เสียงเรียกร้องของสังคม ปม ‘รัฐสวัสดิการ’ เมื่อคนไทย ‘อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้’

“แรงงานถูกกดมาตลอด ตั้งแต่อดีต ว่าเราเป็นไพร่ เป็นทาส ต่ำต้อยด้อยค่าในสังคม แต่เราเป็นคนที่สร้างโลกใบนี้”

คือคำกล่าวของ ธนพร วิจันทร์ ประธานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิ ดังก้องอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คือหนึ่งในผู้ร่วมสนทนาช่วงพีเพิลทอล์ก ณ ตลาดนัด “งานสภากับประชาชน” โดยคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 26 กันยายนที่ผ่านมา

ก่อนจะยกกรณีส่วนตัวมาประกาศ ว่า “ถูกนายจ้างเลิกจ้าง โดยอ้างว่าเป็นเพราะโควิด” แต่สุดท้ายพบว่า เพื่อต้องการทำลายองค์กรสหภาพแรงงาน เนื่องจากตนเป็นประธาน ที่เดินหน้าเรียกร้องสิทธิและรัฐสวัสดิการมาโดยตลอด ทั้งยังร่ายยาวถึงกรณี “สำนักงานประกันสังคม” ถือหุ้น หน่วยทรัสต์ เพื่อลงทุนในโรงแรมศรีพันวา กว่า 505 ล้านบาท ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเงินในกองทุนว่าจะมีเพียงพอจ่ายเงินบำนาญให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน เงินปันผลและอื่นๆ หรือไม่?

“เป็นเงินของพวกเราคนงานที่ส่งสมทบเข้าไป ดังนั้น เราเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโรงแรมศรีพันวา ใครเอาเงินพวกเราไปลงทุน ถามหรือยัง เอาเงินไปลงทุนในบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาล มาถามพวกเราหรือยัง?

Advertisement

มิหนำซ้ำยังบอกว่า คนงานไม่มีโอกาสไปพักที่โรงแรมหรอก เพราะไม่มีปัญญา ไม่ใช่ลูกค้าเขา เอาอย่างนี้ เอาเงิน 505 ล้านบาทที่ประชาชนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลับมาคืน”

ธนพรเล่าด้วยน้ำเสียงสุดอัดอั้น และกล่าวต่อว่า นี่คือสิ่งที่เราบอกว่า “เผด็จการกับนายทุนจับมือแน่นหนา” กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน กระทรวงแรงงานออกได้ทุกวัน รัฐเผด็จการจัดการพวกเรา จู่ๆ บอกให้นายจ้างเลิกจ้างได้ เป็นอำนาจของนายจ้าง ผิด-ถูกให้ลูกจ้างไปคุยที่ศาล แต่คนงานจะมีปัญญาอะไร เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐโฆษณาไว้ยังไม่ได้รับ

ธนพร วิจันทร์

“แรงงานสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่สุดท้ายไม่มีอะไรคุ้มครอง รัฐธรรมนูญบอกแต่เรื่องหน้าที่ ไม่เคยบอกเรื่องสิทธิ คือสิ่งที่เรามาเรียกร้อง สงสัยหูหนวกแล้ว เพราะแก่เกิน” ธนพรลั่นวาจา ก่อนจะประกาศข้อเรียกร้องที่ว่า

Advertisement

รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้คุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกกลุ่ม รัฐธรรมนูญต้องมาจากการออกแบบของประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมาจากพวกเรา

‘ชิม ช้อป ใช้’แจกได้
เยียวยาถ้วนหน้าไม่ได้

ไม่นานมานี้ มีการเสวนาในประเด็น “เปลี่ยนรัฐเผด็จการเป็นรัฐสวัสดิการ”

ในตอนหนึ่ง นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เล่าผลกระทบช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาว่า แม้ว่าคนสลัมยังไม่ได้เปลี่ยนอาชีพ แต่มีความกังวลเรื่องการซื้อของตุน ในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดเลยว่าร้านค้าดังๆ จะเปิดได้หมด คิดว่าจะปิดเหมือนกันและหาของกินไม่ได้ จึงรวมเงินที่บ้าน ซื้อมาม่า ปลากระป๋อง แย่งกันซื้อไข่ เหมือนชาวสลัมเราตื่นตระหนกจากการประชาสัมพันธ์ของรัฐ

โดยเครือข่ายฯได้เดินหน้าลงมือสำรวจคนที่ลำบากมากที่สุดในชุมชนแต่ละแห่งซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐควรทำ แต่กลับล่าช้าอย่างมากในเรื่องการแก้ปัญหาโรคระบาด

จากนั้นคนเริ่มสนใจสลัม คนมีน้ำใจเกิดขึ้นมากมาย แต่บางที่ต้องจนแบบดักดาน รัฐถึงจะช่วย คือคนที่บ้านซอมซ่อ คนที่ถูกไล่ที่แล้วรวมกลุ่มสร้างบ้าน ดูดีหน่อยไม่ได้ เพราะมองว่า ไม่จนจริง รู้สึกว่า การช่วยทำไมต้องมีเงื่อนไข ก็เลยตั้งโรงครัวเพื่อช่วยกันเองในสิ่งเหล่านี้

นุชนารถ แท่นทอง

“ลงทะเบียน รับ 5,000 บาท ชาวบ้านดีใจ ทำไม่เป็น ก็ไปจ้างลงทะเบียน เพราะไม่มีโทรศัพท์ บางคนได้ บางคนไม่ได้ เกิดการทะเลาะกันในชุมนุมขึ้น ซึ่งลำบากกันทั้งหมด ดังนั้น การช่วยต้องถ้วนหน้า เอาเงินให้คนไป ‘ชิม ช้อป ใช้’ ให้ได้ แต่เอาเงินช่วยคนต้องเจาะจง ให้ถ้วนหน้าไม่ได้ คือสิ่งที่ถูกกระทำมาตลอด เราโดนมองว่าเป็นกลุ่มแพร่เชื้อ เชื้อทุกอย่างอยู่ที่สลัมหมด แต่คอนโดหรูๆ ไม่กลัว ทั้งที่โควิดนำเข้า เราไม่ได้ส่งออก จึงต่อสู้เรียกร้องสวัสดิการถ้วนหน้า ทำไมต้องแยกสถานะ ตีตราว่าจนเท่านั้นจึงจะได้รับการช่วยเหลือ

ล่าสุด เงินคนพิการเพิ่มเป็น 1,000 คนดีใจ แต่ข้อแม้คือต้องมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งที่เราเป็นกลุ่มที่ใช้เงินมากสุด ทำงาน 300 จ่าย 320 บาท คนในสลัมเป็นอย่างนั้นต้องยืมเงินอนาคต ทำให้เราลุกขึ้นมาต่อสู้

บัตรทองเรายังทำมาแล้ว ประชาชนร่วมกัน หมอสงวนผลักดัน พรรคการเมืองตอบรับ ทำให้รักษาได้อย่างมีศักดิ์ศรี

“การทำบัตรสวัสดิการต้องเริ่มตั้งแต่เกิดจนตาย อะไรสำคัญสุด แล้วค่อยๆ ขยับ

ไทยทำได้ ถ้าเราไม่เอาภาษีไปฟุ่มเฟือยเพิ่มในกระทรวงต่างๆ คนเกษียณมีงานทำ แต่คนเรียนจบไม่มีงานทำ นี่คือการเอาเปรียบประชาชน เราไม่มีความรู้ กว่าจะส่งลูกเรียนจบสักคนเลือดตาแทบกระเด็น” นุชนารถเผย

ละครเรื่อง “การถูกกดขี่ของสตรีพิการ” โดยกลุ่ม ALLism

เพราะถูกกดขี่
จึงอยากมี‘ชีวิตที่ดีกว่านี้’

ในวันเดียวกันนี้ มีการแสดงละครเรื่อง “การถูกกดขี่ของสตรีพิการ” โดยกลุ่ม ALLism

“ตอนที่ฉันทำงานเสร็จ อยากจะเล่นเกม อยากคุยกับผู้ชาย ทำไมเธอต้องว่าเราด้วย ทำให้ฉันเสียเซลฟ์ ฉันก็อยากจะสวย อยากแต่งหน้า ทาปาก ทำไมต้องว่าเราด้วย ว่าคนพิการจะสวยไปทำไม ทำไมชีวิตฉันถึงไม่มีความอิสระ วันนี้ฉันจะออกไปข้างนอกคนเดียว”

หญิงสาวพิการ บอกกล่าวกับผู้ชม ขณะที่น้ำตาคลอเบ้า ก่อนจะเปลี่ยนฉาก เธอนั่งรอรถเมล์บนวีลแชร์ ขณะที่ผู้คนรายล้อม จากนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก ผู้คนที่ยืนหลบในศาลาอย่างเบียดเสียดจนเกิดวิวาท ผู้หญิงอีกรายจึงเลือกที่จะไปยืนตากฝนเพื่อยุติความขัดแย้ง ก่อนทั้งหมดจะได้ขึ้นไปเบียดเสียดบนรถประจำทาง และเกิดความวุ่นวายเรื่องที่นั่งขึ้นอีกครั้งบนรถสาธารณะ

หญิงพิการเล่าเรื่องอีกครั้งว่า “วันนี้ฉันออกไปข้างนอก มีเรื่องแย่ๆ ที่เกิดกับฉัน มันวุ่นวายเหมือนกับการแก่งแย่งชิงดีกัน ทำไมฉันต้องเจอเรื่องแบบนี้ ฉันอยู่ในสังคมแบบไหนกัน มันวุ่นวายไปหมด”

ก่อนที่บทเพลงของวงสามัญชนจะดังขึ้น

‘อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้
อยากจะข่มตานอนโดยไม่กังวล
อยากจะมีเวลาให้ได้ค้นหาตัวตน
ให้ฉันมีชีวิตที่กำหนดเอง
อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้
อยากจะข่มตานอนโดยไม่กังวล
อยากให้รัฐบาลเห็นค่าของคน
เอาชนะความจนด้วยรัฐสวัสดิการ’

ย้อนกลับไปช่วงกลางเดือนกันยายน เมื่อ ‘เครือข่ายราชมงคล’ จัดกิจกรรม ‘#ราชมงคลจะไม่ทนเผด็จการ’ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

นักร้องนำวงสามัญชนเคยเผยถึงที่มาของบทเพลงนี้ไว้อย่างกินใจว่า

เคยต้องเล่นดนตรีกลางคืนจนไม่ได้นอน เพื่อหาเงินเรียนคณะกายภาพบำบัด ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งที่มีความชอบด้านกฎหมาย แต่ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ แต่ต้องเลือกด้วยความจำเป็นของครอบครัว ดังนั้น

“จึงขอเรียกร้องให้ประเทศไทย ต้องมีรัฐสวัสดิการ”

ชุมนุม ’19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีกิจกรรมเขียนบิลความในใจ และบิลค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงการปราศรัย ประเด็น “รัฐสวัสดิการ”

จี้หลักประกันสุขภาพ
สิทธิที่ไม่ต้อง‘พิสูจน์ความจน’

“ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ควรให้ใช้แต่คนที่ลำบากจริงๆ เท่านั้น มันทำให้คนไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง”

เหล่านี้ คือคำปรามาส ต่อ “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า”

ที่ นศพ.ภรันยู โอสถธนากร หยิบยกมากล่าวใน ปาฐกถา หัวข้อ “หลักประกันสุขภาพ” เพื่อรำลึกถึง สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีต นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ม.มหิดล ช่วงปี 2514-2519 ที่มุ่งทำงานในฐานะนักกิจกรรม ก่อนจะกลายมาเป็นนายแพทย์ผู้นำนโยบาย บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ให้คนไทยได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

ซึ่งระบบนี้คือหนึ่งหลักฐานประจักษ์ชัดว่า รัฐสวัสดิการ จำเป็นต่อสังคมไทย และ ‘ปวงชนชาวไท’ ทุกคน

นับแต่ ปี พ.ศ.2545 ที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดขึ้นในรูปนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค คือการกระจายความเสี่ยง เฉลี่ยค่าใช้จ่ายกับผู้ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพ จากน้อยไปหามาก เพราะการรักษาพยาบาล มีตั้งแต่การจ่าย 10-20 บาท เป็นค่ายาเล็กๆ น้อยๆ จนถึงเทคโนโลยีหลายแสน หลายล้าน หรือสิบล้าน ในระดับที่ทำให้คนคนหนึ่งล้มละลาย หรือคิดฆ่าตัวตายได้

“แน่นอนว่าคนที่ป่วยไม่มีใครอยากจ่าย และไม่มีใครอยากป่วย ประเทศที่พัฒนาแล้ว พยายามพัฒนาแหล่งที่มาของงบประมาณ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน คนป่วยจะได้ไม่ต้องขายนา ขายควายมาฟอกไต ไม่ต้องกรีดเลือดเนื้อตัวเอง ไม่ต้องเสียสละอนาคตของครอบครัว มาเพื่อต่อสู้กับโรคที่ไม่มีใครอยากเป็น” นศพ.ภรันยู กล่าว

พร้อมหยิบยกข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ปี 2538 ระบุว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะต้องควักเนื้อมาจ่ายถึง ร้อยละ 44 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 11 หรือ 4 เท่า ในปี 2547 หลังนโยบาย 30 บาท ประกาศใช้ ซึ่งรัฐสวัสดิการ ยังสนับสนุนการเข้าถึงของประชาชนทุกกลุ่มอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้นำมาสู่ข้อสงสัย เคลือบแคลงในหลายกลุ่ม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กล่าวหาว่าเป็นนโยบายประชานิยม สร้างความเสียหายของวงการสาธารณสุข บ้างก็กล่าวหาว่าประชาชนยิ่งจะไม่ดูแลตัวเอง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่คำถามคือ นี่ไม่ใช่สิทธิที่ประชาชนควรได้รับหรือ

“บ้างก็ว่า ไม่ควรจะเป็นระบบที่ให้การสนับสนุนคนทุกคน ควรให้แต่ผู้ที่ยากไร้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น บัตรอนาถา ชนชั้นกลางที่มีกำลังจ่ายก็ไม่ควรจะได้รักษาฟรีๆ ควรเอาเงินที่เขามีมาใช้รักษาโรค บางคนกล่าวอ้าง
เช่นนี้ ซึ่งขัดแย้งต่อหลักการ เพราะระบบประกันสุขภาพ คือสิทธิขั้นพื้นฐาน คนไทยทุกคนควรได้รับไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร ไม่ใช่ต้องพิสูจน์ความจน”

“เราควรกลับมาตั้งคำถามว่า ที่เราขาดทุนนั้นเพราะอะไร การบริหารงานที่ผิดพลาด การจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ ตั้งคำถามว่า ที่ประชาชนยังคงดูแลสุขภาพตัวเองไม่ได้ เกิดจากอะไร ประชาชน
ไม่ใช่ไม่รู้ ประชาชนไม่ได้โง่ เพียงแต่สังคมที่อาศัยอยู่ เอื้อให้เราดูแลสุขภาพจริงหรือไม่” ภรันยูตั้งคำถาม

“การรักษาพยาบาลคือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ เมื่อเราเป็นมนุษย์ เป็นประชาชนคนไทยเหมือนกัน ทำไมเราจะต้องพิสูจน์ว่าเราเป็นมนุษย์ ทำไมเราจะต้องมาพิสูจน์ในสิ่งที่เราควรจะได้รับอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยคุณภาพชีวิตของชนชั้นกลางได้ในภาวะที่ตกต่ำที่สุด

ประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะค้ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รัฐสวัสดิการเท่านั้นที่จะยืนอยู่ข้างประชาชนที่แร้นแค้นที่สุด” นศพ.ภรันยูกล่าวก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“การเดินทางของสังคมไทย จุดที่รัฐสวัสดิการจะเบ่งบานได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้บริหาร”

ขีดเส้นใต้‘ไทยทำได้’
ขวบปีสุดท้าย‘รัฐสวัสดิการ’

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ยืนยันหนักแน่นว่า ขบวนการเรียกร้องต่างๆ ของสังคม อยู่ในจังหวะที่ถูกต้อง เหมาะสม เหมาะควรอย่างยิ่ง

โดยมองว่า ที่เราเผชิญหน้าอยู่นี้คือ ความอัปลักษณ์ของทุนนิยมไทย ซึ่งคำว่านายทุนไม่ได้หมายถึงเพียงนายทุน แต่หมายถึงกลุ่มคนที่ทำให้ระบบทุนนิยมอยู่ได้

เวลาแก้ไขปัญหามีจำกัด และนี่คือขวบปีสุดท้ายของประเทศที่จะรับข้อเสนอนี้ สวัสดิการถ้วนหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ และ ประชาธิปไตย หากทำช้ากว่านี้จะเพียงพอให้ผู้คนเยียวยาความโกรธเกรี้ยวและคับแค้นได้หรือไม่ เพราะความโกรธเกิดขึ้นมากมายมหาศาล

อ.ษัษฐรัมย์ยังยกการปราศรัยของเยาวชนที่มหาสารคามมาบอกเล่าด้วยว่า ชีวิตเราควรหลับตาและเลือกได้ว่าพรุ่งนี้จะตื่นมาเป็นอะไร เลือกอาชีพได้ แต่ไม่ใช่ ยังไงคนก็ไม่เท่ากัน เพราะมายด์เซตของประเทศนี้บอกว่า

“คุณเกิดมาเป็นเพชรก็ได้ประดับคฑา แต่ถ้าเกิดเป็นก้อนกรวดก็ถูกถมเป็นทาง ไม่เท่ากัน”

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

“ถ้าชนชั้นนำได้ยิน นี่เป็นโอกาสสุดท้าย คือรับข้อเสนอแนะสวัสดิการ ใช้งบเพียง 1.3 ล้านบาทต่อปี เพื่อทำให้รัฐสวัสดิการเทียบเท่าประเทศแถบนอร์ดิก นี่ไม่ใช่เรื่องการกดเครื่องคิดเลขว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพียงแค่มีความคิดว่า คนเท่ากัน

“งบประมาณรายจ่ายสวัสดิการที่คนทั้งครอบครัวได้รับเพียง 20,000-30,000 หมื่นต่อปีเท่านั้น งบให้ข้าราชการคนหนึ่ง 14,000 บาท ค่าเฉลี่ย สูงเป็น 3 เท่าของคนธรรมดา สิ่งเหล่านี้อยู่แต่เงื่อนไขว่า เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้เท่านั้น ถ้าเราคิดว่าสามารถจ่ายเงินให้เด็กเรียนถ้วนหน้าได้ ใช้เพียง 4 แสนล้านบาทต่อปี ยกระดับประกันสังคมให้ถ้วนหน้า รัฐสมทบให้คนนอกระบบ

อ.ษัษฐรัมย์ย้ำว่า ทั่วโลกวันนี้ปลุกกระแสสังคมประชาธิปไตย คนหนุ่มสาวกำลังพูดภาษาเดียวกัน เราไม่ได้ต่อสู้รัฐสวัสดิการเพียงลำพัง ดังนั้น คนรุ่นใหม่ต้องสนทนากันว่าในอนาคตเราต้องการอะไร เพราะสุดท้ายก็จะเหมือนทุกครั้ง ที่อำนาจนิยมจะคุยกันเองและกำหนดชะตาชีวิตให้เรา

“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งคำถาม ถึงกลุ่มทุนที่สะสมความมั่งคั่ง

ผมเคยมีความฝันโรแมนติกว่าถ้าเราพูดสิ่งเหล่านี้ ชนชั้นนำจะฟัง และเปลี่ยนทัศนคติ แต่สุดท้ายพบว่าไม่มีเทวดาที่ไหน การต่อสู้มาจากคนข้างล่างทั้งสิ้น คือส่วนสำคัญที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเรา” อ.ษัษฐรัมย์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image