กก.ตรวจสอบคดี”บอส อยู่วิทยา”ของตร.ประสานสธ.เฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญเช็ก”โคเคน”ใช่ยาเสพติดหรือไม่

ที่ประชุมคลี่คลายคดีบอสเผยอาจประสานกระทรวงสาธารณะสุขเฟ้นหาผู้เชียวชาญตรวจสอบสารโคเคนที่พบเป็นยาเสพติดหรือไม่ ก่อยพิจารณาแจ้งข้อหาเพิ่ม

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พร้อม พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี(ผบช.กบค.)และ พล.ต.ท.กฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ แถลงชี้แจงภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งวันนี้นับเป็นวันที่ 3 ของการสอบสวนข้อเท็จจริง

พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า คณะทำงานจะยึดถือกรอบการทำงานของพนักงานสอบสวนที่ดำเนินไปจนถึงขั้นเสนอความเห็นสั่งฟ้องไปที่พนักงานอัยการในข้อหาขับรถโดยประมาท กรอบที่ 2 จะพิจารณาเรื่องที่พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเพิ่มเติมตามคำสั่งอัยการ และกรอบสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องความเห็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นไม่แย้งกับความเห็นของอัยการ ยืนยันว่าคณะกรรมการนี้จะพิจารณาเฉพาะการดำเนินการของตำรวจเท่านั้นว่าถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบการปฏิบัติหรือไม่ และมีการดำเนินการอย่างไร

โดยการตรวจสอบข้อเท็จจริงวันนี้ข้อแรก คือการพบสารโคเคนหรือโคเคอีนที่นายวรยุทธ ได้ตรวจไว้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ผลการตรวจออกมาวันที่ 11 ตุลาคม 2555 ซึ่งแพทย์ผู้ตรวจยืนยันว่าสารที่ตรวจพบเกิดจากกระบวนการสลายตัวของสารที่เกี่ยวกับโคเคอีนกับแอลกอฮอล์ ไม่พบโคเคนโดยตรง ตามรายงานของสาขานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งนี้ได้สอบถามไปที่นิติเวชตำรวจ ระบุว่าสารที่ตรวจพบทั้งหมดมีอยู่ 4 ประกอบด้วย 1.สารอัลฟาโซแลม เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภทที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือทางการแพทย์อาจจะเรียกว่ายานอนหลับ,2.สารเบนโซเลคโกนีน(Benzoylecgonine), 3.สารโคคาเอทีลีน(Cocacthylene) และ4.คาเฟอีน ที่อยู่ในกาแฟ

Advertisement

พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า สารที่มีปัญหาคือเบนโซเลคโกนีนกับโคคาเอทีลีน ซึ่งเป็นผลของการย่อยสลาย ที่ทางการแพทย์บอกว่ามาจากโคเคน หรือโคเคอีน แม้สารที่ว่าไม่ใช่โคเคอีนโดยตรง แต่เป็นสารที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเสพโคเคอีน จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ส่วนสารโคคาเอทีลีนไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทแต่เป็นการเผาผลาญที่เกิดขึ้นในร่างกายเมื่อเสพโคเคอีนร่วมกับแอลกอฮอล์

หากพบสารเคมีทั้งสองนี้ แสดงว่าเสพโคเคอีน แต่นายวรยุทธ ยืนยันว่าได้ไปหาทันตแพทย์และหมอจ่ายยาแอมม็อกซิลิน 500 มิลลิกรัม โดยหมอยืนยันในบันทึกคำให้การอย่างชัดเจนว่า “ไม่มียาเสพติด” ยืนยันว่ายาที่หมอให้นายวรยุทธไม่มีสารเสพติด

พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สารทั้งสองชนิดนั้นอาจจะมาจากยาปฏิชีวนะ หรือเสพโคเคนหรือโคเคอีนเพียงอย่างเดียวหรือไม่นั้น คณะกรรมการจะตรวจสอบว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาประกอบการแจ้งข้อหาเพิ่มกับนายวรยุทธได้หรือไม่ ขอเวลาไปสอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงอีกครั้ง

Advertisement

“ตำรวจได้นำผลการตรวจดังกล่าวไปสอบสวนแพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลซ้ำ เพื่อยืนยันว่าเป็นสารเสพติดหรือไม่ ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่าผลการตรวจดังกล่าวอาจเกิดจากยาปฎิชีวนะ ที่อาจส่งผลลวงต่อการตรวจหรือเป็นสารเสพติดจริง เมื่อนำมาพิจารณาในคณะพนักงานสอบสวนแล้วเห็นว่าสารทั้ง 2 ชนิดไม่ถูกบัญญัติว่าเป็นสารที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับไม่มีหลักฐานอื่นจึงไม่ได้แจ้งข้อหาในความผิดที่เกี่ยวข้อง แต่ได้ทำรายงานความเห็นเรื่องที่ส่งไปยังอัยการ” พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวและว่า กรณีที่มีการชี้แจงว่าสารโคเคนดังกล่าวเกิดจากการรักษาฟันนั้น เชื่อว่าเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อน หลังจากนี้จะต้องหาผู้เชี่ยวชาญที่จะชี้ชัดได้ว่าสารทั้ง 2 ชนิด เกิดจากอะไร ซึ่งอาจประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาข้อสรุปและหากพบว่าเป็นสารเสพติดจริง จะเสนอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย

พล.ต.อ.ศตวรรษ กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานปากสำคัญที่ จ.เชียงใหม่ ยืนยันว่าไม่มีผลต่อการทำงานของชุดพนักงานสอบสวน แต่ก็ได้อธิบายว่านายจารุชาติเป็นพยานที่ให้การเมื่อเดือนกันยายน 2555 ในฐานะผู้เห็นเหตุการณ์แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องความเร็ว กระทั่งปี 2562 อัยการเรียกให้สอบปากคำในประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับพยานที่เป็นนายทหาร ซึ่งในที่ประชุมยังมีการถกเถียงเรื่องความเร็วรถ ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงจะต้องสอบสวนต่อ แต่จะเสร็จสิ้นใน 15 วันหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ แต่จะพยายามเร่งรัดให้ทันกำหนด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image