สช.ถกกฤษฎีกาหักเงินอุดหนุน หลังร.ร.เบี้ยวจ่ายกองทุนสงเคราะห์ครู

สช.ถกกฤษฎีกาหักเงินอุดหนุน หลังร.ร.เบี้ยวจ่ายกองทุนสงเคราะห์ครู

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กช. ที่มีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความก้าวหน้า ที่สช.เสนอให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ช่วยพิจารณาในเรื่องการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยกเว้นภาษีป้ายเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งทางพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการ มท. ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โรงเรียนเอกชนทุกประเภทได้รับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 และเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป จึงได้ส่งข้อมูลให้กระทรวงการคลัง ประกอบการพิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป ส่วนภาษีป้ายนั้น ตามพ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2560 กำหนดไว้ว่าโรงเรียนเอกชนได้รับการยกเว้นภาษีป้าย ซึ่งยกเว้นเฉพาะป้ายชื่อโรงเรียนเท่านั้น ไม่รวมถึงป้ายโฆษณา ดังนั้นถ้าจะให้ยกเว้นภาษีป้ายโฆษณา ไม่อาจทำได้ แต่ในกรณีป้ายโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาให้ความรู้ สร้างความเข้าใจโดยไม่มีเจตนาหารายได้ จะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งสช.จะส่งหนังสือฉบับนี้ให้โรงเรียนใช้อ้างอิงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดเก็บภาษีป้ายได้

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สช.ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบข้อมูลจำนวนโรงเรียนเอกชนประจำเดือนสิงหาคม ดังนี้ โรงเรียนในระบบ จำนวน 4,110 แห่ง ประเภทสามัญศึกษา 3,884 แห่ง ประเภทนานาชาติ 226 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ขอจัดตั้งใหม่ 3 แห่ง โรงเรียนนอกระบบ จำนวน 10,097 แห่ง จัดตั้งใหม่ 3 แห่ง เลิกกิจการ 80 แห่ง ทั้งนี้ สช.จะดำเนินการสำรวจจำนวนโรงเรียนเอกชนทุกเดือน เพื่อควบคุมและจัดระบบข้อมูลต่อไป อย่างไรก็ตาม สช.พบว่ามีโรงเรียนนอกระบบ 3,363 แห่ง เปลี่ยนกิจการเป็นอย่างอื่นแล้ว ซึ่งไม่มารายงาน สช.ให้รับทราบ ดังนั้นหากโรงเรียนใดไม่ประกอบกิจการเกิน 90 วัน ให้รีบมาแจ้งเลิกกิจการภายใน 30 วัน ก่อนที่ สช.จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากนี้ยังพบว่ามีโรงเรียนนอกระบบหลายแห่งได้ทำการย้ายสถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย สช.จะเร่งดำเนินการควบคุมต่อไป

“ส่วนการสั่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียนในระบบนั้น ภาพรวมทั้งประเทศ สช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนสมฤทัยวิทยาลัย ลำปาง และได้สั่งยกเลิกคำสั่งควบคุมโรงเรียนในระบบ 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลวัฒนานคร จ.สระแก้ว และโรงเรียนอนุบาลบ้านสิทธิวงศ์ จ.ชัยภูมิ นอกจากนี้ได้รายงานผลสถานะกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อสรรหาผู้อำนวยการกองทุน ที่มาแทนคนเดิมที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้แล้ว โดยเน้นย้ำว่าผู้อำนวยการกองทุน จะต้องเป็นคนที่มีความรู้และเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้สช.พบว่ามีโรงเรียนเอกชนที่ขาดส่งเงินสมทบอยู่ 134 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้จะไปปนกับโรงเรียนที่เลิกกิจการแล้ว สช.จะเร่งจัดการข้อมูลโรงเรียนให้แล้วเสร็จ” นายอรรถพล กล่าว

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นางกนกวรรณ มอบหมายให้ สช.หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการส่งเงินสมทบกองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน จากเดิมโรงเรียนจะเป็นผู้จัดส่งเอง แต่บางโรงเรียนส่งช้า บางโรงเรียนก็ไม่ส่งเลย ถ้า สช.จะหัก ณ ที่จ่ายจากเงินอุดหนุนที่ สช.ส่งให้ทุกเดือนนั้น สามารถดำเนินการได้หรือไม่ ตลอดจน สช.ได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาร่างกฎกระทรวงการขอรับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการและการขอเปลี่ยนแปลงรายการในสารจัดตั้ง และกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ ฉบับที่ … พ.ศ. … ร่างกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ ฉบับที่ … พ.ศ. … และร่างคำสั่ง ศธ. เรื่องมอบอำนาจการอนุญาตหลักสูตรโรงเรียนนอกระบบให้เลขาธิการ กช. ผู้ว่าราชการจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทน ซึ่งที่ประชุมขอให้ สช.ไปพิจารณาเพื่อความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image