‘สมเด็จพระบรมราชชนก’ในวัย38พรรษา จาก‘นายทหารเรือ’สู่การเรียน‘แพทย์และสาธารณสุข’ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วด้วยพระวิสัยทัศน์ของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งที่ทรงเห็นความสำคัญของชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทย แม้ว่าทรงจบการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศเยอรมนี แต่ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงเห็นว่า การแพทย์และสาธารณสุขจะเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรยิ่งกว่า สมเด็จพระบรมราชชนกจึงเสด็จไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเริ่มศึกษาในด้านการแพทย์ที่นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของระบบสาธารณสุขของไทย ขณะที่ยังศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระบรมราชชนกได้ประทานสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New York Times เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2459 ความว่า… “แม้ว่าข้าพเจ้าอาจจะไม่มีโอกาสได้ขึ้นครองราชย์ แต่นั่นมิได้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ากังวลใจ เพราะความมุ่งมั่นของข้าพเจ้านั้น คือการดำรงชีวิตอยู่อย่างทรงคุณค่า ข้าพเจ้าอาจมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายอย่างสมพระเกียรติ ในฐานะพระอนุชาของพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า ข้าพเจ้ามิควรจะได้รับการยกย่องเพียงเพราะว่าข้าพเจ้าเป็นพระอนุชาของพระมหากษัตริย์เท่านั้น หากข้าพเจ้าจะได้รับการยกย่องเชิดชู ข้าพเจ้าก็หวังว่าจะเป็นเพราะเกียรติของข้าพเจ้าเอง นั่นก็คือ การอุทิศตน เพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชนและบ้านเมืองสยาม” พระราชปณิธานที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวสยามในครั้งนั้น ได้นำมาสู่การพัฒนาด้านการแพทย์ของไทยให้ก้าวไกลมากยิ่งขึ้น ด้วยน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่และพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ทรงวางรากฐานการแพทย์และสาธารณสุขไทยไว้อย่างมั่นคงนั้น ได้นำไปสู่ระบบการแพทย์ที่ก้าวหน้าได้มาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากลในปัจจุบัน สมเด็จพระบรมราชชนกจึงได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยว่า…“พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย”

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และองค์ที่ 7 ใน “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี” พระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2434 (ก่อน พ.ศ.2484 วันขึ้นไปใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 เมษายน ดังนั้น เดือนมกราคม 2434 ซึ่งเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลในปัจจุบันซึ่งตรงกับเดือนมกราคม 2535) ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในพระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระราชมารดา 7 พระองค์ (ท่านเป็นองค์ที่ 7)

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนาม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2434 ว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทร
วรางกูร สมบูรณ์เบญจพรสิริสวัสดิ์ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐลักษณะวิจิตรพิสิฏฐบุรุษย์ ชนุดมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร” พระนามที่เรียกและรู้จักกันทั่วไปว่า… “ทูลกระหม่อมแดง” ทรงมีพระสหาย คือ สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิรา
บรมราชเทวี ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ ตั้งแต่เสด็จในกรมฯมีพระชนมายุได้ 11 วัน เพราะเจ้าจอมมารดาถึงแก่อนิจกรรม ในส่วนพระราชจริยาวัตรนั้น ไม่ทรงถือพระองค์และทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณาต่อบรรดาประชาราษฎร์มาแต่ยังทรงพระเยาว์

พ.ศ.2442 : “ทรงเป็นนายร้อยพิเศษ” สมัยนั้นเป็นประเพณีที่เจ้านายผู้ชายจะเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก สมเด็จพระบรมราชชนกเข้าเป็นนักเรียนพิเศษโรงเรียนนายร้อย พร้อมๆ กับพระเชษฐาและพระอนุชา คือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดช เสด็จรับการฝึกจัดแถวทหารและการบริหารที่โรงเรียนนายร้อยทุกวันพุธและตอนเช้าวันเสาร์ มีนายร้อยโทหยิบเป็นครูถวายการฝึก การฝึกแถวเริ่มเวลา 06.30 น. ถึง 08.00 น. หลังจากนั้นทุกพระองค์จะเสด็จกลับพระราชวัง

Advertisement

พ.ศ.2446 : พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เมื่อพระชนมายุได้ 11 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 24 ถึง 30 ธันวาคม พ.ศ.2446 ภายหลังพระราชพิธีโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา “สมเด็จเจ้าฟ้าชาย” ขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม”

พ.ศ.2447 : “ทรงผนวช” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชเป็นสามเณร ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม ถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2447 พร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชอุปัชฌายาจารย์ ประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศ

พ.ศ.2448 : “เสด็จศึกษาในต่างประเทศ” ภายหลังทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปศึกษา ณ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธฯ กรมขุนนครราชสีมา และสมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย โดยเสด็จออกจากกรุงเทพฯ วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2448 ถึงลอนดอน วันที่ 11 มิถุนายน ปีเดียวกัน สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จไปประทับกับครอบครัว “นายคอลเอสเตอร์วิมส์” ในเมืองเล็กๆ ทรงศึกษาภาษาและวิชาสามัญ เพื่อให้ภาษาอังกฤษและความรู้อื่นๆ ดีขึ้น ทรงประทับในประเทศอังกฤษ ประมาณ 2 ปี

Advertisement

พ.ศ.2449 : “เสด็จศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์” เดือนพฤษภาคม 2449 เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

พ.ศ.2450 : “ทรงศึกษาที่ประเทศเยอรมนี” ในปี 2450 ได้เสด็จไปที่โรงเรียนเตรียมนายร้อย เมืองปอตสดัม ประเทศเยอรมนี เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น แพทย์ที่เยอรมนีได้ทำการรักษาอาการประชวรด้วยกระดูกสันหลังคดตั้งแต่ทรง
พระเยาว์ พระองค์ท่านทรงได้รับการรักษาโดยวิธีดึง คือ ถ่วงด้วยน้ำหนัก และให้นอนเหมือนอยู่ในเกราะ ซึ่งมีข้อดีคือ ทำให้พระองค์ท่านทรงเจริญพระชันษามีรูปร่างงดงาม

เมื่อทรงจบหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยชั้นต้นแล้ว เนื่องจากพระเจ้าจักรพรรดิแห่งเยอรมัน ทรงขอให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวส่งพระราชโอรสไปให้ทรงอุปการะเข้าศึกษาที่โรงเรียนทหารอีกพระองค์หนึ่ง สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จเข้าโรงเรียนนายร้อยชั้นสูง (โรงเรียนนายร้อยทหารบก) ที่ Royal Prussian Military Collage, Gross Lichterfelde ใกล้กรุงเบอร์ลิน ภายหลังที่ทรงสำเร็จจากโรงเรียน “นายร้อยทหารบก” แล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ไปทรงศึกษา “ด้านทหารเรือ” ณ Imperial German Naval College ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ ทรงฝึกอย่างหนักแบบพลทหาร มีการกรรเชียงเรือทุกวัน ถูล้างดาดฟ้าเรือ หัดเป็นช่างไฟใส่ถ่านหิน แต่ก็ทรงสนุกที่ได้ทรงทำหน้าที่ทุกอย่าง อย่างที่นักเรียนเยอรมันต้องฝึก “ทรงสอบได้เป็นที่ 1”
และในปีสุดท้ายของการศึกษา “ทรงชนะ…การประกวดการออกแบบเรือดำน้ำ”

พ.ศ.2451 : “นายร้อยตรีในกรมทหารบก” วันที่ 19 เมษายน รศ.127 (2451) ทรงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรีในกรมทหารบก

พ.ศ.2453 : “ทรงได้รับการเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ” 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทยในงานพระราชพิธีพระบรมศพ ทรงได้รับการเฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์”

พ.ศ.2454 : “ทรงได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือตรี” แห่ง “ราชนาวีไทย” ในปี 2454 ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายเรือตรีในกองทัพเรือเยอรมัน ทรงได้คะแนนดีเยี่ยมตามหลักสูตรและได้พระราชทานยศจากเมืองไทยเป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวีไทย เมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทรงรับราชการในกองทัพเรือเยอรมันเป็นเวลา 3 ปี

พ.ศ.2457 : “ทรงลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน” ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2457 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 อุบัติขึ้น ประเทศไทยประกาศเป็นกลาง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาธิราชจึงโปรดเกล้าฯให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเดนมาร์ก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นที่วางพระหทัย ประทับอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน ก็โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับประเทศ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงลาออกจากกองทัพเรือเยอรมัน เสด็จนิวัตประเทศไทยในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2458 รวมเวลาที่ประทับศึกษาอยู่ในอังกฤษ เยอรมนี และเดนมาร์ก ประมาณ 9 ปีเศษ

พ.ศ.2458 : “ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือ” 8 มีนาคม พ.ศ.2458 พระราชทานเงินบำรุงศิริราชพยาบาล 2,500 บาท ในการบำเพ็ญกุศล พระชนมายุครบ 24 พรรษา ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือ ในตำแหน่งสำรองราชการกรมเสนาธิการทหารเรือ ในวันที่ 2 เมษายน 2458 ได้รับพระราชทานยศเป็น “นายเรือโท” กรมเสนาธิ
การทหารเรือ ประมาณ 4 เดือน ทรงย้ายไปรับตำแหน่งใน “กองอาจารย์นายเรือ” แผนกตำรากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทรงสนพระทัยในการสอนนักเรียนนายเรือเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จพระบรมราชชนกทรงสนพระทัย และเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำ และเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง ซึ่งทรงศึกษามาจากประเทศเยอรมนี

ในสมัยนั้นเป็นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะบูรณะกองทัพเรือซึ่งขณะนั้นเล็กมาก จึงจัดให้มีการประชุมนายทหารเรือ สมเด็จพระบรมราชชนกถวายรายงานความเห็น “เรื่องเรือ” “ส” จำนวน 94 หน้า ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2457 ว่า “เมืองไทยเป็นประเทศเล็กไม่มีฐานทัพเรือและอู่ใหญ่ๆ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะมีเรือรบใหญ่ ควรใช้เรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกและมีประโยชน์กว่า แต่ในสมัยนั้นผู้ใหญ่ส่วนมากจบจากอังกฤษมีความเห็นว่า… “ควรใช้เรือใหญ่” เพื่อจะฝึกทหารไปในตัวและคิดว่าจะใช้เรือขนาด “ครูเซอร์” สมเด็จพระราชบิดาก็มิได้ทรงถืออำนาจ ก็ทรงยอมรับฟังแต่น้อยพระทัยว่า อุตส่าห์ไปทรงศึกษาวิชานี้โดยตรงจากเยอรมันครั้งเวลาปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ดังประสงค์ 10 สิงหาคม พ.ศ.2458 กระทรวงทหารเรือก็ลงคำสั่งให้นายเรือโทกรมสงขลานครินทร์ไปประจำแผนกตำรา กองอาจารย์โรงเรียนนายเรือ

พ.ศ.2459 : “ทรงลาออกจากกระทรวงทหารเรือ” ต่อมาลาออกจากประจำการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2459 รวมเวลาที่ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือ 9 เดือน 18 วัน ขณะรับราชการนั้นท่านได้ทรงทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำและร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย แต่ยังไม่ได้ทรงดำเนินการได้ลาออกเสียก่อน

ในปี พ.ศ.2459 นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ขณะนั้นสังกัดกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาในปัจจุบัน) ทรงพิจารณาเห็นว่า “โรงเรียนแพทย์” อยู่ในฐานะล้าหลังมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนแพทย์ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ ทรงตกลงพระทัยที่จะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่ต้องประสบอุปสรรค คือ หาผู้ที่มีวิชาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงพยายามชักชวนผู้ที่มีความรู้มาร่วมงาน พร้อมทั้งได้ขอร้องให้กระทรวงธรรมการติดต่อกับ “มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์” ให้ช่วยจัดอาจารย์ในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา และศัลยกรรม ซึ่งในครั้งนั้นประเทศไทยได้ผู้เชี่ยวชาญมาเพียงคนเดียว คือ ดร.เอจี เอลลิส ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์

“สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร” ได้เสด็จไปเฝ้า “สมเด็จพระบรมราชชนก” และทรงโน้มน้าวให้หันมาสนพระทัย “การแพทย์และสาธารณสุข” เสด็จในกรมฯ ได้ทรงออกอุบายเชิญเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำ เมื่อแล่นไปตามคลองบางกอกใหญ่ ผ่านเข้าคลองบางกอกน้อย พอเรือออกจากคลองบางกอกน้อย สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงทูลเชิญให้ทรงแวะที่ “ศิริราชพยาบาล” ซึ่งเป็นที่ทำงานของพระองค์ท่าน สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทอดพระเนตรโรงคนไข้ ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจาก มีที่ไม่พอรับคนไข้ นั่งรอนอนรออยู่ตามโคนต้นไม้ อุปกรณ์รักษาพยาบาลขาดแคลน โรงเรียนแพทย์มีเครื่องมือในการเรียนไม่เพียงพอ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงทราบถึงความยากลำบากและขาดแคลนของศิริราช ทรงสลดพระทัยเป็นอันมาก เสด็จในกรมฯ กราบบังคมทูลวิงวอนให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงจัดการศึกษา เสด็จในกรมฯ บรรเทาหาเหตุผลที่ทรงทำเช่นนั้นว่า…เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้ใดเสด็จช่วยเหลืองานมากขึ้น อนึ่งทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุดทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทรงทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ถ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงตกลงพระทัยที่จะจัดการเรื่องการแพทย์

“สมเด็จพระบรมราชชนก” ทรงรับสั่งว่า พระองค์เป็นทหารเรือจะช่วยได้อย่างไร? เสด็จในกรมฯ ทูลว่าพระองค์ก็ไม่ใช่แพทย์ มีความรู้ทางการศึกษา ส่วนหม่อมเจ้าพูลศรีเกษมก็ทรงเรียนมาทางเคมีและพฤกษศาสตร์ แต่ก็ได้พยายามช่วยเต็มที่ เพราะเห็นความจำเป็นและคิดว่าถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่มีใครช่วยเลย หลายวันต่อมาจึงได้ทรงแจ้งว่า… “ตกลงพระทัย จะทรงช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะเสียก่อน เพื่อจะให้งานได้ผลจริงๆ”

พระองค์ทรงเข้าศึกษาวิชาเตรียมแพทย์ของโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ (Cambridge, Massachusetts) สหรัฐอเมริกา จบชั้นปีที่ 2 จึงทรงเปลี่ยนไปศึกษาต่อด้านสาธารณสุขที่ School for Health Officer มหาวิทยาลัย Harvard และ Massachusetts Institute of Technology รายละเอียดติดตามฉบับหน้านะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image