“เพชรบูรณ์” ยังพบซากฟอสซิลยุคเพอร์เมียน อายุ 240 ล้านปี ฝนตกเป็นเหตุชะล้างหน้าดินบนชั้นหินเจออีกเพียบ

วันที่ 19 กรกฎาคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ (เพชรบูรณ์จีโอปาร์ค) กล่าวถึงความคืบหน้าแหล่งฟอสซิลทะเลดึกดำบรรพ์ 2 แหล่งสำคัญของจ.เพชรบูรณ์ ได้แก่ แหล่งบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่และแหล่งภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรีว่า จากการที่เพชรบูรณ์มีแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นเคลื่อนตัวเข้าหากัน จนทำให้แผ่นดินเดิมซึ่งเป็นท้องทะเลเกิดการยกตัวขึ้นเมื่อราว 240 ล้านปี หรือในราวยุคเพอร์เมียนจนทำให้กลายเป็นผืนดินและภูเขา รวมทั้งเทือกเขาภูเขาเป็นแนวยาวตลอดในทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังปรากฏร่องรอยของความเป็นทะเลในยุคดึกดำบรรพ์ขึ้น ทำให้มีการค้นพบซากของสัตว์ทะเลโบราณยุคเพอร์เมียนตกตะกอนกลายเป็นฟอสซิลในชั้นหินต่างๆอย่างต่อเนื่องมากมาย

“ปัจจุบันมี 2 แหล่งฟอสซิลดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเห็น ได้แก่ แหล่งบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ และแหล่งภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี ซึ่งทั้ง 2 แหล่งทางท้องถิ่นร่วมกับราษฎรในพื้นที่ได้ร่วมกันพัฒนาปรับปรุง นอกจากต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้แล้ว ยังส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย” นายวิศัลย์กล่าว

ผอ.อุทยานธรณีเพชรบูรณ์กล่าวอีกว่า ล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมายังมีการพบแหล่งฟอสซิลเพิ่มเติมอีก ที่บ้านซับเดื่อ ตำบลบ้านโภชน์ อ.หนองไผ่ เนื่องจากหลังฝนตกทำให้มีน้ำชะล้างหน้าดินที่อยู่บนชั้นหินออกไป ส่งผลให้พบซากสัตว์และปะการังดึกดำบรรพ์จำนวนหลากหลายชนิด อาทิ หอยตะเกียงซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกหรือกำหนดอายุสมัยซึ่งซากสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้ และยังพบหอยและสัตว์ทะเลอีกหลายชนิดเป็นระยะทางยาวเกือบ 100 เมตร ถือเป็นอีกแหล่งธรณีที่นำมาผนวกรวมกับแหล่งเดิมที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันล่าสุด ยังมีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

Advertisement

“แต่ปัญหาก็คือหลังซากดึกดำบรรพ์ซึ่งถูกน้ำชะล้างเอาหน้าดินออกไป ทำให้เห็นหินลอยโผล่ขึ้นมาบนผิวดิน โดยมีบางส่วนเกิดการแตกหักหลุดออกมาจากก้อนใหญ่ จึงให้คำแนะนำให้ทางท้องถิ่นจัดเก็บขึ้นมาแสดงไว้ที่ศูนย์เรียนรู้ เพราะเกรงจะเกิดการสูญหายหรือตกเป็นเป้าของกลุ่มนักค้าซากสัตว์โบราณหรือซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ไป” นายวิศัลย์กล่าว

ผอ.อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ ยังกล่าวถึงข้อมูลเรื่องเพชรบูรณ์จีโอปาร์คในปัจจุบันว่ามีเพียงพอที่จะจัดเป็นหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่นหรือไม่ ว่าปัจจุบันข้อมูลมีครบถ้วนเพียงพออยู่แล้ว เพราะทางกรมทรัพยากรฯและนักวิชาการได้เข้ามาช่วยจัดทำข้อมูลพร้อมทั้งยังมีงานวิจัยต่างๆ ขณะนี้อยู่ในช่วงการต่อยอดคือ ทำอย่างไรให้ท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากความมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาเหล่านี้ อาทิ การเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผูกโยงกับแหล่งดึกดำบรรพ์ ฯลฯ ส่วนการอนุรักษ์ถือเป็นหัวใจและวัตถุประสงค์ใหญ่อยู่แล้ว

Advertisement

“ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมแหล่งฟอสซิลมหัศจรรย์ทางธรณีวิทยาเหล่านี้ได้ทั้ง 2 แหล่ง โดยทางท้องถิ่นมีการจัดทำป้ายบอกเส้นทางและบอกข้อมูลแหล่งธรณีวิทยาเหล่านี้ได้อย่างละเอียด เพียงแต่ว่าช่วงนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น จึงฝากด้วยว่า เนื่องจากแหล่งฟอสซิลยุคเพอร์เมียนอายุ 240 ล้านปีเหล่านี้ ยังอยู่ในสภาพการพัฒนาระยะต้น จึงค่อนข้างเปราะบางกระจายเต็มพื้นที่ ที่สำคัญเข้าถึงแหล่งได้ง่ายจึงค่อนข้างน่าเป็นห่วง จึงฝากนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่จะเข้าไปชมให้ช่วยกันตระหนัก อย่าหยิบฉวยซากฟอสซิลเหล่านี้ติดมือกลับไป หรือช่วยกันดูแลอย่าให้สมบัติชาติเหล่านี้เกิดการสูญหายหรือต้องถูกทำลายไป” นายวิศัลย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image