สถานีคิดเลขที่ 12 : เกือบได้ดีใจ โดย นฤตย์ เสกธีระ

พอมีข้อเสนอจากการประชุมวุฒิสภาว่าน่าจะมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง ก็รู้สึกดีใจ

แม้ว่าบางข้อมูลจะบอกว่า ประชาชนหลายคนรับโทษ พ้นโทษ และได้รับการปลดปล่อยออกมาแล้ว

แต่การออกกฎหมายดังกล่าวก็เป็นเครื่องการันตีว่า ทุกฝ่ายพร้อมให้อภัยกันและกัน

หากผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันที่จะให้มีกฎหมายนิรโทษกรรม แสดงว่าคู่กรณีให้อภัยกันและกันแล้ว

Advertisement

เพราะที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้รับโทษ

และที่ผ่านมามีกลุ่มคนหลายกลุ่มผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมประชาชน แต่ติดปัญหาที่ว่าหากนิรโทษกรรมประชาชนก็ต้องนิรโทษกรรมแกนนำด้วย

แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ยินยอมให้นิรโทษกรรมแกนนำ และดูเหมือนบรรดาแกนนำเองก็บอกว่าไม่ต้องนิรโทษกรรม

Advertisement

นอกจากนี้ ประเด็นผลักดันปมนิรโทษกรรมยังนำไปสู่จุดสิ้นสุดของรัฐบาลมาแล้ว

ยกตัวอย่างชัดๆ คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นก็คือ ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะมีการให้อภัย

หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้มเหลวในการปลุกให้ประเทศเกิดการให้อภัย ในทางตรงกันข้ามกลับเกิดกลุ่ม กปปส. เกิดการชัตดาวน์ เกิดการชุมนุมอีกครั้งของคนเสื้อแดง

กลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การรัฐประหาร

และหากจำกันได้นโยบายของ คสช. อันหนึ่งคือการนำประเทศไปสู่การปรองดอง

แต่สุดท้าย แม้ประเทศจะอยู่ในความสงบภายใต้กองทัพ แต่เป้าหมายการปรองดองก็ยังไม่สำเร็จ

ยังได้ยินเสียงของ “ผู้ถูกล่า” และได้ยินเสียงขู่จาก “ผู้ล่า” มาอย่างต่อเนื่อง

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” แล้วตามมาด้วยการหยิบยกประเทศ “นิรโทษกรรมประชาชน” ขึ้นมา

หลงดีใจว่า ประเทศไทยกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่โหมดปรองดองเสียที

ภารกิจของ คสช. ที่ประกาศจะนำประเทศไปสู่ความปรองดอง และตอนนี้เป็นภารกิจ “นิว นอร์มอล” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะ “รวมไทยสร้างชาติ” กำลังเดินหน้า

หากจะทำสำเร็จได้สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้คือการให้อภัยกันและกัน

ให้อภัยแล้วเริ่มต้นใหม่ด้วยกัน

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษในวันต่อมา และเมื่อได้ยิน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พูดถึงเรื่องนี้

จับกระแสได้ว่าการนิรโทษกรรมยังไม่อาจเกิดขึ้น

การให้อภัยกันและกันยังไม่น่าจะมี

ความดีใจก็เลยกลายเป็น “เกือบจะได้ดีใจ”

ยิ่งเมื่อเห็นปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีต่อกลุ่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจากกรณีทหารอียิปต์ที่จังหวัดระยอง

ยิ่งได้เห็นปฏิกิริยาของกลุ่มผู้ชุมนุมที่แสดงความต้องการต่อรัฐช่วงวันหยุดที่ผ่านมา

ดูเหมือนว่า ประเทศไทยยังไม่มีใครยอมใคร โอกาสขัดแย้งกันมีสูงขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งสถานการณ์โควิดนำไปสู่ความเครียด สภาพเศรษฐกิจกำลังทำให้คนไทยหมดหวัง

การเผชิญหน้ากันส่งสัญญาณว่าจะเกิดขึ้น

หรือสังคมไทยกำลังเข้าสู่โซนอันตราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image