็ส่งสัญญาณว่าไม่ร้องเพลง “รอ” อีกต่อไป

2011 กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศได้จัดตั้ง RCEP และได้เชิญจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียรวม 6 ประเทศเข้าเป็นคู่ภาคี จึงเท่ากับ 16 ประเทศ

Advertisement

ปลายปี 2012 ได้เปิดประชุมอย่างเป็นทางการ

รวมอินเดียเท่ากับ 10+6 จำนวนประชากร 3,500 ล้านคน มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับเศษ 1 ส่วน 3 ของโลก

การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่กรุงเทพฯ ผู้นำอินเดียกังวลว่า อาจมีผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศ อันเนื่องจากสินค้าจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ฉะนั้น จึงประกาศถอนตัวออกจากการเจรจา

แต่ผู้นำญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น ยังไม่ประสงค์ให้อินเดียถอนตัว การลงนามในสัญญาข้อตกลงจึงได้เลื่อนมาเป็นปี 2020

หากตัดอินเดียออกไป ซึ่งมีประชากร 1,300 ล้านคน และ GDP 9 ล้านล้านเหรียญ

RCEP ก็ยังเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

การเจรจาได้ใช้เวลาถึง 8 ปี บรรดาสมาชิกต่างได้บรรลุสัญญาข้อตกลงทั้งทวิภาคีและพหุภาคี อาทิ จีนได้ลงนามในสัญญาการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ปัจจุบัน การซื้อขายระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 90 ปลอดภาษี

ดังนั้น การที่จะลงนามในสัญญาข้อตกลง จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก

อุปมาเหมือนกับผลไม้บนต้นสุกแล้ว ไม่ต้องเปลืองแรงไปเด็ด

เพียงแค่เตรียมภาชนะรองรับเท่านั้น

ในบรรดาสัญญาการค้าเสรีของสมาชิก RCEP มีฉบับ 1 ที่ชื่อว่า ACFTA ขอบเขตกว้างใหญ่ไพศาล และสัมฤทธิผล กล่าวคือ 5 เดือนแรกของปี 2020 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา อาเซียนนำหน้าสหภาพยุโรป ชนิดทิ้งโด่ง และกลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน

อัน ACFTA นั้นคือความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (Asean-China Free Trade Agreement) เป็นสัญญานำมาซึ่งผลประโยชน์แก่จีนโดยแท้

ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2020 การลงทุนของจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 ในทำนองเดียวกัน จีนใช้มาตรการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เดินสายเพิ่มการลงทุนอีก 53 ประเทศมากขึ้น 3 เท่าตัว ในขณะที่อาเซียนลงทุนในจีนเติบโตร้อยละ 13

ผลกระทบจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ไม่ว่าอุปทาน ไม่ว่าอุปสงค์มีการหดตัวรุนแรง เป็นเหตุให้การค้าระหว่างประเทศถดถอยขนาดใหญ่

จากรายงานองค์การการค้าโลก (WTO) ปรากฏว่า ไตรมาสแรกของปี 2020 ปริมาณการซื้อขายทั่วโลก
ดิ่งลงร้อยละ 3 และคาดว่า ไตรมาสที่ 2 น่าจะลดลงเป็นประมาณร้อยละ 18.5

และพอจะอนุมานได้ว่า สภาพการค้าตลอดปี 2020 การหดตัวจะอยู่ที่ร้อยละ 13-32

เหตุการณ์ความรุนแรงจึงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจสึนามิ 2008

นอกจากนี้ โรคระบาดครั้งนี้ยังกระทบถึงธุรกิจระบบห่วงโซ่อย่างรุนแรง

ความเสื่อมมาเยือนแน่แล้ว

ฉะนั้น ที่ประชุมจึงมีมติไม่รออินเดียอีกต่อไป

น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน แต่อินเดียช่างไม่สะทก สะท้านสะเทือน….

การตัดอินเดียออกไป จึงถือว่าเป็นการอันชอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนการลงนามในสัญญาข้อตกลง ยังมีประเด็นปัญหาที่ผันแปรและไม่เสถียรซึ่งจะต้องร่วมกันขจัดให้หมดสิ้น นอกจากนี้ ยังจะต้องติดตามเหตุการณ์หลังการลงนามไปแล้ว บรรดาสมาชิกยอมรับต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้หรือไม่ เช่น การเมืองภูมิภาค ผลประโยชน์ในประเทศ และลัทธิชาติพันธุ์ เป็นต้น

เมื่อตัดอินเดียออกไป การเจรจายังมีความยากลำบากมิใช่น้อย ลำพังจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ปัญหาศรศิลป์ไม่กินกันย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ประจักษ์ในประเด็นการเมืองภูมิภาค

ย้อนมองอดีตปี 2002 นายกฯจีน จู หลงจี นายกฯญี่ปุ่น โคอิชุมิ และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ คิม แตจูง ได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้ง RCEP แผนการเดิมคือ 7 ปีต้องบรรลุตามเป้าหมาย

ปี 2011 นายกฯจีน เวิน เจียเป่า นายกฯญี่ปุ่น และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันทำงานชิ้นนี้ต่อ แต่ไม่สัมฤทธิผล ทั้งนี้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง “สามก๊ก” เวอร์ชั่นใหม่ อันเกี่ยวกับผลประโยชน์หลัก การเจรจาจึงไม่ราบรื่น และลากยาวถึงวันนี้เป็นเวลา 18 ปี

นอกจากนี้ เมื่อไม่นานมานี้ เพราะเนื่องปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จีนได้ทำการคว่ำบาตรออสเตรเลีย อันได้แก่สินค้าการเกษตร ธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ

จึงเกิดคำถามขึ้นว่า หลังจากการลงนามในสัญญาข้อตกลง RCEP สามารถทำการพัฒนาเขตการค้าเสรี
ให้มีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างจริงจังหรือไม่

อันเป็นคำถามที่เปี่ยมด้วยความสงสัยกังวลในดวงหทัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image