พณ.ปลื้มทุกภาคส่วน สนใจ”อนาคตเปิดเสรีอาร์เซ็ป” เร่งทำความเข้าใจทั่วประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการสัมมนาประชาพิจารณ์ ‘ก้าวต่อไปของไทย หลังปิดดีลอาร์เซ็ป’ จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ วันที่ 13 สิงหาคม ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ว่า มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบการ SME นักวิชาการ และภาคประชาสังคมกว่า 200 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากความตกลงอาร์เซ็ป และการเตรียมปรับตัวรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และยังได้มีการถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจของกรมฯ ตลอดงาน

นางอรมน กล่าวว่า เมื่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) มีผลใช้บังคับปี 2564 ตามที่สมาชิกอาร์เซ็ป คือ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ได้ตั้งเป้าไว้ ถือเป็นความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีประชากรกว่า 3,600 ล้านคน หรือ 48.1% ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพีกว่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.7% ของจีดีพีโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 29.5% ของมูลค่าการค้าโลก และในความตกลงฉบับนี้ ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปิดตลาดลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรให้ไทยเพิ่มเติมมากกว่าที่ลดให้ในเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาคู สินค้าประมง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยควรเตรียมพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากผลการเจรจาอย่างเต็มที่

นางอรมน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเดียวกันในการส่งออกไป 16 ประเทศ จากเดิมใช้เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันตามความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับ อีกทั้งเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาร์เซ็ปยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งจากประเทศในกลุ่มและนอกอาร์เซ็ปได้อีกด้วย นอกจากนั้น อาร์เซ็ปยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทย และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพอีกด้วย โดยผู้ประกอบการควรศึกษากฎระเบียบและรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

นางอรมน กล่าวต่อว่า จากนี้กรมมีแผนยจัดงานสัมมนาในภูมิภาค ประเดิมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ขอนแก่น) และต่อด้วยภาคใต้ (สงขลา) ในเดือนกันยายน 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอาร์เซ็ปอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังจากที่เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างกิจกรรมทางการค้าการลงทุน และช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยและในภูมิภาคอาร์เซ็ปให้ดีขึ้น” นางอรมน กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image