เพิ่มแรด- ลดรถ 22 ก.ย. คาร์ฟรีเดย์-วันแรดโลก

“เพิ่มแรด- ลดรถ” 22 ก.ย.คาร์ฟรีเดย์-วันแรดโลก

วันที่ 22 กันยายน นอกจากจะเป็นวันแรดโลกแล้ว วันสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอีกอย่างคือ วันคาร์ฟรีเดย์ ซึ่งวันนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็น วันปลอดรถ องค์กรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้รถขนส่งมวลชน และรถจักรยานเพิ่มขึ้น เพื่อลดปริมาณรถยนต์ในท้องถนน อันส่งผลถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ และยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น รวมทั้งลดปัญหาการจราจรติดขัด การเกิดอุบัติเหตุ ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และจะส่งผลต่อการประหยัดพลังงานน้ำมัน รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การรณรงค์จะจัดขึ้นในวันที่ 22 กันยายน และทุกวันอาทิตย์ตลอดเดือนกันยายน

ส่วนวันแรดโลกนั้น ถือกำเนิดขึ้นในปี 2553 โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) แห่งแอฟริกาใต้ ปี 2553 โดย ผู้หญิง 2 คน คือ ลิซ่า เจน แคมป์เบล และ ซิงห์ ที่มีความต้องการเหมือนกันในการก่อตั้งวันแรดโลกขึ้นมา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรดทั้ง 5 สายพันธุ์ 1. แรดขาว (Ceratotherium simum) เป็นแรดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบในทวีปแอฟริกา 2. แรดดำ (Diceros bicornis) เป็นแรดที่มีความใหญ่รองมาจากแรดขาว พบในทวีปแอฟริกาเช่นกัน 3. แรดอินเดีย (Rhinoceros unicornis) พบในภูมิภาคเอเชียใต้ จัดเป็นแรดที่มีเพียงนอเดียว มีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังหนาและมีรอยย่นเห็นได้ชัดเจน 4. แรดชวา (Rhinoceros sondaicus) พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแรดอินเดีย เป็นแรดชนิดที่หายากที่สุดในโลก และได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดที่หายากที่สุดในโลกอีกด้วย 5. กระซู่ หรือแรด 2 นอ หรือ แรดสุมาตรา, แรดขน (Dicerorhinus sumatrensis) มีลักษณะเด่นที่สุดคือ มี 2 นอ นอหน้าใหญ่กว่านอหลัง จัดเป็นสัตว์ตระกูลแรดที่มีขนาดเล็กที่สุด

ตลาดที่มีการค้าขายใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ ประเทศเวียดนาม จุดประสงหลักคือ การตัดเอานอไปขาย
พบว่า แรดชวาตัวสุดท้ายของเวียดนามถูกพบเป็นซากเมื่อเดือนเมษายน 2553

ขณะที่ประเทศไทยนั้น ในอดีต พบสัตว์ตระกูลแรด ได้ 2 ชนิด คือ แรดชวาและกระซู่ ซึ่งเป็นสัตว์สงวนบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส แต่ปัจจุบันไม่มีใครพบ แรดทั้ง 2 ชนิดนี้ตามธรรมชาติของผืนป่าไทยอีกแล้ว โดยเฉพาะแรดชวาได้หายไปจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง ส่วนกระซู่ แม้จะยังมีรายงานว่าพบเพียงร่องรอยบ้าง แต่ก็ยังไม่มีใครพบตัวเป็น ๆ แต่อย่างใด

Advertisement

ประเทศเคนยาเป็นถิ่นที่อยู่ของแรดมากถึง 20,000 ตัวในทศวรรษที่ 1970 แต่ปัจจุบัน (พ.ศ.2563) เหลือแรดดำในประเทศเคนยาอยู่ประมาณ 650 ตัว ส่วนสายพันธุ์แรดขาวเหนือถูกพบในหลายประเทศทางแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกากลาง นักอนุรักษ์ประเมินว่าแรดขาวใต้ที่เป็นญาติกับแรดขาวเหนือนั้น มีเหลืออยู่ในโลก 18,000 ตัว ขณะที่แรดดำเหลือเพียง 5,000 ตัวเท่านั้น

วันที่ 22 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์แรดโลก พร้อมกันนี้การจัดตั้งวันแรดโลกเพื่อให้ทั่วโลก เพิ่มความตระหนักถึงการลดจำนวนลงของประชากรแรดทั่วโลก จนเกือบจะกลายมาเป็นสัตว์สูญพันธุ์ในปัจจุบัน

ทั้งวันแรดโลก และคาร์ฟรีเดย์ ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

เพราะการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ทั่วโลก มีความสัมพันธ์กันโดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ที่หมายรวมไปถึง คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แรดเป็นสัตว์ที่ต้องใช้พื้นที่สีเขียวในการใช้ชีวิต ถ้าอยากให้โลกนี้มีแรดเพิ่มมากขึ้นก็ต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์

“ในทางกลับกัน ถ้าโลกนี้มีแรดมาก พื้นที่สีเขียวก็จะมีมากขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกัน ถ้ามีป่า มีพื้นที่สึเขียวมาก ก๊าซเรือนกระจกก็จะลดน้อยลงไป แทนที่เราจะเพิ่มรถ เรามาเพิ่มแรดไม่ดีไปกว่าหรือ หรือถ้าอยากใช้รถ ก็เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า หรือบริการรถสาธารณะ เนื่องในวันแรดโลก และวันคาร์ฟรีเดย์ที่เป็นวันเดียวกัน คือ 22 กันยายน นี้ ผมว่ามันก็เกี่ยวข้องกันได้ พื้นที่สีเขียวน้อยลง รถเพิ่ม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม แรดก็จะน้อยลง ดังนั้นเราควรจะเพิ่มแรด มากกว่าเพิ่มรถกัน ไม่ดีกว่าหรือ”ผศ.ธรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image