เสวนา ‘(เป็นประชา)รัฐ’ ในวันที่ ‘ชาติ’ ถูกช่วงชิงความเป็นเจ้าของ

เสวนา ‘(เป็นประชา)รัฐ’ ในวันที่ ‘ชาติ’ ถูกช่วงชิงความเป็นเจ้าของ : โดย สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

ท่ามกลางสมรภูมิการเมืองร้อนแรงในช่วงเวลาของการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยอันจริงแท้ มวลชนคนหนุ่มสาวง้างมือสาวหมัดรัวซัดเผด็จการผ่านแฟลชม็อบมากมายทั่วราชอาณาจักรไทย ยังไม่นับชาวสยามนอกอาณาเขตที่หลายกลุ่มแสดงเจตจำนงหนุน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืนของคณะประชาชนปลดแอก

“ชาติ” กลายเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในการติเตียนคนคิดต่าง

ในขณะที่วาทะ “ชังชาติ” ปลิวว่อนดาษดื่น เพลงชาติก็กึกก้องพร้อมโบขาวบนเรือนร่างเยาวชนคนรุ่นใหม่และฝ่ายต้านเผด็จการ

นิยามของ “ชาติ” ไม่เพียงถูกปลุกขึ้นมาหานิยามความหมาย ทว่าการช่วงชิงความเป็นเจ้าของชาติก็ปรากฏขึ้นอย่างน่าสนใจ

Advertisement

ช่วงบ่ายของวันพุธที่ 26 สิงหาคม ที่ “มติชนอคาเดมี” สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จับมือจัดเวทีเสวนา “เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ว่าด้วยชาติและลัทธิชาตินิยม” โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังอย่างล้นหลาม

ถ้า “เบน แอนเดอร์สัน” อยู่ทัน “ม็อบมุ้งมิ้ง”

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ปาฐกถานำโดย ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะกรรมการและเลขานุการมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ประกาศออกไมค์ว่า งานเสวนาวันนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึง ศ.เบน แอนเดอร์สัน เจ้าของผลงาน “ชุมชนจินตกรรม” ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยสมัยใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ตนอยากทราบว่าหาก ศ.เบนยังมีชีวิตอยู่และได้สัมผัสกับแฟลชม็อบ, ม็อบมุ้งมิ้ง และม็อบตุ้งติ้ง จะมีความเห็นอย่างไรในวันที่เรามาถึงจุดซึ่งมีการหยิบเรื่องชาติขึ้นมาหาความหมาย มีการใช้วาทกรรมรักชาติ ชังชาติ โดยคำว่า “ชาติ” นั้น แปลมาจาก “Nation” แต่บางท่านบอกว่าที่ถูกต้องควรเป็น “ประชาชาติ”

Advertisement

“26 สิงหาคม คือวันคล้ายวันเกิดอาจารย์เบน ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่จะมีอายุ 84 ปี ประเด็นเรื่องชาติ ลัทธิชาตินิยม รักชาติ ชังชาติ แท้จริงมีความหมายอย่างไร เราควรคุยเรื่องนี้ในหลักวิชาการให้เกิดความเข้าใจว่าในขณะนี้ทำไมมีการใช้เพลงชาติ ชู 3 นิ้ว ผูกโบขาว”

ศ.ดร.ชาญวิทย์ยังย้อนเล่าถึงประวัติชีวิตที่ “ไม่ธรรมดา” ของ “อาจารย์เบน” ว่า ท่านเกิดที่คุนหมิง ยูนนาน ใน พ.ศ.2479 บิดาเป็นคนไอริช มารดาเป็นชาวอังกฤษ ตระกูลทั้งฝั่งบิดาและมารดาสามารถสืบเชื้อสายย้อนไปได้หลายร้อยปี ถือเป็นคนไม่ธรรมดา แม้แสดงตัวเองว่าธรรมดา เริ่มเขียนผลงานวิชาการตั้งแต่อายุ 23 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2502-2558 รวมกว่า 370 รายการ เคยเขียนผลงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอินโดนีเซียจนทำให้ไม่สามารถเข้าประเทศดังกล่าวได้นานถึง 26 ปี การถูกแบนในครั้งนั้นทำให้อาจารย์เบนข้ามมาศึกษาการเมืองไทยและฟิลิปปินส์ ดื่มด่ำทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทย โดยบอกว่าถ้าอยากเชี่ยวชาญประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องฝันให้เป็นภาษาของชาตินั้น ตนก็พยายาม แต่ยังทำไม่ได้

“อาจารย์เบนเป็นคนมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ทำให้ทั้ง 2 สิ่งกลายเป็นสิ่งเดียว เห็นอะไรในโลกนี้อย่างที่น้อยคนจะได้เห็นและพึงจะเห็นด้วย สำหรับผลงานที่เกี่ยวกับเมืองไทย ท่านเขียนไว้หลายรายการ ทั้งบทความและหนังสือ เช่น 1.ในกระจก วรรณกรรมการเมืองไทยของสยามยุคอเมริกัน (In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era) 2.ไกลกะลา แปลจาก (A Life Beyond Boundaries) 3.บ้านเมืองของเราลงแดง ซึ่ง อ.เกษียร เตชะพีระ เป็นคนตั้งชื่อภาษาไทย”

ชาติที่ต้องรักทุกวัน “ทหาร” ที่ห้ามชังทุกกรณี

กล่าวจบ เริ่มเสวนาบนเวที โดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกรมติชนทีวี ดำเนินรายการอย่างรื่นไหล ยื่นไมค์ถาม พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ถึงคำว่าชาติในความทรงจำ และรับรู้

อดีตคณบดีนิติศาสตร์ อดีต ส.ว. และอดีต ส.ส.ร. ในท่านเดียวกัน ย้อนเล่าว่า ตนเกิดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อ 80 ปีก่อน ซึ่งเหมือนดินแดนลับแล การเดินทางยากลำบาก ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าชาติไทยยิ่งใหญ่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ชาติที่รู้จักก่อนอื่นคือชาติในเพลงชาติ ต้องรักชาติโดยไม่เคยตั้งคำถามใดๆ มีการแบ่งแยกว่าไทยแท้กับไม่ใช่ไทยแท้ ดูจากนามสกุลว่าเป็นไทย หรือนามสกุลที่เป็นแซ่

อย่างไรก็ตาม การค้นหาความหมายของคำว่าชาติในทางวิชาการเกิดขึ้นตอนเรียนกฎหมาย คำว่า ชาติ รัฐ และประเทศปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอย่างมากมาย โดยเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงหน้าที่คนไทยว่าต้องพิทักษ์ชาติ แต่ไม่มีการให้นิยามกำกับ อย่างไรก็ตาม มีการอธิบายความหมายไว้ในตำราของปรมาจารย์รุ่นเก่า เช่น ผลงานของ ศ.หยุด แสงอุทัย สำหรับความหมายในพจนานุกรม หมายถึงประเทศ, ประชาชนของประเทศ และกลุ่มคนที่มีความรู้สึกเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน

“ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าเราต้องรักชาติ ทุกวันต้องร้องเพลงชาติหน้าเสาธง ต้องยืนตรงเลี่ยงไม่ได้ มีเพลงปลุกใจอย่างเพลงต้นตระกูลไทย ต่อมาผมพยายามศึกษารากเหง้า ชาติกำเนิดว่าตัวเองมาจากไหน จึงพบว่าน่าจะเป็นมอญ ต้นตระกูลอยู่ทางอำเภอสรรบุรี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี”

ส่วนวาทกรรม “ชังชาติ” นักวิชาการอาวุโสมองว่า นัยยะของผู้ที่กล่าวหาคนอื่นคือ คุณอยู่ไม่เป็น ไม่อยากอยู่ที่นี่ก็ไปอยู่ที่อื่น ทางแก้คือต้องให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชาติยอมเปิดพื้นที่ ซึ่งตนมองว่า “ประชาธิปไตยเท่านั้น” จึงจะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลาง

“ปรากฏการณ์ตอนนี้คือการที่บรรดาเยาวชนปลดแอกพยายามขอพื้นที่ที่เห็นต่างได้ ลัทธิชาตินิยมคือปัญหา คุณคิดอย่าง ผมคิดอย่าง คนชี้หน้ากันว่าชังชาติ พอไม่ชอบทหารบอกว่าชังชาติ ทหารกลายเป็นองค์ประกอบของลัทธิชาตินิยม”

อีกประเด็นน่าสนใจคือสื่อมวลชน ซึ่ง พนัส กล่าวว่า ยุคนี้สื่อไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงอย่างที่ควรมี ไม่สามารถรายงานได้อย่างอิสระ ทุกข้างมีกฎในการเซ็นเซอร์ตัวเอง ที่แย่กว่านั้นคือ คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศก็พยายามเข้าไปเป็นเจ้าของสื่อ ในอดีต สื่อมีการดิ้นรนต่อสู้มากกว่ายุคนี้ ทั้งที่ไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์ หลายคนถึงกับต้องสละชีวิต

“สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาก็เช่นกัน องค์กรครูแทบไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีแค่ความเป็นข้าราชการที่บีบรัด ถูกผู้บังคับบัญชาข่มขู่ ระบบการศึกษาสร้างขึ้นมาเพื่อกล่อมให้คนไทยตั้งแต่เด็กไปสู่อะไรกันแน่ ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องมาทบทวน ว่าทำอย่างไรจะให้สื่อเป็นอิสระ มีเสรีภาพ อาจต้องใช้คำว่าปฏิวัติสื่อและการศึกษา”

ส่วน “ความเท่าเทียม” ของคนไทยอย่างจริงแท้นั้น พนัส เชื่อว่าไปถึงแน่ แต่ตนจะอยู่ทันเห็นหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ

‘ชาติของฉัน’ ในสำนึกใหม่ และ (เพลง) ชาติ ที่ไม่เคยถูกใช้ต้านรัฐบาล

ต่อด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง เจ้าของผลงานตามรอยอาทิตย์อุทัย : แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร กล่าวถึงพัฒนาการของความเป็นเจ้าของชาติ 4 ยุคได้แก่ 1.ยุคศักดินา ชาติของท่าน 2. ยุคประชาธิปไตย 2475 ชาติของเรา 3. ยุคสงครามเย็น ชาติของเขา และ 4. ยุคปัจจุบัน ชาติของฉัน

อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การนำเพลงชาติมาเป็นเพลงต่อต้านรัฐบาล และต้านรัฐประหารไม่เคยมีมาก่อน นักเรียนเรียกร้องสิทธิในความแตกต่าง เช่น ประเด็นแอลจีบีที เสรีภาพในการแต่งกาย และทรงผม ซึ่งเป็น “สำนึกใหม่” ว่าพวกเขาเป็นพลเมืองโลก ไม่ใช่แค่พลเมืองไทย เป็นการเริ่มเรียกร้อง “ชาติของฉัน” ซึ่งทำให้พ่อแม่กังวล

“อยากคุยกับพ่อแม่ ว่าสมัยตัวเองยังหนุ่มสาว เราเคยต้องรบกับปู่ย่าตายายตัวเองหรือไม่ เคยถูกเอากีตาร์ และกางเกงยีนส์ไปซ่อนหรือไม่ เราเคยมีความฝัน ลูกเราก็มีความฝัน อยากให้พ่อแม่เคียงข้างลูก ให้เขากำหนดโลกของตัวเอง เมื่อฝันทั้งหมดมารวมกันจะเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่” ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ชาติในมุมมองของคนในวัยต่างๆ มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ชาติของคนอายุ 50-70 ปี เชื่อเรื่องชาติที่แล้ว ผูกพันกับยุคบ้านเมืองยังดี ส่วนรุ่นตน คือช่วงอายุ 30-40 ปี นึกถึงแต่ชาติหน้า เน้นออมเงินเพื่ออนาคตสุขสบาย ในขณะที่ชาติของคนรุ่นใหม่ คือชาตินี้

“เยาวชนปัจจุบันที่มีพลังซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่ให้ความสำคัญกับชาตินี้ เขาคิดว่าอนาคตเสี่ยงเกินไปถ้าการเมืองไร้เสถียรภาพและความชอบธรรม

เด็กบอกว่า ถ้าไม่สู้ตอนนี้ จะสู้ตอนไหน เขาไม่ได้สู้เพื่อพ่อแม่ แต่สู้เพื่ออนาคตตัวเอง หรือลูกหลานที่จะอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น”

เพราะ ‘รัก’ จึงเรียกร้อง เสียงจากเยาวชนคนไม่ชังชาติ

“ไม่ได้ชังครับ…รักชาติ”

คือคำกล่าวอย่างเต็มปากเต็มคำของ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือขนุน แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน ที่ออกมากล่าวในช่วงท้ายของเสวนา “เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ว่าด้วยชาติและลัทธิชาตินิยม” ที่ มติชนอคาเดมี 26 สิงหาคมที่ผ่านมา

วันเดียว และเวลาเดียวกับที่ “ฟอร์ด” ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปลดแอก ถูกรวบตัวไปยัง สน.สำราญราษฎร์ จึงไม่มีโอกาสขึ้นเวทีเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาตามกำหนดการเดิม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกระซิบเลขเด็ด 116 ล่วงหน้าก่อนวันหวยออก

เมื่อถูกถามนิยามคำว่า “ชาติ” แทน ฟอร์ด ทัตเทพ เจ้าตัวบอกว่า ไม่สามารถตอบแทนพี่ฟอร์ดได้ แต่เชื่อในความคิดที่ตรงกันว่า

“เราไม่ได้ชังชาติ เราทำเพื่อชาติ จึงออกมาเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ยุบสภา 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 2 จุดยืน คือ 1.ไม่เอารัฐประหาร 2.ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ

“ปัจจุบันมีความพยายามโจมตีว่าเราชังชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องล้าสมัยมาก อยากให้เปลี่ยนยุทธวิธี โจมตีอย่างอื่นจะดีกว่า อย่ายกเรื่องชาติขึ้นมา เพราะชาติในปัจจุบันนั้น คนมีความเข้าใจดีขึ้นแล้ว ทุกคนมีความเห็น มีจินตนาการที่อยากให้เป็น ว่าชาติควรเป็นอย่างไร ชาติของเขาคือสิ่งที่ชนชั้นนำต้องการให้คนในชาติเป็น ใช้ชาติมาข่มขู่คนในชาติ แต่ปัจจุบันคนในชาติต้องการข่มขู่ชนชั้นนำแทน”

สิรภพ ผู้นำในการกล่าววาทะ “สวนสวยจริงๆ” หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนบุกเดี่ยวยืนมอง “รัฐสภา” เกียกกายที่ยังสร้างไม่รู้จักเสร็จปิดท้ายว่า

“อยากให้เรามาร่วมสร้างชาติที่ไม่อ่อนแอในแง่ของประชาธิปไตย”

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image