สสวท.รุกการศึกษาวิถีใหม่ สร้างเด็กฉลาดรู้-ครูคุณภาพสูง

สสวท.รุกการศึกษาวิถีใหม่ สร้างเด็กฉลาดรู้-ครูคุณภาพสูง

สสวท. – หลายคนคงรู้จัก สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้ง (Coding) ภายใต้นโยบายของ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แต่ความจริงแล้ว สสวท.ยังสร้างสรรค์นวัตกรรมในวงการศึกษาอีกหลายรูปแบบ อาทิ การพัฒนาแนวทางการเรียนรู้แบบสืบเสาะ และแบบบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ ริเริ่มวิชาการออกแบบ และเทคโนโลยี ขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ริเริ่มวิชาวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ ปรับหลักสูตร ICT สู่วิทยาการคำนวณ หรือโค้ดดิ้ง พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบฉบับภาษาไทย เป็นต้น

ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และสังคมโลก เข้าสู่วิถีใหม่ หรือนิว นอร์มอล (New Normal) การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย ต้องพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ซึ่ง สสวท.ตระหนัก และได้ดำเนินงานเพื่อรับมือสู่การศึกษาวิถีใหม่มาช่วงเวลาหนึ่ง โดยโครงการ และแผนงาน ที่ สสวท.จะขับเคลื่อนตามจุดเน้นของรัฐ และนโยบายของ ศธ.ในปีงบประมาณ 2564 เพื่อมุ่ง “สร้างเด็กฉลาดรู้ ครูคุณภาพสูง ยกระดับการศึกษาชาติไทย แข่งขันได้ด้วยฐานสมรรถนะ” และรองรับการศึกษาวิถีใหม่ ประกอบด้วย

ยกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วยการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ พัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง KOSEN ส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) เพิ่มศักยภาพครู ให้มีสมรรถนะของครูยุคใหม่สำหรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 พัฒนาศักยภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้ง วิจัย วัดผล และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ฯ ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ให้มีโรงเรียนดีทุกอำเภอ ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา ตามแนวทาง สสวท.ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ

Advertisement

มุ่งความเป็นเลิศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตกำลังคนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 โดยการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) บริหารการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (พสวท.) โอลิมปิกวิชาการ พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ฯ รวมทั้ง ให้ทุนสนับสนุนการศึกษานักเรียน นักศึกษา และครู

ขับเคลื่อนการศึกษาด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ พัฒนาและขยายบริการของศูนย์เรียนรู้ดิจิทัล ศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ และจัดทำวีดิทัศน์บทเรียนออนไลน์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกวิชา ทุกระดับชั้น

“ในช่วงที่ผ่านมา สสวท.ริเริ่มโครงการใหม่ และพัฒนาโครงการหลายรูปแบบ เพื่อกระจายโอกาสให้นักเรียนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ และขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ อย่างไม่หยุดนิ่ง รวมทั้ง โครงการอื่นๆ โดยดำเนินงานร่วมกับเครือข่าย และผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ซึ่งปีงบ 2564 จะเดินหน้าเต็มรูปแบบมากขึ้น” ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท.กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ โครงการเด่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น เช่น “โครงการ Project 14” วิจัย และพัฒนาระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ สื่อสนับสนุนการเรียนรู้ วีดิทัศน์บทเรียนออนไลน์ที่สอดคล้องกับหลักสูตร ครอบคลุมทุกระดับชั้น ทั้งรายวิชาพื้นฐาน และรายวิชาเพิ่มเติม

“การส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้ง” มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้งให้เป็นภาษาที่ 3 เพื่อเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ นำไปสู่ความสามารถในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง อย่างเป็นขั้นตอน และครบวงจร ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมปลาย โดยจะให้ครบทุกโรงเรียนทั่วประเทศภายในปีงบ 2564

“การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเชิงสมรรถนะที่วัดความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์” ปรับเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ “เน้นการวัดสมรรถนะ” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนา “ความฉลาดรู้” ในโรงเรียน ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

“การส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียนด้อยโอกาสทางการศึกษา” จัดทำสื่อเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ และยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมศึกษา สำหรับโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนในโครงการพระราชดำริ โรงเรียนพระปริยัติธรรม

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า จุดเด่นของสื่อ 65 พรรษา คือ การเรียนรู้แบบบูรณาการให้ความสำคัญกับ ศักยภาพ ความต้องการ และความแตกต่างของผู้เรียนที่สอดคล้องกับบริบท และชีวิต มีองค์ประกอบครบถ้วน ตั้งแต่จุดประสงค์การเรียนรู้ การออกแบบกิจกรรม การวัด และประเมินผลที่สะท้อนถึงความสำเร็จของผู้เรียน คู่มือครู เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระงานของครูผู้สอน และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอนวิทยาศาสตร์

ซึ่งการดำเนินงานในภาพรวมทั้งหมดของ สสวท.เป็นการเตรียมกำลังคนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image