แพทย์ คาด “วัคซีนรัสเซีย” จะไม่เป็นที่ยอมรับ เหตุ วิจัยไม่สมบูรณ์

แพทย์ คาด “วัคซีนรัสเซีย” จะไม่เป็นที่ยอมรับ เหตุ วิจัยไม่สมบูรณ์

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีควบคุมโรค แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ไม่พบผู้ป่วยในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยืนยันว่ายังไม่สามารถนิ่งนอนใจและคลายกังวลได้ทั้งหมด สถานการณ์ทั่วโลก บางประเทศจากอัตราป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน ในรายวัน พบว่า ประเทศฟิลิปปินส์ มีอัตราป่วยสูงกว่าอัตราป่วยเฉลี่ยจากทั่วโลก ประเทศไทยมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างดูดีมาก รวมถึงในบางประเทศที่มีแนวคิดว่า ปล่อยให้ประชากรติดเชื้อ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งค่อนข้างต้องใช้เวลานาน เนื่องจากประเทศที่มีการระบาดสูง เช่น สหรัฐอเมริกา ยังมีจำนวนผู้ป่วยอยู่ที่ร้อยละ 7 ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะต้องมากกว่ามีผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 70 แต่ขณะนี้ยังไม่มีเมืองใดในสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการป่วยมากกว่าร้อยละ 10

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีผู้เสียชีวิต 2 รายใน จ.ชลบุรี 2 ย้ำว่า ไม่ใช่เพราะโควิด-19 เนื่องจากการติดเชื้อปอดอักเสบ มีหลายชนิด และก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่มีความเสี่ยงสูง แม้แต่ในกลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัว หรือไม่มีความเสี่ยงก็สามารถเสียชีวิตได้ ทั้งนี้โรคปอดอักเสบและโควิด-19 มีอาการของปอดอักเสบเป็นแนวระนาบเดียวกัน ทาง สธ. จึงมีมาตรการเฝ้าระวังในผู้ป่วยปอดอักเสบในการหาเชื้อโควิด-19

กรณีที่ประเทศรัสเซีย ประกาศอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ที่มีการทดลองในมนุษย์ยังไม่ครบทั้ง 3 ระยะ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า วัคซีนที่ยอมรับได้จะต้องผ่านการทดลองในมนุษย์ครบทั้ง 3 ระยะ เพื่อทดสอบความปลอดภัยและการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่สามารถทำควบกันไปได้ เช่น การวิจัยระยะที่ 1 และ 2 สามารถวิจัยควบคู่กันไปได้ เพื่อลดระยะเวลา แต่วัคซีนของรัสเซีย เพิ่งเริ่มทำการวิจัยระยะที่ 1 ในเดือนมิถุนายน และยังไม่จบสิ้น แต่รัฐบาลของรัสเซียเลือกที่จะอนุมัติและอนุญาตให้มีการนำมาใช้ได้ แต่หลักการทั่วไปแล้วฝ่ายโลกตะวันตกน่าจะไม่ให้การยอมรับ

Advertisement

“จริงๆ แล้ววัคซีนจะต้องรอให้ ครบ 3 ระยะ เนื่องจากระยะที่ 3 เป็นการวิจัยว่า สามารถป้องกันโรคได้หรือไม่ เนื่องจากมีวัคซีนหลายชนิดที่กระตุ้นภูมิคุ้มได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคได้จริง เช่น วัคซีนเอดส์ ที่ยังไม่มีใช้ เนื่องจากผ่านระยะ 1-2 แต่เมื่อเข้าระยะ 3 ไม่สามารถป้องกันโรคได้จริง ดังนั้นเราต้องการวัคซีนที่ปลอดภัยและป้องกันโรคได้จริงมาใช้ จึงต้องรอการวิจัยต่อไป อย่างไรก็ตามรัฐบาลและ สธ.ก็พยายามหาวัคซีนมาให้ประชาชนได้ใช้ ขอให้อดทนรอต่อไป” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ความพยายามของไทย 2 ทางหลัก คือ 1.วิจัยเพื่อผลิตวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากผ่านการทดลองใน 3 ระยะและได้ผล ประเทศไทยจะมีความพร้อมในการผลิตด้วยตัวเอง เนื่องจากได้มีการบันทึกข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแล้ว จากเจ้าของสิทธิ์บัตรมายังโรงงานผลิตในไทย และ 2.ความพยายามติดต่อกับทีมวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด และ เอ็ดทราแซนดิก้า ในการขอสิทธิ์ผลิตวัคซีนที่ได้ผลและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ยังมีการเตรียมการจัดซื้อวัคซีนผ่านองค์การอนามัยโลก(WHO) โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประกาศว่า หากมีวัคซีนใดที่สามารถป้องกันโรคได้ร้อยละ 50 ป้องกันโรคได้ในระยะ 6 เดือนก็จะมีการขึ้นทะเบียนให้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image