กรุงเทพในฝัน กับงบประมาณ’64 ขออย่าเป็นเพียงฝัน

#ชีวิตดีดีที่ลงตัว

ส่วนหนึ่งของคำขวัญที่กลับมาฮิตติดแฮชแท็กอีกครั้งหลังการล้มครืนของป้ายรถประจำทางกลางกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร บวรรัตนโกสินทร์ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกันอีเวนต์ “กรุงเทพในฝันกับงบประมาณ’64” ก็กำลังดำเนินอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทยเช่นกัน ภายใต้ความมือระหว่าง คณะกรรมาธิการการศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ คณะกรรมาธิการดิจิทัล, คณะกรรมาธิการคมนาคม, และคณะกรรมาธิการศิลปะ วัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร

8-13 กันยายน 5 วันเต็มของนิทรรศการและเสวนาหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจอันเป็นไปด้วยความคาดหวังว่าด้วยการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอมุมมองว่าด้วยกรุงเทพมหานครที่ดีกว่านี้ได้ตามแบบที่ทุกคนต่างฝันถึง

“ผังเมืองกรุงเทพมหานครในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2523 จะเห็นได้ว่ามีทิศทางการเติบโตที่แทบไม่เปลี่ยนไปเลย นั่นจึงเป็นเหตุหนึ่งที่เรามาร่วมกันจัดงานในวันนี้ นี่คือกิจกรรมที่เราต้องมาช่วยกันตั้งคำถาม ว่ากรุงเทพฯสร้างและโตตามผังเมือง หรือผังเมืองโตตามกรุงเทพฯกันแน่”

Advertisement

คือคำกล่าวของ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ โฆษกกรรมาธิการศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล ในวันเปิดงาน โดยมี ไชยา พรหมา ประธานกรรมาธิการศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน
และต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นจากวงเสวนาต่างๆ ที่สะท้อนความวาดหวังต่อกรุงเทพฯในฝันของผู้คนหลากหลายวงการที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง

การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม
สิทธิพื้นฐานในการหายใจ

เริ่มด้วยประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานจากมุมมองของ นันทิชา โอเจริญชัย ผู้ก่อตั้ง Climate Strike Thailand ที่ขึ้นเวทีจับไมค์บอกเล่าว่า

Advertisement

สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะรวย จะจน จะเกิดที่ไหน ทุกคนควรมีสิทธิที่จะมีอากาศหายใจที่บริสุทธิ์ หรือมีน้ำสะอาดดื่ม ทำไมคนรวยสามารถอยู่ห้องแอร์ได้ สามารถขึ้นรถไปทำงานอย่างสะดวกสบาย แต่คนจนกลับต้องมาอยู่ในที่ที่แค่ตื่นมาหรือแค่เกิดมาก็ไม่สบายแล้ว

“สุดท้าย ทุกอย่างมันเกี่ยวโยงกันหมด สังคม สิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย หรือความยั่งยืนทางระบบนิเวศ”

สอดคล้องกับความเห็นของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล พิธีกรชื่อดังที่บอกว่า การเมืองกับสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องกัน

“ยังไงก็ต้องแตะ แต่ไม่ได้แตะในเชิงจริยธรรม ด้วยเชิงว่าแกมันเลว แต่ในเชิงให้เห็นว่าการตัดสินใจที่ไม่โปร่งใสนำไปสู่การลดความคำนึงเรื่องสภาวะแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง เราไม่มีช่องทางในการค้านอย่างเป็นผล หรือการตรวจสอบว่านโยบาย หรืองบประมาณถูกใช้ทำอะไรบ้างอย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้น ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยนให้โปร่งใสกว่านี้ การที่จะพูดเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะเป็นเรื่องยากกว่าเดิมไปโดยอัตโนมัติ

ถามว่าระบบการเมืองที่ดี หรือประชาธิปไตยที่แข็งแรง จะนำไปซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยอัตโนมัติหรือไม่ คิดว่าไม่ใช่ แต่ว่าจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรืออยากดันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมพูดได้ง่ายขึ้น มีพื้นที่ในการทำงานของตัวเองได้ดีขึ้น ไม่ต้องเหนื่อยขนาดนี้

ตอนนี้เรามีปัญหาสังคมเยอะ ทั้งความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ในฐานะมนุษย์เราอาจจะยากที่เราจะใส่ใจสิ่งแวดล้อม ถ้าสังคมเรายังมีปัญหาพวกนี้อยู่ ในแง่หนึ่งก็รู้สึกว่าถ้าปัญหาเหล่านั้นได้รับการเคลียร์แล้ว และดีขึ้น คนก็จะหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เป็นระดับการตื่นรู้ต่อไป ทั้งที่ความจริงมันไม่ควรจะถูกแยกออกจากกันตั้งแต่แรก แต่โดยธรรมชาติของการสื่อสารอาจจะต้องรอให้ประเด็นพวกนั้นโดนเคลียร์ให้ได้ก่อน” วรรณสิงห์กล่าว

ด้าน มารีญา พูลเลิศลาภ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2017 และผู้ร่วมก่อตั้ง “SOS Earth” ระบายความในใจว่า สถานการณ์โลกขณะนี้ขาดสมดุล คนบริโภคเยอะกว่าที่สามารถบริโภคได้ ประชากรเยอะ ในขณะที่ทรัพยากรลดลง ขณะนี้เรารอไม่ได้แล้ว โลกอยู่ในจุดที่แย่ที่สุด เรื่องสิ่งแวดล้อมต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในนโยบายทางการเมือง

การเดินทางในกรุงเทพฯ ผู้คนต้องสู้กันบนถนน สู้กับรถติดซึ่งยิ่งทำให้อากาศแย่ลง คนเดินเท้าก็มีฟุตปาธที่ไม่ดีพอ คนทำงานในห้องแอร์ไม่รู้ว่าข้างนอกแย่ขนาดไหน หากเรามีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ระดับหนึ่ง แม้ขณะนี้มีรถไฟฟ้า แต่แน่นมาก ทำไมรถเมล์เก่าแก่ ปล่อยควันเยอะ มีงบประมาณซื้ออย่างอื่น แต่ไม่มีงบซื้อรถเมล์ดีๆ กรุงเทพฯคลองเยอะมากแต่ไม่สะอาด

“เรายังสู้ในประเด็นความเท่าเทียมของแต่ละกระทรวง ซึ่งมีอำนาจไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คิดว่ากระทรวงนี้สำคัญมากในการขับเคลื่อนให้เรามีความยั่งยืน แต่ในแต่ละจุดเขาไม่มีอำนาจพอ จึงอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงตรงนี้” มารีญากล่าว

กรุงเทพฯ ไม่ใช่ประเทศไทย
‘กระจายอำนาจ’ คือคำตอบ

พาดพิงการเมือง ก็ต้องผายมือให้นักการเมืองคอมเมนต์กันบ้าง ดร.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรค
ก้าวไกลและรองประธาน กมธ.การคมนาคม มองว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ แทนที่จะคิดว่า กรุงเทพฯ คือประเทศไทย หรือประเทศไทย คือกรุงเทพฯ ก็ต้องกระจายอำนาจและเม็ดเงินไปให้ท้องถิ่น แต่ถ้ากระจายไปยังท้องถิ่นทั่วประเทศ มันก็จะไม่เห็นโหมดในการพัฒนา

“ผมอยากเห็นหัวเมืองใหญ่ๆ พัฒนา” ดร.สุรเชษฐ์ย้ำ

ในขณะที่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.เขตธนบุรี พรรคก้าวไกล ก็เป็นอีกรายที่กล่าวถึงประเด็นการดึงอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลางให้มาอยู่ในมือของ “กรุงเทพมหานคร” เพื่อให้ทุกเขตมีอำนาจในการกำหนดเเละจัดการบริหารตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการบริหารจัดการบางเรื่องต้องอาศัยอำนาจจากหน่วยงานส่วนกลาง โดยให้อำนาจผู้ว่าฯกทม.ในการจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่นขนส่งสาธารณะ เป็นของส่วนกลาง ผู้ว่าฯต้องสามารถจัดการบริหารได้ทั้งหมด

“อยากให้กรุงเทพฯสามารถจัดเก็บรายได้เพื่อท้องถิ่นได้มากขึ้น มีฐานภาษีใหม่ๆ ที่กรุงเทพฯสามารถเก็บไว้ได้เองโดยไม่ต้องส่งเข้าคลังส่วนกลาง” เท่าพิภพกล่าว

การศึกษาดี เมืองปลอดภัย ขนส่งไว้ใจได้

อีกประเด็นสำคัญที่พูดกันมานานอย่างขนส่งสาธารณะ เวทีนี้ก็ไม่มีพลาด กรวิชญ์ ขวัญอารีย์ แห่ง MAYDAY ผู้ออกแบบป้ายรถเมล์ที่ช่วยให้ข้อมูลแก่คนสัญจร ยก 3 เหตุผลที่อยากให้การเดินทางในกรุงเทพฯดีขึ้น ได้แก่

1.เวลาดี – ถ้าระบบขนส่งสาธารณะทำเวลาได้ดี คนจะใช้เวลาในการเดินทางที่น้อยลง มีเวลาไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมากขึ้น

2.ราคาดี – จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงทุกคนได้มากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายของคนในเมือง

3.คุณภาพดี – ขนส่งที่ปลอดภัย สะอาด มีมาตรฐาน จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในเมือง

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเมืองไหนบนโลก ความต้องการพื้นฐานต่างๆ ของเมือง คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพาเมืองไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ

“เราต้องการเมืองสำหรับทุกคน เราต้องการเมืองสีเขียว เราต้องการเมืองที่มีการศึกษาที่ดี เราต้องการเมืองที่ปลอดภัย เราต้องการขนส่งสาธารณะที่ไว้ใจได้”

เช่นเดียวกับยูทูบเบอร์จากรายการท่องเที่ยว “ซามูไรไปไหนวะ” อิสระ ฮาตะ ที่บอกว่า 3 สิ่งที่อยากทำเพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ดี ได้แก่

1.เพิ่มพื้นที่สาธารณะ แลนด์มาร์กใหม่ๆ และดึงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนแต่ละย่านขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และสร้างเม็ดเงินแก่ชุมชน

2.แก้ปัญหาจราจร เช่น การขยายและตัดถนนเพิ่ม ยกระดับมาตรฐานของรถเมล์และระเบียบวินัยของผู้ขับขี่ สร้างความร่วมมือของรัฐและเอกชน ออกแบบอาคารที่เอื้อต่อระบบขนส่งสาธารณะ

3.เขตน่าเดิน คือพื้นที่หรือชุมชนที่เป็นย่านที่ผู้คนเน้นการสัญจรทางเท้า มีฟุตปาธที่ดี

เสียงจาก ‘ผู้พิการ’

เมืองในฝันที่รอวันเป็นจริง

ไม่เพียงคนทั่วไปที่ฝันใฝ่ให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่สะดวกสบาย ไม่ใช่มีปัญหามากมายซ้ำเติมคุณภาพชีวิต ยิ่งต่อผู้พิการด้วยแล้ว ยิ่งสร้างความลำบากหนักอึ้งอีกหลายเท่าตัว

“ทำไมทุกวันนี้คุณเดินออกไปที่ห้าง ไปร้านทำผม ไปดูหนัง แล้วไม่เห็นคนพิการ เขาเหล่านั้นหายไปไหน?”

คือคำถามเรียบง่าย แต่สำคัญยิ่ง จากปาก นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้ก่อตั้ง ThisAble.me ก่อนที่เจ้าตัวจะเฉลยเองว่า “คนพิการเองก็อยากออกมาใช้ชีวิต อยากออกมามีปฏิสัมพันธ์กับสังคม หรือมีส่วนร่วมทางการเมืองเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ปัจจุบันพื้นที่ที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อให้ทำอะไรเลย

ในขณะที่ คีริน เตชะวงศ์ธรรม ผู้พิการทางสายตาที่มีสุนัขนำทางนามว่า “ลูเต้อร์” บอกว่า สังคมทั่วไปไม่ได้เห็นคนพิการในสถานที่ข้างนอก จึงไม่เข้าใจ และคิดว่าคนพิการออกมาข้างนอกไม่ได้ เมื่อไม่มีคนพิการออกจากบ้าน ส่งผลให้ไม่มีการผลักดันให้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ

“มันเหมือนเป็นวงจร เมื่อโครงสร้างไม่ดี คนพิการก็เลยออกจากบ้านไม่ได้ ก็ไม่มีการผลักดันสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น” คีรินอธิบายอย่างเห็นภาพ

เรือนร่าง แสงสี แอลจีบีที
ที่กรุงเทพฯ ไม่อยากยอมรับ?

จากนั้นมามองกรุงเทพฯในมุมที่ดูเหมือนว่าภาครัฐไม่อยากยอมรับว่ามีอยู่จริง ทั้งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว นำมาซึ่งเม็ดเงินมากมาย แต่นั่นคือช่วงก่อนโควิด-19 บุกโลก

“ช่วงโควิด-19 แหล่งสถานบันเทิงเป็นที่แรกเลยที่ถูกปิดและเป็นที่สุดท้ายที่ถูกเปิด แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ถึงเราจะปิดหูปิดตาไม่เห็นเขา เราต้องยอมรับตรงนี้ว่า เขาเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเรา” อภิรดี จันทนางกูล ผู้จัดการทั่วไป พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงษ์ เปิดใจ

ด้าน ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ที่ผันตัวสู่แวดวงการเมือง นั่งเก้าอี้ ส.ส.พรรคก้าวไกล มองว่า

“นอกจากเมืองที่เหมือนกันหมด คือ สตอรี่ที่ (หนัง) เอาไปจับต่างหาก เมื่อสตอรี่มันจับใจคน คนจะประทับใจ หรืออยากเห็นภาพที่อยู่ในหนังนั้นกับตัวเองทันที ซึ่งแน่นอนเราไม่ได้ถ่ายแลนด์มาร์กแล้วจบ สตอรี่ต่างหากที่ทำให้คนอยากไป”

รัฐบาลต้องจริงใจ
ประชาธิปไตยกับ ‘สำนึกความเป็นเจ้าของ’

ปิดท้ายด้วยประเด็นแบบเบิ้มๆ กับ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีความกล้าหาญและจริงใจพอที่จะกระจายอำนาจให้คนกรุงเทพฯหรือไม่?

“รัฐบาลจริงใจพอที่จะกระจายอำนาจไหม หรือคิดว่าก็อยู่แค่นี้ กล้ำๆ กลืนๆ กันไป ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องคุยกันเพราะปัญหาคือการบูรณาการของหน่วยงาน มันเป็นแค่คำพูดของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่พอประสานงานต่อจริงๆ เละ!”

จบประโยคอย่างตรงไปตรงมาและอาจตรงใจใครหลายคน

ในขณะที่ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ให้ความเห็นว่า ความรักหรือความเป็นพลเมือง ไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้จากนามธรรม แต่มีอะไรที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น

“มันจะต้องให้เขาเดินผ่านทางเท้าสวยๆ ผ่านต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ปลูกมาแล้วไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น แล้ววันหนึ่งมีคนจะมาทำอะไรไม่ดี เขาจะหวงแหน ความรักมันเกิดขึ้นแบบนั้น และสุดท้ายสำนึกประชาธิปไตยที่อยากให้เกิด ถ้าคุณไม่มี sense of belonging ในพื้นที่ คุณไม่รู้จักเพื่อนบ้านในการจะทำย่านให้ดี แล้วคุณก็อยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัว คุณไม่รู้หรอกว่ามีใครอยู่ในเมืองนี้กับคุณบ้าง การที่จะอยู่กับคนที่เห็นต่างกับคุณอย่างอดทนอดกลั้นมันไม่มีหรอก”

เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเห็น ความในใจ ความมุ่งหมาย และความฝันใฝ่ที่ไม่อยากให้เป็นเพียงฝัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image