‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ โต้ปิยบุตร ดีลซ่อมถนน-ป้ายขอบคุณ ไม่ขัด รธน. แนะถ้ามีโอกาสเป็น ส.ส.จะเข้าใจ
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 นายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต 1 นครพนม รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เปิดเผยว่า กรณี นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาเปิดเผยข้อมูลตั้งข้อสังเกตข้องใจ กรณีมีชาวบ้านอำเภอบ้านแพงขึ้นป้ายขอบคุณตน กรณีมีการพัฒนาซ่อมแซมถนนที่ชำรุด ถามว่าเข้าข่ายขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมองว่าตนมีส่วนในการผลักดันวิ่งเต้น ดึงงบประมาณลงพื้นที่ เข้าข่ายขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตนขอทำความเข้าใจว่า ป้ายดังกล่าวเป็นความคิดชาวบ้าน ตัวแทนชาวอำเภอบ้านแพง ไม่เกี่ยวข้องกับตน ส่วนที่มาเดิมก่อนนี้ถนนชำรุดมาหลายปี ชาวบ้านสัญจรไปมาเดือดร้อน จึงได้ประสานหารือตนร่วมตรวจสอบหาทางแก้ไขในฐานะ ส.ส.พื้นที่
ตนจึงได้ลงพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านและประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องมาดำเนินการแก้ไขตามขั้นตอน ภายหลังทางแขวงทางหลวงได้มาตรวจสอบตามหน้าที่และจัดสรรงบประมาณมาซ่อมแซม ชาวบ้านจึงเข้าใจกันเองว่าตนเป็นคนผลักดันงบประมาณมาแก้ไข ทั้งที่ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่เคยวิ่งเต้น สั่งการใคร เพียงแค่ประสานงานตามขั้นตอน และไม่ได้ไปกดดันขอเพิ่มเติมงบประมาณจากใคร แม้แต่รัฐมนตรีคมนาคมพรรคเดียวกัน แต่เป็นการประสานงานระหว่างหน่วยงานช่วยแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องชาวบ้านจนมีการซ่อมแซมตามขั้นตอนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ส่วนชาวบ้านจะมาขึ้นป้ายขอบคุณเป็นสิทธิของชาวบ้าน ไม่ได้สั่งการใคร
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ตนอยากให้เข้าใจว่าตนเป็น ส.ส.พื้นที่ เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจะละเลยไม่สนใจในการทำหน้าที่ ส.ส.ถามว่าชาวบ้านจะพึ่งใคร แต่ตนมั่นใจว่าการทำหน้าที่ผู้แทนของตนไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แน่นอน เป็นผู้แทนมาหลายสมัย ไม่ได้จบกฎหมายจากเมืองนอก แต่ตีความออก เพราะการนำปัญหาความเดือดร้อนมาเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปยังหน่วยงาน ไม่ได้ไปวิ่งเต้นของบ แปรญัตติ เพื่อขอรับโครงการลงพื้นที่
ส่วนรัฐบาลจะจัดสรรงบลงพื้นที่ตามความเหมาะสม มีกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อจัดสรรงบลงมาให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดูแล ฝากคุณปิยบุตรทำความเข้าใจใหม่ คงเข้าใจคลาดเคลื่อน ขอบคุณสำหรับการตั้งข้อสังเกต แต่การจะออกมาตั้งคำถามอะไรฝากให้พิจารณาข้อเท็จจริงเสียก่อน เพราะพูดไปแล้วมีผลเสียแก่คนอื่น การเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่อย่าพูดลอยๆ ควรดูข้อเท็จจริง ต้องพิจารณาก่อนที่จะออกมาตั้งคำถาม ไม่ควรสร้างความขัดแย้ง
การเป็น ส.ส.ตลาดล่าง ไม่ได้สุขสบายเหมือน ส.ส.ตลาดบน และไม่ได้มีโอกาสเป็น ส.ส.ตลาดล่าง จะไม่มีวันเข้าใจว่าการทำหน้าที่ผู้แทนใกล้ชิดประชาชน ต้องดูแลแก้ไขปัญหาปากท้องแก่ชาวบ้านหลายเรื่อง ทุกวันชาวบ้านเข้ามาขอความช่วยเหลือมากมาย มาประสานงานแก้ไขปัญหาต่างๆ คงไม่สามารถละเลยได้ เมื่อเห็นชาวบ้านเดือดร้อน แตกต่างจาก ส.ส.ตลาดบน ทำงานภาพรวม เน้นอภิปรายในสภา
ตนขอย้ำว่า หากเป็นผู้แทนตลาดล่าง ทำงานไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนเป็นความเดือดร้อนชาวบ้าน สิ่งไหนผิดกฎหมาย ชาวบ้านคงหาที่พึ่งไม่ได้ และหากการประสานงานดูแลช่วยเหลือชาวบ้านผิดกฎหมาย คงต้องพ้นตำแหน่งเกือบทั้งสภา ทุกขั้นตอนมีหน่วยงาน กระบวนการตรวจสอบ แต่ต้องแยกให้ออกถึงหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือชาวบ้าน
ครูแก้วกล่าวทิ้งท้ายว่า เช่นเดียวในการประชุมสภาผู้แทนทุกสัปดาห์ ยังเปิดโอกาสให้ ส.ส.ในสภา ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 15 คน รวม 30 คน นำปัญหา ความเดือดร้อนชาวบ้านมาอภิปราย คนละ 2 นาที ผ่านสภาผู้แทนเสนอไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อหารือแก้ไข โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปรญัตติ วิ่งเต้นของบประมาณ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลในการพิจารณางบลงไปช่วยเหลือ
เช่นเดียวกัน ตนอยู่ในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านมีปัญหาความเดือดร้อน ต้องทำหน้าที่ ตรวจสอบ ประสานงาน หารือหน่วยงานมาแก้ไข ไม่ใช่ละเลย เพราะกลัวจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ถ้าคิดได้เช่นนั้น และแยกแยะไม่ออกระหว่างปัญหาชาวบ้านกับข้อกฎหมาย กลัวแต่ขัดกฎหมาย คงไม่มีประโยชน์ที่จะเข้ามาเป็นผู้แทน