‘ผญ.ปลดแอก’ เล่าเรื่อง ฟื้นอดีต ‘สตรีในขบวนการประชาธิปไตย’ หวังการเคลื่อนไหว ให้พื้นที่ ‘คนข้ามเพศ’

‘ผญ.ปลดแอก’ เล่าเรื่อง ฟื้นอดีต ‘สตรีในขบวนการประชาธิปไตย’ หวังการเคลื่อนไหว ให้พื้นที่ ‘คนข้ามเพศ’

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ จัดงานครบรอบ 44 ปี 6 ตุลา 19

เวลา 14.15 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกิจกรรม เล่าประสบการณ์ประกอบการแสดง ของผู้หญิงในขบวนการภาคประชาชน ตั้งแต่ 6 ตุลา 19 – 6 ตุลา 63 จำนวน 4 ชุด ในชื่อ “6 Oct For Her who disappeared แด่ผู้หญิงเหล่านั้นที่ไม่มีตัวตน” โดย กลุ่มผู้หญิงปลดแอก เนื้อหากล่าวถึงการต่อสู้ของผู้หญิงและกลุ่มแอลจีบีที หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องการประชาธิปไตย และสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งมองว่าทั้งสองสิ่งนี้เป็นเรื่องเดียวกัน

โดยการแสดงชุดแรก เริ่มด้วย “การลุกขึ้นของหญิงใช้แรงงาน” โดย “เล็ก” ตัวแทน กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน เล่าครั้งที่ นักศึกษาหญิง และกรรมกรหญิง ร่วมต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ชนชั้น และทุนนิยม

ตัวแทนกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน กล่าวว่า เราอยู่ในการเมืองของทหาร ยุคเปลี่ยนแปลงระบอบทหาร มาเป็นประชาธิปไตย แต่ตัวละครหลักยังคงมีอยู่ จนกล่าวได้ว่าเราอยู่ในยุคมืด ต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง

Advertisement

ในช่วง 6 ตุลา 19 ขบวนการสิทธิสตรี ก่อนถูกปราบ 6 ตุลา 19 คือการต่อสู้เชิงชนชั้น เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช้า 6 ตุลา 19 ตำรวจไทยในเครื่องแบบ พร้อมขบวนการ เข้ามาขยี้ ถือเป็นอาชญากรรมจากชนชั้นนำไทย จุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในระบอบรัฐสภา แต่มุ่งทำลายขบวนการสังคมนิยม ที่กำลังเติบโตทั่วประเทศ ซึ่งสำเร็จ เพราะเกิดการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา รวมถึงความทรงจำในประวัติศาสตร์ของไทยฝ่ายซ้ายด้วย ผลพวงเห็นได้ คือ การมีระบบรัฐสภาที่อ่อนแอ

“ต่อมา แนวคิดนี้ได้อยู่ในอุดมการณ์ หนุ่มสาวเป็นกองหน้า คัดค้านเผด็จการทหารเรื่อยมา อิทธิพล สังคมการเมืองขณะนั้น มีทั้งในและนอกสภา ท่ามกลางบรรยากาศประชาธิปไตย มีการก่อเกิดขบวนการมากมาย ที่สำคัญคือ ขบวนการสิทธิสตรี เคลื่อนไหวมาก่อนหน้า จากการมองเป็นสิ่ิงบำเรอ มีการต่อต้านการประกวดนางงาม ท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดกลุ่มผู้หญิงต่างๆ มุ่งสร้างสิทธิสตรีเท่าเทียมชาย มีการเผยแพร่งานเขียน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เรียกร้องให้สตรีท้ั้งหลายสามัคคีกัน ร่วมปลดแอกจากการกดขี่ทางเพศ เกิดกลุ่มสตรี 10 สถาบัน จากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหวเรื่องสตรี การต่อสู้ในบริบทที่แร้นแค้น” ตัวแทนกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน กล่าว

ตัวแทนกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน  กล่าวต่อว่า การต่อสู้ของกรรมกรหญิง มาบรรจบ ลุกขึ้นมาต่อสู้ โดยนัดหยุดงานในปลายปี 2516 ถึง 180 ครั้ง 300 ครั้ง เรื่อยมา จนถึงปี 19 อีก 133 ครั้ง ยุคนั้นมีการกดค่าแรง ขูดรีด แช่แข็งค่าจ้างเป็นเวลานาน เวลานั้นยิ่งโหดร้ายไม่มีสวัสดิการเลย จนมีการจัดงานวันกรรมกร ที่ ม.ธรรมศาสตร์ มีการต่อสู้ จนเกิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นนิมิตรหมายอันดี นำไปสู่การจัดตั้งสหภาพแรงานหลายกลุ่ม นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ประสานงานกรรมกรขึ้นมา คือความสำเร็จในกระบวนการประชาธิปไตย

Advertisement

“ยังมีการต่อสู้ในมุมเศรษฐกิจการเมืองด้วย ความแร้นแค้นนำไปสู่การเรียกร้องความเป็นธรรม มีการยึดโรงงานกรรมกร สะท้อนความกล้าหาญ หึกเหิม ของกรรมกรหญิง ที่ต้องการปลดแอกเพื่อความเท่าเทียม ซึ่งคือสิ่งหนึ่งที่นายทุนและชนชั้นนำยอมไม่ได้” ตัวแทนกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน  กล่าว

พัฒนาการสิทธิสตรีของกรรมกร ล่าสุด คือการทำแท้ง และหญิงท้องที่นายจ้างไม่ควรกลั่นแกล้ง
8 มีนาคม 2518 วันสตรีสากล คือผลงานสำคัญในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน จีรนันท์  พิตรปรีชา เขียน ‘โลกที่สี่’ สะท้อนฐานะต่ำต้อยของสตรีในสังคม กระตื่นให้ตื่นตัวจาการถูกกระทำ คำขวัญสำคัญคือ “สตรี เสมอภาค สร้างสรรค์”

“ต่อมามีการพยายามรวบอำนาจ เป็น ทุนนิยมโดยรัฐ  หรือ การพัฒนาทุนนิยมโดยชนชั้นนำอาศัยรัฐ จำกัดเสรีภาพการแสดงออกในที่ทำงาน มีการละเมิดทางเพศในที่ทำงานมากมาย แต่แล้ว เมื่อมาถึง 6 ตุลา ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรม  อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น เขียนบันทึก ว่า ตำรวจไทยโดยรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช พร้อม ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง ยิงไม่ไว้หน้า ตายหลายร้อยคน คือชัยชนะของฝ่ายขวา และครอบงำในรุ่นต่อมา และเราจะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในวันนี้” ตัวแทนกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน กล่าว

จากนั้นเป็นการแสดงเรื่องที่ 2 “การต่อสู้ผู้หญิงหลังการสลายเสื้อแดง” โดย อร ผู้หญิงที่ตกอยู่ในข้อหาครอบครองอาวุธสงครามและพยานยามฆ่าเจ้าหน้าที่ทหาร

อร กล่าวว่า ตนคือหนึ่งในผู้ต้องหาชายชุดดำ ถูกกล่าวหาว่าเอาอาวุธสงครามไปยิงทหาร ซึ่งทุกคนฟังแล้วคงสงสัย ว่าป้าคนนี้จะเอาอาวุธปืนทหารจริงๆ หรือ ใช่ ทุกคนคิดถูก คิดได้ แต่ทหารอย่างประยุทธ์คิดไม่ได้ ตนเคยผ่านการรัฐประหารหลายครั้ง ครั้งแรก ปี 35 ตอนนั้นอายุ 18 ปี จนมา ปี49 ต่อเนื่องถึงปี 51 ที่ทำให้ทนไม่ได้ คือการอยู่เหนือกฎหมายของกลุ่มพันธมิตร ที่ยึดทำเนียบและสนามบิน ทำให้ประเทศเสียหายหลายแสนล้าน แต่ผู้รักษากฎหมายไม่มีใครสามารถทำอะไรมาอภินิหารนั้นได้เลย คิดว่าถ้าวันหนึ่ง ลูกหลานเรา บังเอิญเดินไปเหยียบเท้าโดยไม่ตั้งใจ ก็คงโดนยิงตายฟรี โดยที่ไม่สามารถเอาผิดใครได้ เพราะอยู่เหนือกฎหมาย มีทางเดียวที่เราจะต่อกรได้ คือเราทุกคนต้องออกมารวมตัว สู้กับอำนาจนั้น เพื่อให้รู้ว่า พวกเราไม่ยอม

อร กล่าวต่อว่า ดิฉันไม่อาจนิ่งเฉย จึงร่วมต่อสู้กับพี่น้องที่รักประชาธิปไตย ไปร่วมชุมนุม แจกข้าว เป็นการ์ด ร่วมต้อสู้ทุกเวที หลังรัฐประหารปี 57 ถูกทหารจับ บังคับให้เป็นพยานเอาผิดแกนนำเสื้อแดง ที่ร่วมเป็นการ์ดมาด้วยกัน เพื่อแลกกับการที่ดิฉันไม่ต้องติดคุก แต่ฉันไม่ยอมเป็นพยาน จึงโดนข้อหา ร่วมกันครอบครอง และใช้อาวุธสงคราม พยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ทหาร สั่งให้รับสารภาพ โทษหนักจะได้เป็นเบา ถูกจำคุก ทั้งที่เป็นแค่ผู้ต้องสงสัย ประกันตัวไม่ได้ กว่าจะได้ประกันตัว ต้องติดคุก 3 ปี นี่คือพิษอำนาจเผด็จการ ที่จับไปขังโดยไร้หลักฐาณ สู้คดีตั้งแต่ปี 57 เพิ่งยกฟ้อง ปี 63 นี้เอง

“ถ้าวันนั้นถอดใจเพราะถูกบังคับข่มขู่ กักขังมานาน ก็คงไม่มีโอกาสได้มายืนอยู่ตรงนี้ ดีใจที่ได้เห็นลูกหลานออกมาต่อสู้ ดีใจที่ลูกหลานไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการ ขอให้ทุกคนสู้ อย่าได้ถอดใจ การต่อสู้ต้อฃมีการเสียสละ นักรบย่อมมีบาดแผล” อร กล่าว

จากนั้นเป็นการแสดงละครเรื่องที่ 3 “นักสู้เพื่อความเท่าเทียม” โดย แคร์ บุตรสาวของ อร ผู้ที่ตกอยู่ในข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม

แคร์ กล่าวว่า เรื่องที่เผชิญมา ที่เด็กคนหนึ่งไม่คาดคิด ลูกของนักสู้ เราคือนักสู้ และเราเป็นลูกหลานของนักสู้
ตั้งแต่เด็กจนโต พบปัญหาหลายอย่าง แต่ความเจ็บปวดที่จดจำ คือวันที่เห็นแม่อยู่หลังลูกกรง ด้วยใบหน้าร่างกายที่ซูบผอม ด้วยความเครียดและความเศร้า จึงเฝ้าถามว่าแม่ผิดอะไร มันเป็นสิทธิของเราที่ต้องสู้

“วันที่เรานอนหลับกับครอบครัว ตื่นมาอีกวันเราไม่มีแม่อยู่แล้ว ซึ่งเราไม่ใช่ครอบครัวเดียว ยังมีอีกหลายครอบครัว วันนี้แคร์ได้แม่กลับมา หลายครอบครัวไม่มีร่าง ไม่เห็นแม้แต่เงา แต่หนทางต่อสู้เราไม่หยุด จะเดินต่อไปตราบใดที่หัวใจยังไม่ตาย จะเป็นพลังต่อไป” แคร์กล่าว ก่อนจะร้องเพลง do you hear the people sing เวอร์ชั่นภาษาไทย

ต่อมา คือการแสดงเรื่องที่ 4 “การเหยียดเพศในม็อบ ปี 63” โดย พริม ตัวแทนผู้หญิงปลดแอก เนื้อหาพูดถึงการจัดชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนถึงเนื้อหาในเวทีที่เหยียดเพศ

พริม กล่าวว่า ความกดขี่แพร่กระจายทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเพศ ที่ทุกเพศก็ต่างต้องใช้ชีวิตในสถานการณ์เดียวกันมาโดยตลอด แต่บางครั้งคำพูดที่ออกจากปากของผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งที่เรียกร้องความเท่าเทียม กลับปรามาส สบประมาท ว่าสตรี ไม่เคยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถ้าเราจะเรียกร้องประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทุกเพศต้องมาด้วย กระทั่งในปีนี้ที่เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังแตกหน่อ อันส่งผลให้ผู้หญิงและเพศที่หลากหลายกลายเป็นผู้ขับเคลื่อน แต่การคุกคามเรื่องเพศยังคงเกิดซ้ำ

“ในที่ชุมนุมผู้หญิงถูกคุกคามด้วยสายตา กระทั่งการสัมผัส และการด่าทอในโซเชียล บอกว่ากำลังโจมตีผิดจุดผิดประเด็น ส่วนบนเวทีปราศรัย ถูกยกประกอบในนิทานอย่างเหมารวม เราขอความเคารพจากทุกคนในฐานะที่เท่าเทียม ในการต่อสู้ครั้งต่อๆไป ไม่ว่าบนถนน หรือในออนไลน์” พริมกล่าว

จากนั้นเป็นการอ่านแถลงการณ์ ของกลุ่มผู้หญิงปลดแอก เนื้อหา พูดถึงการต่อสู้ในประวัติศาสตร์ ที่มองว่าผู้หญิงไม่มีตัวตน สะท้อนว่าที่ผ่านมามีผู้หญิงจำนวนมากถูกลบลืมซึ่งต่าฃล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำพาสังคมมาสู่จุดนี้ นอกจากเลือนหายแล้ว ยังถูกคุกคามด้วยอคติและความคาดหวัง คณะผู้หญิงปลดแอก จึงขอผลักดันทุกการเคลื่อนไหว ให้พื้นที่ผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศ

จากนั้น นักแสดงขึ้นเวที โดย ผู้ชมต่างปรบมือ และยืนแสดงความเคารพต่อผู้ที่จากไปในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และ ผู้หญิงที่ถุกคุกคามทางเพศ เป็นเวลา 30 วินาที ก่อนจะปิดท้ายด้วยเพลง ฮัลโหล จากวง เมจอร์ อาควาน่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image