วราวุธ สั่งทบทวนคืนป่าชายเลนภูเก็ต เหตุประมูลสร้างอู่ต่อเรือ ด้านชาวบ้านลุกฮือต้าน!

“วราวุธ ทส.” สั่งทบทวนคืนป่าชายเลนภูเก็ต 198 ไร่ จากองค์การสะพานปลา เหตุเปิดประมูลสร้างอู่ต่อเรือ ชาวบ้านฮือต้าน หวั่นมลพิษสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 8 กันยายน กรณีกลุ่มชาวบ้านและผู้ประกอบธุรกิจประมง คัดค้านการดำเนินกิจการต่อเรือและซ่อมแซมเรือ ของบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ที่ชนะการประมูลก่อสร้างอู่ต่อเรือ บริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต หมู่ 1 ถนนศรีสุทัศน์ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ในพื้นที่กว่า 65 ไร่ ซึ่งเกรงว่าจะเกิดมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ เสียงรบกวน ฝุ่นละออง รวมถึงผลกระทบต่อชุมชนและสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว และที่สำคัญต้องตัดไม้ป่าชายเลนที่สมบูรณ์อีกประมาณ 11 ไร่ เพื่อเปิดพื้นที่ดำเนินการนั้น

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งให้ตรวจสอบเงื่อนไขการขออนุญาตใช้พื้นที่ พร้อมมอบให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ลงพื้นที่ทันทีเพื่อเจรจาแก้ไขปัญหา ทั้งนี้พื้นที่ใดเกินความจำเป็นจะเสนอคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พิจารณาขอคืนพื้นที่อนุญาตเดิมที่ยังคงมีสภาพป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เพื่อรักษาไว้ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไปนายวราวุธ กล่าวว่า กรณีมีกลุ่มชาวบ้านและชาวประมงจังหวัดภูเก็ต ออกมาร้องเรียนและแสดงความกังวลเกี่ยวกับบริษัทเอกชนจะทุ่มเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอู่ต่อเรือและซ่อมแซมเรือในพื้นที่ป่าชายเลนที่องค์การสะพานปลาได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกรมป่าไม้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 โดยส่วนตัว ตนเองมีความกังวลเช่นกันถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น การที่หน่วยงานได้อนุญาตให้เอกชน ประชาชน หรือหน่วยงานรัฐเองก็ตามได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน ก็เพราะมีเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากแต่ต้องอยู่ภายในเงื่อนไขและข้อตกลงร่วมกัน หากขอไปแล้ว ไม่เป็นไปตามข้อตกลง หรือ เกินความจำเป็น ก็จะต้องขอคืนกลับมาเพื่อสงวนรักษาให้คงสภาพป่าไว้ดังเดิม ตนได้หารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงแนวทางการแก้ไขและยุติปัญหา โดยตนได้ย้ำเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส และยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ อีกทั้ง การพิจารณาต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครหรือกลุ่มคนใดเด็ดขาด ตนอยากฝากไว้ ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติมีอย่างจำกัด แต่ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ กลับมีอยู่อย่างไม่จำกัด ความต้องการที่ดินป่าไม้ทำประโยชน์มีมาก หากจะขอก็ต้องขอแค่เพียงพอตามความจำเป็นเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น การพัฒนาบ้านเมืองตลอดจนการสร้างอุตสาหกรรมการลงทุนจะมองเพียงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ใส่ใจให้ความสำคัญต่อด้านการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ อย่างเด็ดขาด”นายจตุพร กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทางคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตนเป็นประธานคณะกรรมการ จะพิจารณาให้อนุญาตตามความจำเป็นและความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์พื้นที่ สำหรับกรณีนี้ ตนมีความเห็นตรงกับท่าน รมว. ทส. ในการพิจารณาขอคืนพื้นที่ป่าสมบูรณ์จำนวนประมาณ 198 ไร่ ที่ทางองค์การสะพานปลาไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยจะเสนอคณะกรรมการฯ ดังกล่าวพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ตรวจสอบและสำรวจให้ละเอียดว่าเนื้อที่ป่าชายเลนที่ต้องพิจารณาขอคืนมีเนื้อที่เท่าใด และอยู่บริเวณใด อีกทั้งให้หารือกับองค์การสะพานปลาถึงแผนการดำเนินงาน หากไม่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือขัดแย้งกับเงื่อนไขแนบท้ายประกาศ ให้เสนอตนเพื่อพิจารณาดำเนินการเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไปนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ร่วมกับนายอภิชัย เอกวนากุล รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายวงศกร. นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต. นายวัฒนพงษ์ สุกใส ผู้อำนวยการ สนง.ทสจ.ภูเก็ต นายชาญวิทย์ กันยา ผู้อำนวยการกองกฏหมาย และนายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 ร่วมพบกลุ่มชาวบ้านและชาวประมงในพื้นที่ว่า องค์การสะพานปลา ได้รับอนุญาตโดยกรมป่าไม้ให้เข้าใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองเลน คลองบางชีเหล้า และป่าคลองท่าจีน เนื้อที่ประมาณ 370 ไร่ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือประมงและกิจการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ขององค์การสะพานปลา อุตสาหกรรมประมง และกิจการต่อเนื่องประมง ห้องเย็น โรงน้ำแข็ง ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2585 รวมระยะเวลา 30 ปี

โดยเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตระบุไว้ชัดเจนให้ใช้พื้นที่เพื่อกิจการที่ขอใช้เท่านั้น จะนำไปใช้ในกิจการอื่นมิได้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีอำนาจในการอนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนหรือป่าชายเลนอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ภายหลังจากกรมป่าไม้ได้อนุญาตแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ตนได้ลงพื้นที่ในวันนี้ (8 กันยายน ) เพื่อหารือและรับฟังข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนและกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ กว่า 500 คน เพื่อหาข้อยุติและแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะได้นำข้อเรียกร้องไปพิจารณา เสนอผู้บริหาร และคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติพิจารณาส่งคืนพื้นที่ป่าสมบูรณ์จำนวน198ไร่ ต่อไป และในส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินขององค์การสะพานปลาจำนวน 151 ไร่ ที่มีการพัฒนาและลงทุนไปแล้วก็ยังมีสิทธิ์ตามที่ได้รับอนุญาต ต่อไปจนครบอายุสัญญา หากแต่กรมไม่เห็นชอบในการสร้างอู่ต่อเรือที่พบว่าจะต้องมีการทำลายป่าชายเลนที่สมบูรณ์กว่า 11ไร่

ทั้งนี้ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มั่นใจว่า กรมฯ จะเร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้ อย่างยุติธรรมและโปร่งใส นายโสภณ ทองดี กล่าวถึงแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image