แพทย์มช.เจ๋ง ปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคตับมีชีวิต ใช้เทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องครั้งแรกในไทย

แพทย์มช.เจ๋ง ปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคตับมีชีวิต ใช้เทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งที่2ในอาเซียน ช่วยผู้ป่วยมะเร็งตับไม่ต้องรอคิวบริจาคอวัยวะนาน มีอัตราการรอดชีวิตสูง90%

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม  ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศาสตราจารย์ นพ.บรรณกิจ โลจนภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานแถลงข่าว ‘การผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคตับมีชีวิต โดยวิธีการผ่านตัดผ่านกล้องครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งที่ 2 ในอาเซียน’ โดยนายบุญยืน มีมานะ ผู้รับบริจาคตับ และ น.ส.สาลินี ช่างเงิน บุตรสาวชาวจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้บริจาคตับเข้าร่วมแถลงข่าวด้วย

ศาสตราจารย์ นพ.บรรณกิจ กล่าวว่า มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับตันๆ ของประเทศไทย การรักษามะเร็งตับที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือการฝ่าตัดมะเร็งตับออก อย่างไรก็ตามผู้ปวยมะเร็งตับมักพบว่ามีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ซึ่งสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและการดื่มสุรา เป็นเหตุให้ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ไม่สามารถรับการรักษาโดยการผ่าตัดได้ แต่ปัจจุบันการแพทย์ของประเทศไทยมีพัฒนาการไปอย่างมาก โดยเฉพาะการให้การรักษาผู้ป่วยโรคตับด้วยปลูกถ่ายตับ ซึ่งการผ่าตัดสามารถรักษาทั้งภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับไปในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับที่ได้รับการปลูกถ่ายตับมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึง 80-90% และมีอัตราการกลับเป็นซ้ำต่ำเมื่อเทียบกับการรักษาวิธีอื่น ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีชีวิตยืนยาว ใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวได้อีกครั้ง

“ขณะนี้การปลูกถ่ายตับสำหรับผู้ใหญ่มีด้วยกัน 2 วิธี คือ 1.การปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่สมองตายแล้ว ในปัจจุบันการปลูกถ่ายตับในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นการปลูกถ่ายวิธีนี้ ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ ไม่ต้องเสี่ยงทำการผ่าตัดในผู้บริจาคที่มีชีวิต แต่ข้อเสีย คือ การรออวัยวะที่นานหลายเดือนหรือหลายปี เนื่องจากในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน มีผู้บริจาคอวัยวะจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับผู้ปวยที่รออวัยวะ ส่วนวิธีที่ 2 คือ การปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต เป็นการผ่าตัดตับกลีบขวาของผู้บริจาคที่เป็นญาติสายตรง สามีหรือภรรยาของผู้ป่วย โดยการผ่าตัดลักษณะนี้เป็นการผ่าตัดที่มีความชับซ้อนสูง เนื่องจากต้องผ่าตัดตับโดยแยกหลอดเลือดและท่อน้ำดีออกมา เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและท่อน้ำดีของผู้บริจาค แต่ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้ คือ สามารถลดระยะเวลาการรออวัยวะให้สั้นลงเหลือประมาณ 34 สัปดาห์ ตับยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่า และมีระยะเวลาที่ขาดเลือดสั้นกว่าการปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตาย”

ศาสตร์จารย์ นพ.บรรณกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเพียงสถาบันเดียวที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคมีชีวิตเพื่อรักษาโรคมะเร็งตับในผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ปวยที่ได้รับการตัดวิธีดังกล่าวมากที่สุดในประเทศไทย จำนวน 28 ราย

Advertisement

นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ระบบตับทางเดินน้ำดีและตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบรุกล้ำน้อย ซึ่งเป็นผ่าตัดผ่านการส่องกล้องที่มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คณะแพทยศาสตร์จึงเริ่มใช้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องในการตัดตับของผู้บริจาค เนื่องจากผู้บริจาคส่วนใหญ่มีอายุน้อย ยังอยู่ในวัยทำงาน การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องมีข้อดีคือ ลดการปวดแผล ผู้บริจาคไม่มีแผลผ่าตัดขนาตใหญ่ที่ช่องท้อง และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่าการผ่าตัดเปิดประมาณ 5 วัน เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดที่ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ผู้บริจาคและผู้รับบริจาคฟื้นตัวได้เร็วกว่า และสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

“แต่การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องยังมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ผู้บริจาคที่มีความแปรปรวนของกายวิภาค กล่าวคือ มีโครงสร้างและหลอดเลือดของตับที่ผิดปกติไปจากเดิม คณะแพทย์ศาสตร์ ได้ทำการผ่าตัดตับผู้บริจาคผ่านการส่องกล้อง และนำไปปลูกถ่ายแก่ผู้ปวยมะเร็งตับสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 ซึ่งการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องเป็นการผ่าตัดที่ชับซ้อน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมแรง เสียสละจากหลายฝ่าย ทั้งผู้บริจาคอวัยวะ ผู้ป่วยและครอบครัว ทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับ สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้อง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 4 – 8 แสนบาท โดยผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามสิทธิที่มีอยู่” อาจารย์ นพ.วรกิตติ กล่าว

ด้าน น.ส.สาลินี ผู้บริจาคตับให้บิดา ได้กล่าวว่า ขอบคุณคณะแพทย์ มช. ที่ผ่าตัดให้ตนเองและพ่อ ซึ่งหลังการผ่าตัดพ่อกลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงอีกครั้ง เช่นเดียวกับตนเองที่เป็นผู้บริจาคตับให้พ่อเพื่อนำไปปลูกถ่าย ก็สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยเฉพาะการกลับมาออกกำลังกายและวิ่ง เพราะตนเองก็เป็นนักวิ่งด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image