ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำทะเล ระนอง วอนรัฐช่วยเยียวยา กระชังเสียหายจาก”โนอึล” ประมงจังหวัดพร้อมช่วยหากมีเอกสารสิทธิ

แม้พายุโนอึลจะสิ้นฤทธิ์ไปแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุโนอึลยังอยู่ โดยผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังริมฝั่งทะเลในพื้นที่อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ได้รับความเสียหาย ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่คลองลัดโนด หมู่ที่3 ต.ม่วงกลวง อ.กะเปอร์ พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยวสัตว์น้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหายจากกระชังเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีทั้งปลากะพง ปลาเก๋า ปูนิ่ม และหอยแมลงภู่ ได้หลุดรอดไปจากกระชังแทบทั้งสิ้น จากอิทธิพลของพายุโนอึลในช่วงที่ผ่านมา จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องเงินเยียวยา

นายกิตติพงศ์ คงสุด หรือ บังเหลบ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังคลองลัดโดน เล่าให้ฟังว่า ช่วงพายุโนอึลพัดเข้ามาในพื้นที่ ทำให้กระชังเลี้ยงปลาของตนฉีกขาดออกเป็นสองส่วน ในส่วนที่เป็นกระชัดพังเสียหายและหลุดลอยออกไปทั้งหมด ยังเหลืออยู่เพียงตัวที่พักซึ่งถูกลมพัดเสียรูปทรง ปลาที่เลี้ยงไว้หลุดหายไปหมด ตอนนี้ได้ไปแจ้งความเอาไว้แล้ว และคิดว่าจะหาทุนจากที่ไหนมาลงใหม่ เพราะต้องสร้างกระชัง และหาพันธุ์ปลามาเลี้ยงกันใหม่ด้วย จึงอยากขอให้หน่วยงานของรัฐช่วยเข้ามาสนับสนุน ซึ่งอาจจะเป็นเงินทุน หรือพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพต่อไปได้

ทางด้านนายสมชาย หัสจักร เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวตำบลม่วงกลวง เล่าว่า พายุโนอึลได้ซัดกระชังปลา ปูนิ่ม รวมถึงกระชังหอยของสมาชิกในกลุ่มเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ก็ได้แต่ขับเรือออกไปหาเศษชิ้นส่วนของกระชังที่หลุดลอยออกไป ส่วนไหนที่เป็นชิ้นใหญ่ก็จะลากเอามาผูกไว้กับต้นโกงกาง เพราะมันจะกลายเป็นขยะทะเล และอาจสร้างความเสียหายกับเรือที่ขับมาชนได้ ในส่วนแพและกระชังของกลุ่มก็มีความเสียหายจากการบิดตัวของกระชัง ตอนนี้สมาชิกหลายคนได้ไปแจ้งความเอาไว้แล้ว และอยากวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเข้ามาดูแล เพราะหลาย ๆ คนมีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัด มีการขออนุญาตเลี้ยงและจัดสร้างกระชังไว้แล้วด้วย

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับนายสหัส ปาณะษรี ประมงจังหวัดระนอง ได้ให้ข้อมูลว่า กระชังเลี้ยงปลาริมชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดระนอง จะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวน หรือป่าเลนเกือบทั้งหมด ไม่มีกระชังใดที่เป็นเอกสารสิทธิ การที่ทางหน่วยงานจะลงไปช่วยเหลือจ่ายเงินเยียวยาตามระเบียบของประมงได้นั้น ต้องเป็นพื้นที่ที่ทางคณะกรรมการประมงได้ประกาศเป็นเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขณะนี้ทางจังหวัดระนองได้มีการสำรวจกระชังทั้งหมด และนำเสนอขึ้นไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทางคณะกรรมการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เห็นชอบและเสนอเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังติดอยู่ในขั้นตอนนี้ ซึ่งหากทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอนุญาตและตอบกลับมา ก็จะมีการดำเนินการในขั้นตอนถัดไปในการออกประกาศ และแจ้งให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงมาลงทะเบียน

Advertisement

นายสหัส กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่มีบัตร หรือหนังสือแสดงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้น เป็นเอกสารที่ทางกระทรวงได้เคยมีประกาศออกมาให้ผู้ที่เคยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาแต่ดั้งเดิม มาทำการขึ้นทะเบียนเอาไว้ ซึ่งหากมีการอนุมัติ หรืออนุญาตพื้นที่เพาะเลี้ยงลงมาแล้ว ก็จะสามารถนำมาลงทะเบียนอยู่ในพื้นที่เพาะเลี้ยงได้เลย ซึ่งในขณะนี้มองว่าสิ่งที่พอจะช่วยเยียวยาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำริมชายฝั่งได้ คงเป็นทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจะประสานงานร่วมกับท้องถิ่น ในการเข้ามาดูแลในเรื่องความเสียหายของอุปกรณ์ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่เสียหายจากภัยพิบัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image