สำรวจจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติ 3 อุทยานแห่งชาติเหลือ 20 ตัว

สำรวจจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติ 3 อุทยานแห่งชาติเหลือ 20 ตัว

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากประชากรในธรรมชาติของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยมีจำนวนน้อย การศึกษาและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 มีการดำเนินโครงการนำร่องการปล่อยจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาโดยจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยที่ปล่อยสามารถอาศัยอยู่รอด และแพร่ขยายพันธุ์ได้ในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ถือเป็นความสำเร็จในการปล่อยจระเข้คืนถิ่น ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานทางนิเวศที่เหมาะสมของจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย

 

จึงนำไปสู่การดำเนินโครงการอนุรักษ์จระเข้พันธุ์ไทยในประเทศไทย ปัจจุบันพบจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เพียง 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย จะได้เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยได้อย่างแท้จริง

Advertisement

 

จงคล้าย วรพงศธร

Advertisement

ด้านนายชลธร ชำนาญคิด ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อ ปี 2547 ได้มีการปล่อยจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการสู่ธรรมชาติที่วังแก่งหินดาดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา จำนวน 10 ตัว ตัวผู้ 5 ตัว และตัวเมีย 5 ตัว ซึ่งจระเข้ชุดดังกล่าวยังคงพบตัวได้ 1 ตัวที่อยู่จวบจนทุกวันนี้

“และจากการสำรวจและติดตามจระเข้น้ำจืดในอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สรุปได้ว่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่พบแหล่งอยู่อาศัยของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ในธรรมชาติเหลือเพียง 3 แห่ง ประมาณ 20 ตัวได้แก่ บริเวณห้วยน้ำเย็น อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณคลองชมพู อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และบริเวณต้นน้ำเพชรบุรี อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2560 ได้มีการประชุมวิชาการ เพื่อประเมินสถานภาพและแนวทางการอนุรักษ์จระเข้ในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หลังจากนั้นจึงได้มีการผลักดันให้เกิดการวิจัยทางวิชาการเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งต่อมา รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อทำการวิจัยตามโครงการอนุรักษ์จระเข้พันธุ์ไทยในประเทศไทย ทำการวิจัยในระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2562 ซึ่งผลการวิจัยได้จัดทำรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์มาให้กรมอทุยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดยจากนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะได้นำผลดังกล่าวเป็นแนวทางทางวิชาการที่สำคัญมาปรับใช้กำหนดแนวทางการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยในอุทยานแห่งชาติ ต่อไป”นายชลธร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image