เปิดเหตุผล ประธานก.อ.ชงตั้งอนุฯสอบวินัย ‘เนตร’ รองอสส.สั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา แต่โดนตีตก

เปิดเหตุผล’อรรถพล’ประธานก.อ.ชงตั้งอนุฯสอบวินัย’เนตร’ ระบุกระทบความน่าเชื่อถือสังคม หากก.อ.ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบต้องมีเหตุผลอธิบายสาธารณชน เผย5รายชื่อก.อ.เห็นควรตั้งสอบ

เมื่อวันที่ 18  สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือของ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)ที่เสนอตั้งคณะอนุกรรมการสอบดุลยพินิจนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งที่ในการประชุม ก.อ.ครั้งที่8/2563 แต่ปรากฏว่า มติเสียงส่วนมากไม่เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวนั้น

มีนายอรรถ ในฐานะประธานก.อ. ได้ส่งถึง ก.อ. มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

เรียน ก.อ. ด้วยกรณีการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธหรือบอส อยู่วิทยา โดยนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนและเป็นที่สนใจและวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในคดีนี้อันอาจมีผลกระทบต่อการดำรงตนและสถานะของพนักงานอัยการซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือต่อประชาชนและสังคมตลอดมาได้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีนี้ให้ได้ข้อยุติเพื่อพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป

อำนาจหน้าที่ของ ก.อ. เกี่ยวกับกรณีนี้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 248ที่กำหนดว่า “องค์กรอัยการมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี  และการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็วเที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวงและไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง

Advertisement

การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระโดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งต้องไม่เป็นพนักงานอัยการและผู้ทรงคุณวุฒิบรรดาที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อนสองคน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคสามต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามวรรคสองหรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดแจ้งและใช้เป็นการทั่วไปโดยจะมอบอำนาจให้มีการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปมิได้

”พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 17 ในกรณีที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นไปตามที่ก.อ.กำหนด

Advertisement

ให้ ก.อ. ทำเป็นระเบียบข้อกำหนดหรือประกาศตามที่เห็นสมควรระเบียบข้อกำหนดและประกาศของ ก.อ. ตามพระราชบัญญัตินี้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 30 นอกจากอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นให้ ก.อ. มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ (8)พิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยข้าราชการฝ่ายอัยการและการสั่งให้ข้าราชการฝ่ายอัยการออกจากราชการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(10)แต่งตั้งอนุกรรมการบุคคลหรือคณะบุคคลเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ ก.อ. มอบหมาย

มาตรา 82การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของ ก.อ. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.อ. กำหนด

การที่ อสส. ตั้งคณะทำงานชุดท่านสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธานเพื่อตรวจสอบความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธฯ ของร. อสส. (นายเนตรฯ ) เป็นการตั้งตามอำนาจหน้าที่ในส่วนของอสส. ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553มาตรา 27 แม้ขณะนี้ยังไม่มีการออกและประกาศระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยสำหรับอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุด

แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 248วรรคสามกำหนดให้การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการดังนั้นการตั้งอนุกรรมการหรือคณะบุคคลเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธฯ ของรอง อสส. (นายเนตรฯ ) แล้วรายงาน ก.อ. ทราบเพื่อพิจารณาต่อไปสามารถตีความได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานบุคคลซึ่งมีทั้งการกำหนดอัตรากำลังการแต่งตั้งโยกย้ายดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษและรวมถึงการพิจารณาและดำรงตนที่เหมาะสมทั้งทางส่วนตัวและหน้าที่การงานของพนักงานอัยการการปฏิบัติงานที่เหมาะสมถูกต้องของพนักงานอัยการด้วยเหตุผลอีกประการหนึ่งที่เรื่องนี้ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.อ. โดยตรงคือหากกรณีข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นอัยการสูงสุดเป็นผู้ถูกกล่าวหาหากตีความว่า ก.อ. ไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบพิจารณาในเบื้องต้นก่อนตัดสินใจว่าควรจะดำเนินไปทางใดทางหนึ่งต่อไปภายในองค์กรอัยการเอง เช่นยุติเรื่องก่อนที่จะเข้าไปสู่กระบวนการดำเนินการทางวินัยหรือมีมูลต้องดำเนินการต่อไปจะทำให้ ก.อ. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในเบื้องต้นที่จะพิจารณาก่อนว่าควรดำเนินการทางวินัยกับอัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดหรือไม่

จะทำให้องค์กรภายนอกเข้ามาตรวจสอบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อองค์กรอัยการเมื่อมีการแต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะบุคคลดังกล่าวโดย ก.อ. แล้ว

ขณะเดียวกันเร่งพิจารณาออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษทางวินัยอัยการสูงสุดและรองอัยการสูงสุดแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปเพื่อพร้อมสำหรับการใช้หากมีความจำเป็นดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น

กรณีการสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธหรือบอส อยู่วิทยาโดยนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ก. อ.จึงมีความจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นกรณีนี้เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้วรายงานผลพร้อมความเห็นของอนุกรรมการหรือคณะบุคคลต่อ ก.อ. ว่าควรจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ของ ก.อ. หรือควรยุติเรื่อง หาก ก.อ. เห็นว่าไม่ควรตั้งอนุกรรมการหรือคณะบุคคลต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมอธิบายต่อสาธารณชนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับรายชื่อที่มีการเสนอดังกล่าว ประกอบด้วย 1.นายสหายทรัพย์ สุนทรกุลประธานอนุกรรมการ 2.นายถาวร พานิชพันธ์อนุกรรมการ 3.นายวัยวุฒิหล่อตระกูลอนุกรรมการ 4.นายภราดร ศรีศุภรางค์กุลอนุกรรมการ 5.นายมนัส สุขสวัสดิ์ อนุกรรมการเลขานุการโดยให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่

1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายเนตรนาคสุขรองอัยการสูงสุดในกรณีมีความเห็นและคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธฯ ของรองอสส. (นายเนตรฯ ) ให้ได้ข้อยุติเบื้องต้นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมด้วยความระมัดระวังมิให้เสียหายแก่ราชการรวมทั้งถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการแล้วหรือไม่เพียงใด

2.เสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาหรือปรับปรุงการบริหารงานบุคคลของพนักงานอัยการที่มีผลเกี่ยวเนื่องมาจากกรณีตามข้อ1.

3.เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามข้อ 1และข้อ 2ให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจเรียกบุคลากรในสำนักงานอัยการสูงสุดมาให้ถ้อยคำและขอเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานในสำนักงานอัยการสูงสุดรวมทั้งการเชิญขอความร่วมมือหรือขอเอกสารต่าง ๆ จากบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

4.เสนอรายงานผลการตรวจสอบพร้อมความเห็นและข้อเสนอแนะตามข้อ 1และข้อ 2ต่อ ก.อ. เพื่อประกอบการพิจารณาโดยเร็วต่อไป

สำหรับรายชื่อ ก.อ.ทั้ง15คนประกอบด้วบ
1.นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานกรรมการอัยการ

2.นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด รองประธานกรรมการอัยการ

3.นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด

4.นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด

5.นายสาวิตร บุญประสิทธิ์ รองอัยการสูงสุด

6.นายสุริยะ แบ่งส่วน รองอัยการสูงสด

7.ร้อยโทไชยา เปรมประเสริฐ รองอัยการสูงสุด

8.นางพิมพร โอวาสิทธิ์

9.นายไพรัช วรปาณิ

10.นายประสาน หัตถกรรม

11.นายกิตติ ไกรสิงห์

12.นายชาตรี สุวรรณิน

13.นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

14.นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน

15.นายชาติพงษ์ จีระพันธุ

ซึ่งในการประชุมวันนี้ที่มีความเห็นให้ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบมี 5 ประกอบด้วย นายอรรถพล ประธาน, นายชาติพงษ์ จิระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจฯ ,นายไพรัตน วรปาณิ, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักคดีอาญาธนบุรี ,นายชาตรี สุวรรณิน ในส่วนอีก10คนที่เหลือจะเป็นผู้ที่ไม่ออกเสียงเเละไม่เห็นชอบในการตั้งคณะอนุกรรมการดังกล่าวโดยในการพูดประเด็นนี้ในที่ประชุมนายเนตรต้องออกจากห้องประชุม

อ่านรายละเอียด
เว็บเพจประธานคณะกรรมการอัยการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image