สถานีคิดเลขที่ 12 : หลัง 19-20 กันยายน 2563 โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 : หลัง 19-20 กันยายน 2563

การชุมนุมที่จัดโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมบริเวณท้องสนามหลวง (ที่ถูกผู้ชุมนุมเรียกขาน-นิยามใหม่เป็น “สนามราษฎร”) เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ผ่านพ้นไปแล้ว

ที่เหลือทิ้งไว้ คือ ปัญหาใหญ่ๆ อันเกี่ยวข้องผูกโยงกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังคมไทย

ซึ่งทุกฝ่ายควรต้องขบคิดหาทางออกร่วมกัน

ในแง่ชุดปัญหาใหม่ๆ ที่ส่องสะท้อนถึงสภาพการเมืองไทยยุคปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการชุมนุมเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการรวมตัวของมวลชนทางการเมืองที่มีปริมาณมากที่สุด นับแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ (ทั้งในรัฐบาล คสช. และพลังประชารัฐ)

Advertisement

นี่เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่ามี “คนรุ่นใหม่-ลูกหลานชนชั้นกลาง” จำนวนมหาศาล ที่รู้สึกไม่พอใจสภาพการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ของสังคมไทยและรัฐไทย และพวกเขาพร้อมจะแสดงความรู้สึกดังกล่าวออกมาในพื้นที่สาธารณะ

ผ่านข้อเสนอที่ไปไกล-ตรงไปตรงมากว่าเดิม (พร้อมเสียงสนับสนุนจำนวนไม่น้อย) หากเปรียบเทียบกับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ ในทศวรรษ 2550

ขณะเดียวกัน การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เช่น การเข้าไปใช้พื้นที่ “สนามหลวง” แล้วเปลี่ยนความหมายเป็น “สนามราษฎร” รวมทั้งการฝัง “หมุดคณะราษฎรที่สอง” ลงตรงพื้นที่ดังกล่าว

Advertisement

ก็ถือเป็นสารที่แรงและมีพลัง

นอกจากนี้ ความหลากหลายเชิงคุณภาพของผู้ชุมนุมบนท้องสนามหลวงในวันที่ 19 กันยายน 2563 ยังมีความเชื่อมโยงกับชุดปัญหาเดิมๆ (ที่บางคนหลงคิดว่าหมดสิ้นสูญสลายไปแล้ว) ซึ่งตกค้างมาจากความขัดแย้งทางการเมืองเมื่อทศวรรษก่อน

หากพิจารณาไปที่การหวนกลับมาปรากฏตัวของ “คนเสื้อแดง” กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า

การตื่นขึ้นและทยอยมาร่วมชุมนุมกับคนรุ่นใหม่ของขบวนการทางการเมืองรุ่นก่อนหน้า บ่งชี้ว่าปัญหาเก่าบางข้อนั้นไม่เคยมลายหายไปจากสังคมไทย ความทรงจำบาดแผลครั้งก่อนเก่ายังไม่เคยปลาสนาการไปไหน

แกนนำ นปช.บางรายอาจถูกมองว่า “มีท่าทีเปลี่ยนไป” นั่นคือเรื่องของแกนนำรายนั้น

“แรมโบ้อีสาน” จะย้ายข้างไปใกล้ชิด “บิ๊กตู่” ก็เป็นเรื่องของนักการเมืองคนหนึ่ง

พรรคพลังประชารัฐจะเข้มแข็งในสนามเลือกตั้งต่างจังหวัด ก็ถือเป็นพลวัตในอีกพื้นที่การต่อสู้

แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ “คนเสื้อแดง” ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ-ภาคอีสาน ยังคงมีตัวตนดำรงอยู่ และรอคอยใครสักคนมาจุดพลัง-ความคิดความฝันของพวกเขาขึ้นอีกครั้ง

อนาคตของสังคมไทยจึงผูกติดอยู่กับปัญหาใหม่ของยุคปัจจุบันและปัญหาเก่าจากอดีตเหล่านี้ ซึ่งดูเหมือนการรัฐประหาร การใช้กำลังอาวุธ อันนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชน จะมิใช่เครื่องมือแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่

ทว่าการรับฟัง การเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายได้พูดจา (อย่างมีเหตุผล) และการปรับประสานต่อรองทางความคิดระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจ หรือระหว่างสมาชิกหลายกลุ่มในสังคม อาจนำไปสู่ทางออกที่ถูกต้อง-ยั่งยืนกว่า

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image